xs
xsm
sm
md
lg

ผู้แข็งแกร่งอยู่รอด! ท่ามกลางโควิด-19 ส่อง 5 ตระกูลใหญ่ขยับคุมธุรกิจอสังหาฯ ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เป็นที่หมายปองหรือจับตามองของบริษัท หรือนักลงทุนที่มีเงินหรือรายได้ต่อเนื่องจากธุรกิจอื่นๆ เพราะนอกจากจะสามารถสร้างรายได้ทั้งแบบระยะสั้น เช่น โครงการที่อยู่อาศัยแบบขายทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรร รวมไปถึงการซื้อ-ขายที่ดิน ยังสร้างรายได้แบบระยะยาว เช่น โรงแรม อาคารสำนักงาน ค้าปลีก เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์

ซึ่งแบบระยะยาวนี้ เป็นการสร้างโครงการขึ้นมาเพื่อเก็บรายได้ระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการสร้างหรือสะสมอสังหาริมทรัพย์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่บริษัทได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีช่องทางในการขายอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ออกไป เพื่อระดมทุนหรือนำเงินทุนที่ลงทุนก่อสร้างไว้กลับมาได้ โดยการขายเข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust : REIT) หรือที่เรียกกันติดปากว่า “กองรีท” ซึ่งเป็นรูปแบบการขายออกทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการหรือบริษัทจำนวนมากนิยมใช้กันในปัจจุบัน เริ่มเห็นร่องรอยกลุ่มทุนใหญ่จากธุรกิจอื่น

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ช่วงก่อนปี 2540 ซึ่งอาจจะมีบางรายที่ชะลอธุรกิจด้านนี้ไป เพราะพิษเศรษฐกิจในช่วงหลังจากปี 2540 แต่บางรายก็อาศัยจังหวะที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเข้ามากว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ แล้วต่อยอดพัฒนาขึ้นมาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เพราะพวกเขามีเงินสดที่ได้จากการขายสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันซึ่งสร้างรายได้มหาศาลแบบรายวัน บริษัทขนาดใหญ่ที่ทุกคนรับรู้ว่าเป็นของตระกูลหรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งซึ่งมีธุรกิจครอบคลุมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันมีไม่มากนัก ได้แก่


1.กลุ่มซีพี (เครือเจริญโภคภัณฑ์) หรือตระกูลเจียรวนนท์

บริษัทขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่มครอบคลุมทั้งประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก อีกทั้งมีที่ดินเพื่อการเกษตรอีกมากมายทั่วประเทศไทย มีส่วนที่เกี่ยวข้องธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มานานแล้ว มีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั้งบ้านจัดสรร และโครงการคอนโดมิเนียมมายาวนาน เพียงแต่มีการรับรู้ในวงไม่กว้างนัก กลุ่มซีพีใช้บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน)

ซึ่งเป็นบริษัทในเครือในการพัฒนาโครงการประเภทนี้ รวมไปถึงอาคารสำนักงานที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดทั้งหมด นอกจากนี้ กลุ่มซีพียังมีโรงแรม ธุรกิจค้าปลีก นิคมอุตสาหกรรม ศูนย์ประชุม ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในด้านอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มซีพีจะเน้นโครงการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีกเพราะพวกเขาเป็นต้นทางในการผลิตสินค้าบริโภคขนาดใหญ่ของประเทศไทย การมีธุรกิจค้าปลีกทุกประเภทเป็นของตนเองจึงเป็นการมีแหล่งกระจายสินค้าเข้าถึงกลุ่มคนซื้อได้แบบครอบคลุมมากที่สุด กลุ่มซีพียังมีที่ดินที่ไม่ได้พัฒนาหรือเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรจำนวนมาก

การที่ กลุ่มซีพี ได้สัมปทานการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเท่ากับที่ดินในมือพวกเขาอีกจำนวนมากกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ยังไม่รวมโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นบนที่ดินที่พวกเขาได้สิทธิในการพัฒนาอย่างที่ดินมักกะสัน นอกจาก ซี.พี.แลนด์ แล้ว กลุ่มซีพี ยังมีบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น หรือ MQDC แม้ไม่ได้อยู่ในฐานะบริษัทในเครือหรือบริษัทลูกของกลุ่มซีพี แต่การที่ผู้บริหารสูงสุดหรือเจ้าของบริษัทนั้นเป็นคนในตระกูลเดียวกันกับกลุ่มซีพีจึงถูกมองว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่ได้

