xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กเทคแห่ลงสนามอีวีอัจฉริยะ อนาคตโลกยานยนต์ในกำมือจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


มุมหนึ่งในมหกรรมยานยนต์เซี่ยงไฮ้ประจำปี 2021
บิ๊กเทคจีน ทั้งหัวเว่ย เสี่ยวหมี่ อาลีบาบา และดีเจไอ ดาหน้าลงสนามรบดิจิตอลใหม่ในตลาดยานยนต์ และด้วยขุมทุนและคลังข้อมูลในมือ คาดว่ายักษ์ใหญ่เหล่านี้จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของอีวีอัจฉริยะและรถอัตโนมัติให้แจ้งเกิดเร็วขึ้น อีกทั้งยังอาจกลายเป็นผู้กำหนดอนาคตของโลกยานยนต์

ช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ สมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่ ทั้งหัวเว่ยและเสี่ยวหมี่ ผู้นำอี-คอมเมิร์ซอย่างอาลีบาบา หรือกระทั่งดีเจไอ ผู้ผลิตโดรนชั้นนำของโลก ต่างพร้อมใจกระโจนลงสนามยานยนต์แห่งอนาคต

วิลเลียม หลี่ ผู้ก่อตั้ง ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) นีโอ บริษัทรถไฟฟ้า (อีวี) ของจีน ให้สัมภาษณ์ก่อนเซี่ยงไฮ้ ออโต้โชว์รูดม่านเปิดงานไม่นานว่า การแข่งขันจากผู้เล่นเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมนวัตกรรม

มหกรรมยานยนต์สำคัญงานแรกของปีนี้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมตั้งแต่วันพุธ (21) และเป็นที่จับจ้องของอุตสาหกรรมรถทั่วโลกด้วยความคาดหวังว่า จีนในฐานะตลาดอีวีใหญ่ที่สุดและโตเร็วที่สุดในโลก จะเป็นผู้ชี้นำทิศทางอนาคตหลังวิกฤตโรคระบาด

แม้ยอดขายรถในจีนปีที่แล้วแผ่วลง 2% อยู่ที่ 25.1 ล้านคัน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของยอดขายทั่วโลก แต่ตลาดรถแดนมังกรกำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากกระแสอีวีฟีเวอร์

และแม้มีสัดส่วนเพียง 9% ของยอดขายรถทั้งหมดในเดือนมีนาคม แต่รัฐบาลจีนคาดหวังให้ตัวเลขยอดขายรถพลังงานใหม่ที่รวมเทคโนโลยีการขับขี่ล้ำสมัยที่สุดไว้ด้วยเพิ่มขึ้นเป็น 25% ของยอดขายรถทั้งหมดภายในปี 2025

ยักษ์สมาร์ทโฟนแปลงร่าง
เสี่ยวหมี่ที่ไต่เต้าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสมาร์ทโฟนใหญ่สุดของโลกอย่างรวดเร็ว มีแผนลงทุน 10,000 ล้านดอลลาร์ในทศวรรษหน้าเพื่อผลิตอีวีอัจฉริยะ

ต้นเดือนนี้ เล่ย จุน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอเสี่ยวหมี่ ไลฟ์สดบนตู้หยินแจงแผนการคร่าวๆ เกี่ยวกับรถรุ่นแรกของบริษัทที่ต้องใช้เวลาพัฒนาอย่างน้อย 3 ปีว่า อาจเป็นซีดานหรือเอสยูวีราคาระหว่าง 15,300 – 45,900 ดอลลาร์ ซึ่งหลี่ เหลียนเฟิง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของบริษัทข่าวกรองการตลาด ไอดีซี ระบุว่า เป็นราคาที่เป็นมิตรต่อสาวกอีวีอย่างยิ่ง

ส่วนหัวเว่ยจะลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ในการวิจัยเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติและอีวี เพื่อเร่งรัดแผนทำศึกกับเทสลาและเสี่ยวหมี่

อิริก สีว์ ประธานกรรมการวาระปัจจุบันของหัวเว่ย เปิดเผยกับนักวิเคราะห์เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้วว่า เทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติบางอย่างของบริษัทล้ำหน้าเทสลาไปแล้ว เช่น รถที่สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้กว่า 1,000 กิโลเมตรโดยไม่ต้องพึ่งคนขับ

เขายังบอกว่า หัวเว่ยจะร่วมมือกับค่ายรถท้องถิ่น 3 แห่ง ได้แก่ BAIC Group, ฉงชิ่ง ฉางอาน ออโตโมบิล และกวางโจว ออโตโมบิล กรุ๊ป ผลิตรถไร้คนขับที่ใช้ชื่อแบรนด์หัวเว่ย

สีว์เสริมว่า หัวเว่ยจะลงทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ในการพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ โดยมองแง่บวกว่า จีนมียอดผลิตรถเพิ่มขึ้นปีละ 30 ล้านคันโดยประมาณและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น แค่หัวเว่ยจับตลาดในประเทศและทำรายได้จากรถแต่ละคันเฉลี่ย 1,500 ดอลลาร์ก็ถือว่ามากโขแล้ว