โดยโครงการ MQDC ที่กำลังดำเนินการ และเป็นโครงการอสังหาฯ ใหญ่สุดของประเทศไทย ได้แก่ โครงการ “เดอะ ฟอเรสเทียส์” จาก MQDC เป็น Mixed-Use ขนาดใหญ่บนพื้นที่ 398 ไร่ ทำเลบนถนนบางนา-ตราด กม.7 มูลค่าโครงการสูงถึง 1.25 แสนล้านบาท ประกอบไปด้วย โครงการที่พักอาศัยทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และขนาดของครอบครัวที่แตกต่างกัน พื้นที่สำนักงาน สปอร์ตคอมเพล็กซ์ กิจกรรมไลฟ์สไตล์ ร้านค้าปลีก ร้านอาหารและเครื่องดื่ม พื้นที่สำหรับกิจกรรมสร้างสรรค์ของครอบครัว และพื้นที่กิจกรรมชุมชนและกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ โรงละคร อีเวนต์ฮอลล์ ตลาด โดยหนึ่งในไฮไลต์โครงการมีผืนป่า 30 ไร่ อยู่ในโครงการ

ทั้งนี้ ทางโครงการ “เดอะ ฟอเรสเทียส์” เตรียมเปิด “ฟอเรสต์ พาวิลเลียน” อาคารศูนย์การเรียนรู้สุดอลังการทุ่มเงินลงทุน 1,400 ล้านบาท เพื่อจัดแสดงห้องตัวอย่าง วิสัยทัศน์ และแนวคิดสำคัญในการพัฒนาโครงการผ่าน Immersive Experience ล้ำสมัย ออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ experience ระดับโลก โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 8 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป พร้อมมอบราคาพิเศษช่วงเปิดโครงการถึง 15 พฤษภาคมนี้


2.กลุ่มทีซีซี (ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น) หรือตระกูลสิริวัฒนภักดี

บริษัทขนาดใหญ่ที่มีกิจการครอบคุลมเครื่องดื่มทั้งแบบมีและไม่มีแอลกอฮอล์ขนาดใหญ่ของประเทศไทยและในอาเซียน กลุ่มนี้คนอาจจะติดภาพลักษณ์ว่าเป็นบริษัทที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่จริงๆ แล้วกลุ่มทีซีซีมีกิจการหลายอย่างที่ครอบคลุมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค

แต่สินค้าที่มีแอลกอฮอล์เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นแห่งความยิ่งใหญ่ของพวกเขา กลุ่มทีซีซีได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการควบรวมกิจการ เทกโอเวอร์บริษัท หรือกว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งซื้ออสังหาริมทรัพย์มีให้เห็นมาตั้งนานแล้ว โดยเฉพาะหลังจากปี 2540 เป็นต้นมา โครงการที่กลุ่มทีซีซีซื้อเข้ามานั้นมีทั้งที่ดินเปล่า อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และโรงแรม กลุ่มทีซีซีเป็นอีกกลุ่มบริษัทที่มีที่ดินเปล่าในครอบครองมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย

โดยมีที่ดินขนาดใหญ่ที่รอการพัฒนาอีกหลายแปลงทั้งที่เกษตร-นวมินทร์ และชะอำ การเข้ามาในธุรกิจอสังหาฯ ของกลุ่มทีซีซีเกิดขึ้นแบบชัดเจน หลังจากที่พวกเขามีทั้งโรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และมีการพัฒนาโครงการศูนย์การค้าของตนเอง รวมไปถึงโครงการคอนโดมิเนียมที่เกิดจากการร่วมทุนกับกลุมแคปปิตอลแลนด์จากสิงคโปร์ กลุ่มทีซีซีเข้ามายืนในธุรกิจอสังหาฯ แบบเต็มตัวมากขึ้นหลังจากที่พวกเขาเข้าเทกโอเวอร์บริษัท แผ่นดินทองพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) แกรนด์ ยูนิตี ดีเวลลอปเมนท์ และบริษัทต่างประเทศอย่าง เฟรเซอร์แอนด์นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น)

ซึ่งนอกจากจะมีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแล้ว กลุ่มเฟรเซอร์ ยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็น 1 ในธุรกิจสำคัญของพวกเขา ทำให้กลุ่มทีซีซีมีอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ และเริ่มพัฒนาโครงการขนาดใหญ่อย่างวันแบงค็อก ล่าสุด กลุ่มทีซีซีก่อตั้งบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) ขึ้นมาเพื่อบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์บางส่วนในกลุ่มทีซีซี ซึ่งมีทั้งโรงแรม อาคารสำนักงาน ค้าปลีก และเป็นบริษัทที่น่าจับตามองในอนาคต เพราะเชื่อว่าจะมีการถ่ายโอนอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มทีซีซีเข้ามาที่บริษัทนี้มากขึ้น อีกทั้งยังจะมีการซื้ออสังหาริมทรัพย์เข้ามาในครอบครองต่อเนื่องแน่นอน เพราะมีงบประมาณพร้อมอยู่แล้ว


3.กลุ่มเซ็นทรัล หรือตระกูลจิราธิวัฒน์

ธุรกิจค้าปลีก ในประเทศไทยตระกูลจิราธิวัฒน์น่าจะเป็นตระกูลใหญ่ที่สุดในธุรกิจนี้ กลุ่มเซ็นทรัลเริ่มต้นกิจการของตนเองจากธุรกิจค้าปลีกซึ่งมีทั้งห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้า ก่อนที่จะต่อยอดไปยังอาคารสำนักงานในกรุงเทพมหานคร และโรงแรมทั่วประเทศ

ก่อนที่จะขยายไปซื้อห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และโรงแรมรวมไปถึงการเข้าไปร่วมทุนเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เริ่มขยับเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยแบบชัดเจนในปี 2559 หลังจากที่เปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมในจังหวัดเชียงใหม่ ระยอง และขอนแก่น อีกในไตรมาสที่ 1 จากนั้นมีอีกหลายโครงการคอนโดมิเนียมในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย โดยโครงการคอนโดมิเนียมของกลุ่มเซ็นทรัลจะอยู่ในทำเลรอบๆ ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าของเครือเซ็นทรัล

จากนั้นกลุ่มเซ็นทรัลมีการเปิดขายโครงการบ้านจัดสรรโดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “นิยาม” และ ”นินญา” ซึ่งทั้งโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมพัฒนาโดยบริษัท ซีพีเอ็น เรสซิเดนซ์ จำกัด ซึ่งปัจจุบันมีโครงการครอบคลุมในหลายทำเลทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด การก้าวเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกก้าวสำคัญของกลุ่มเซ็นทรัลคือ การเข้าเทกโอเวอร์บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มจีแลนด์ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลได้โครงการอสังหาริมทรัพย์ และที่ดินของกลุ่มจีแลนด์เข้ามาในกลุ่มอีกหลายโครงการ ทั้งโครงการอาคารสำนักงาน บ้านจัดสรร และที่ดินเปล่า

ซึ่งที่ดินเปล่าที่กลุ่มเซ็นทรัลได้มานั้นทำให้ได้รับการจับตามองมาก เนื่องจากเป็นที่ขนาดใหญ่ตรงสี่แยกถนนพระราม 9 ตัดกับถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเคยเป็นของกลุ่มจีแลนด์ แม้ว่าจะพัฒนาไปแล้วแต่ด้วยที่ขนาดใหญ่กว่า 70 ไร่ ทำให้ยังมีที่ดินเหลือรอการพัฒนาอีกในอนาคต และที่ดินขนาด 48 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างแยกรัชโยธินและห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลได้มาจากการเทกโอเวอร์จีแลนด์ และการซื้อหุ้นอีก 50% ในบริษัท เบย์วอเตอร์ จำกัด จากบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ทำให้เซ็นทรัลได้ที่ดินทั้งแปลงมาเป็นกรรมสิทธิ์

และในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางกลุ่มเซ็นทรัลยังคงเดินหน้าลงทุนในทำเลศักยภพา โดยในปี 2564 บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าเปิดโครงการตามแผนที่วางไว้ 3 โครงการ รวมมูลค่าโครงการกว่า 13,900 ล้านบาท ได้แก่