ปัจจุบัน ฟีเจอร์ข้อมูลและความบันเทิงของหัวเว่ยได้รับการติดตั้งในซีดานของเมอร์เซเดส-เบนซ์ และบริษัทกำลังร่วมกับ BAIC BluePark New Energy Technology พัฒนาระบบรถอัจฉริยะ โดยมีการเผยโฉมรถรุ่นแรกภายใต้การเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตอีวีจีนแห่งนี้คือ Arcfox αS HBT ในงานมอเตอร์โชว์ที่เซี่ยงไฮ้ขณะนี้

ด้าน AutoX บริษัทรถอัตโนมัติของอาลีบาบา ร่วมกับฮอนด้าของญี่ปุ่น เร่งรัดการทดสอบรถไร้คนขับบนถนนจีน

ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ (19) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ไป่ตู้ เผยว่า จะติดตั้งระบบนำทางอัตโนมัติ “อะพอลโล” ของบริษัทในรถ 1 ล้านคันในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า

เฉิน หยูเฉิง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของบริษัทวิเคราะห์การจัดซื้อ เซี่ยงไฮ้ ออโตดาตาส์ ชี้ว่า หัวเว่ยตระหนักถึงข้อจำกัดในตลาดจึงรุกสู่เส้นทางใหม่ และด้วยความได้เปรียบที่มีอยู่ ซึ่งรวมถึงการผสานซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เข้าด้วยกัน จะช่วยส่งเสริมการพัฒนารถอัจฉริยะและรถอัตโนมัติให้คืบหน้าเร็วขึ้นหลายเท่า

อันตวน บาร์เตส กรรมการผู้จัดการบริษัทร่วมทุน ตงเฟิง นิสสัน มองแง่ดีว่า ความเคลื่อนไหวเหล่านี้บ่งชี้ว่า บริษัทเทคโนโลยีมองเห็นอนาคตอันสดใสและอาจกลายเป็นผู้กำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์
เทสลาตัวชง

แม้การขับขี่อัตโนมัติยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบเป็นส่วนใหญ่ แต่จีนถูกคาดหวังว่า จะมีบทบาทนำในด้านนี้จากการส่งเสริมของรัฐบาล โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย และการเริ่มปรับใช้เครือข่าย 5จีที่จำเป็นก่อนใคร

หลี่ นายใหญ่นีโอ ชี้ว่า มหกรรมรถยนต์เซี่ยงไฮ้เป็นประจักษ์พยานชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่า ตลาดรถจีนเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเพียงใด เพราะเมื่อ 4 ปีที่แล้วยังมีแต่รถเครื่องยนต์สันดาปภายในมาโชว์เป็นส่วนใหญ่ แต่ปีนี้ทุกบูธในฮอลล์ล้วนแล้วแต่เป็นอีวีและรถพลังงานใหม่

แรงกระตุ้นล่าสุดคือเทสลา โดยย้อนกลับไปในปี 2019 บริษัทอีวีของอีลอน มัสก์ ได้สร้างโรงงานแห่งที่ 3 ในเซี่ยงไฮ้ และขายรถที่ผลิต 1 ใน 4 ในตลาดจีน

เทสลาที่เป็นแบรนด์อีวีขายดีที่สุดทั้งในจีนและทั่วโลก เป็นผู้จุดประกายในตลาดแดนมังกรและกลายเป็นมาตรฐานให้คู่แข่งมากมายเจริญรอยตาม

อย่างไรก็ดี ผู้เล่นหน้าใหม่ต้องเผชิญความท้าทายหลายอย่าง เช่น การขาดโนว์ฮาวในการผลิตที่บีบให้ต้องหาค่ายรถมาเป็นพันธมิตรผลิตตัวถัง ส่วนตัวเองจัดหา “สมอง” ให้รถ แทนที่จะทำตามพิมพ์เขียวของเทสลาคือคิดค้นพัฒนาและผลิตเอง

อุปสรรคอีกประการคือการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกที่ส่งผลอย่างจังต่ออุตสาหกรรมรถ

ขณะเดียวกัน หลี่หง ซิ่น ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานนีโอ มองว่า การแข่งขันที่ร้อนแรงในบ้านเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สตาร์ทอัพอีวีจีนต้องขยับขยายไปบุกตลาดนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากบรรดาบริษัทไฮเทคอย่างหัวเว่ย กระโจนลงสนามด้วย

ทางด้านถู เล่อ ผู้ก่อตั้งซิโน ออโต้ อินไซต์ บริษัทที่ปรึกษาในปักกิ่ง เห็นด้วยว่า สตาร์ทอัพอีวีจีนส่วนใหญ่ต่างมีเป้าหมายบุกตลาดโลกทั้งนั้น สาเหตุหนึ่งเนื่องจากการแข่งขันที่ร้อนแรงในบ้าน โดยบริษัทที่ทำวิจัยตลาดเป้าหมายดีพอมีโอกาสมากที่จะประสบความสำเร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น