เซ็นทรัล อยุธยา มูลค่า 6,200 ล้านบาท
เซ็นทรัล ศรีราชา มูลค่า 4,200 ล้านบาท
และเซ็นทรัล จันทบุรี มูลค่า 3,500 ล้านบาท

ซึ่งการเปิดโครงการทั้ง 3 แห่ง (มิกซ์ยูส) จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นและส่งเสริมศักยภาพจังหวัดที่ไปลงทุน และคาดว่าจะมีอัตราการจ้างงานให้แก่คนในท้องถิ่นกว่า 1 หมื่นคน โดยทั้ง 3 จังหวัดที่เซ็นทรัลพัฒนาเปิดโครงการ ถือเป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่ที่มีโอกาสการเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะกำลังซื้อในเมืองท่องเที่ยวและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี


4.กลุ่มสิงห์ หรือตระกูลภิรมย์ภักดี

บริษัทที่มีรายได้หลัก จากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และน้ำดื่มรายใหญ่ของประเทศไทย ก่อนที่จะขยายธุรกิจออกมาครอบคลุมธุรกิจอื่นๆ มากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีธุรกิจอสังหาฯ แบบชัดเจน เป็นเพียงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของบริษัทเท่านั้น ทั้งการเข้าซื้อกิจการโรงงานต่างๆ ก็เป็นการต่อยอดจากธุรกิจที่มีอยู่ทั้งสิ้นการเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มสิงห์สามารถเห็นได้ชัดเจนเมื่อพวกเขาเข้าเทกโอเวอร์บริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในปี 2557 จากนั้นเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน)

และหลังจากนั้น กลุ่มสิงห์ ก็เริ่มพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ชื่อ บริษัท สิงห์เอสเตท จำกัด (มหาชน) ออกมาต่อเนื่อง รวมไปถึงโครงการที่ได้จากการเทกโอเวอร์รสาบางส่วน โดยโครงการที่เกิดขึ้นหลังจากนี้มีทั้งโครงการคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า (ขนาดเล็ก) นอกจากนี้ยังเข้าเทกโอเวอร์หรือเข้าซื้อกิจการอีกหลายแห่งต่อเนื่องกัน ซึ่งมีผลให้พวกเขาเป็นเจ้าของอาคารสำนักงานเพิ่มเติม และยังมีการพัฒนาโครงการอาคารสำนักงานใหม่ของพวกเขาเองอีกด้วย ในส่วนของโครงการที่อยู่อาศัยก็มีการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมออกมาต่อเนื่องทั้งในระดับราคาแพง และระดับกลาง รวมไปถึงโครงการบ้านจัดสรรราคาแพงในกรุงเทพมหานครอีกด้วย

การเข้าซื้อกิจการโรงแรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เป็นอีก 1 รูปแบบธุรกิจที่พวกเขาดำเนินการต่อเนื่อง หลังจากที่เริ่มดำเนินกิจการ โดยในตอนนี้พวกเขามีโรงแรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศรวมทั้งหมด 39 แห่ง ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) กลุ่มสิงห์อาจจะเป็นกลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนค่อนข้างชัดเจนในธุรกิจโรงแรม คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน อีกทั้งยังมีทิศทางในอนาคตที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะขยายการลงทุนเพิ่มต่อไป

โดยความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ สิงห์ เอสเตทฯ ได้ปรับทัพธุรกิจครั้งใหญ่ โดยมี คีย์แมน “ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์” มาขับเคลื่อนองค์กรไปสู่หมายสำคัญ ซึ่งการลงทุนในรูปแบบใหม่ของบริษัทสิงห์ จะเบนเข็มไปสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพ ได้แก่ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ธุรกิจให้บริการด้านวิศวกรรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ตามเป้าหมายหมาย สิงห์ เอสเตท มั่นใจที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว จากรายได้ตัวเลข 6,500 ล้านบาทในปี 2563 มุ่งสู่เป้ารายได้ 20,000 ล้านบาท/ปี ภายในระยะเวลา 3 ปี (2564-2566)

ล่าสุด บริษัทสิงห์ เอสเตทฯ ได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการเข้าซื้อหุ้นสามัญ 30% ในโรงงานผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม (cogeneration power plant) ขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกัน 400 เมกะวัตต์ โดยเป็นสิทธิซื้อที่ราคาพาร์ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,392 ล้านบาท


5.กลุ่มบีทีเอส หรือตระกูลกาญจนพาสน์

บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ คีรี กาญจนพาสน์ เป็นบริษัทที่เป็นผู้ได้รับสัมปทานเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางรถไฟฟ้าเส้นทางแรกของประเทศไทย ก่อนหน้านี้พวกเขาใช้ชื่อว่า บริษัท ธนายง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาโครงการธนาซิตี้ โครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่บนถนนบางนา-ตราด ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ในปี 2553 บริษัทนี้มี 4 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจบริการ และธุรกิจพัฒนาและลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ

ในส่วนธุรกิจพัฒนาและลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ ดำเนินการโดย บริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งก่อนหน้านี้คือ บริษัท แนเชอรัลพาร์ค จำกัด (มหาชน) ซึ่งเข้ามาอยู่ภายใต้กลุ่มบีทีเอสในปี 2558 และมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหารและพัฒนาของยูซิตี้หลายโครงการ ทั้งโครงการโรงแรมในประเทศไทยและต่างประเทศ อาคารสำนักงานที่เปิดให้บริการมานานแล้ว และที่กำลังก่อสร้างใหม่ รวมไปถึงโครงการที่อยู่อาศัยที่กลุ่มบีทีเอส โดยบริษัท ยูซิตี้ ที่ก่อนหน้านี้ เข้าไปร่วมทุนพัฒนากับ บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) (แต่ในปัจจุบัน โครงการร่วมทุนพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมกับแสนสิริหยุดลง ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ และสภาพตลาดคอนโดฯที่ยังอยู่ล้นตลาด) 

นอกจากนี้ บีทีเอสยังเข้าซื้อหุ้นบางส่วนในบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อต่อยอดพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ร่วมกันแถวบางนา-ตราด บริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมทุนในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมร่วมกับ บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 9.30%) จำนวน 4 โครงการในปี 2564 รวมไปถึงการเข้าซื้ออาคารสำนักงานของโนเบิลก่อนหน้านี้ด้วย และอาจจะมีอีกหลายโครงการในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซที่ร่วมทุนกับฮ่องกงอีกด้วยถ้าพิจารณาเป็นตระกูลแล้ว ตระกูลกาญจนพาสน์ยังมีอีก 1 ฝั่งที่ลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มายาวนาน คือ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นของคุณอนันต์ กาญจนพาสน์ ผู้พัฒนาโครงการเมืองทองธานี และอิมแพค เมืองทองธานีในปัจจุบัน พื้นที่ครอบคลุมกว่า 4,000 ไร่ มีทั้งคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร อาคารพาณิชย์ ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน ศูนย์แสดงสินค้า โรงแรม สนามกีฬา โรงแรม ทิศทางของเมืองทองธานีกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นหลังจากหมดโควิด-19 น่าจะมีการขยายตัวต่อเนื่องอีก เพราะมีเส้นทางรถไฟฟ้าต่อขยายจากสายสีชมพูเข้ามาในเมืองทองธานีอีก 2 สถานี

ทั้ง 5 กลุ่มบริษัท 5 ตระกูลก็ครอบคลุมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยไปได้ไม่น้อยแล้ว ซึ่งในปัจจุบันยังมีตระกูลอื่นๆ ที่อาจจะยังไม่ชัดเจนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น ตระกูลโชควัฒนากลุ่มสหพัฒน์ที่มีการลงทุนทั้งโรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ คอมมูนิตีมอลล์ที่ศรีราชา ตระกูลมหากิจศิริ ที่เริ่มขยับเข้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น มีการเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมหลายโครงการโดยใช้บริษัท เดอะ เนสท์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่ได้รุ่นลูกของตระกูลมาเป็นผู้บริหาร รวมไปถึงตระกูลอื่นๆ ถ้ามีการขยับขยายเข้ามาในธุรกิจอสังหาฯ ตามกันต่อเนื่องในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น