xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ตั้งทีมเกาะติดสถานการณ์เมียนมา - ลุยลงทุนรถ EV ครบวงจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ปตท.ตั้งทีมติดตามสถานการณ์ในเมียนมาใกล้ชิดและวางแผนสำรองรับมือ รวมทั้งตั้งทีม EV Value Chain เพื่อลงทุน EV แบบครบวงจร “อรรถพล” เปิดวิสัยทัศน์ใหม่ Powering Life with Future Energy and Beyond หรือขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต

วันนี้ (9 เมษายน 2564) ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญผู้ถือหุ้นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ประจำปี 2564 ที่มีดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการและกรรมการอิสระ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประชุม พร้อมด้วยกรรมการอีก 12 ท่าน โดยมีกรรมการ 2 ท่านที่อยู่ระหว่างกักตัวและสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน (Self-quarantine) ประกอบด้วย นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการอิสระ/ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร และนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ในฐานะกรรมการ, เลขานุการคณะกรรมการ สืบเนื่องจากนายอรรถพลได้ร่วมทำงานใกล้ชิดกับนายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ที่ได้รับผลการตรวจยืนยันจากแพทย์ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากนายกฤษณ์ได้เข้าประชุมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับผู้บริหารของ ส.อ.ท.ที่ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564

โดยมีทีมผู้บริหารระดับสูง ปตท.อีก 3 ท่านที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมฯเพราะอยู่ระหว่างกักตัวและสังเกตอาการเป็นเวลา 14วัน ประกอบด้วย นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท., นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. และน.ส.พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท. โดยที่ประชุมฯได้ปรับเพิ่มใช้การประชุม Virtual Conference เพื่อให้กรรมการและผู้บริหาร ปตท. ที่ต้องกักตัวสังเกตอาการ ยังคงร่วมประชุมผู้ถือหุ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายอรรถพลกล่าวว่า ปตท.ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งที่ผ่านมากลุ่ม ปตท.ดำเนินธุรกิจในเมียนมาอยู่ 2 กลุ่มธุรกิจ คือ ธุรกิจสำรวจและผลิตเจาะปิโตรเลียมของ ปตท.สผ.ซึ่งยังคงจัดส่งก๊าซฯ ส่งให้ไทยได้ตามปกติ แต่เพื่อความไม่ประมาท ปตท.ได้จัดตั้งทีมเฉพาะขึ้นมาเพื่อติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเตรียมแผนสำรองไว้รับมือ เช่น การจัดเตรียมพนักงานคนไทย และผู้รับเหมาไว้เข้าปฏิบัติงานแทนในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น และแผนทางการเงินในกรณีที่ไม่สามารถชำระเงินเป็นสกุลดอลลาร์ได้

ส่วนธุรกิจน้ำมันของ ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (โออาร์) ปัจจุบันได้เปิดสาขาร้านกาแฟอเมซอน ประมาณ 5-6 สาขา และมีการก่อสร้างคลังน้ำมันและคลังก๊าซ LPG ซึ่งคืบหน้าไปแล้วประมาณ 60% แต่ต้องชะลอการลงทุนไว้ก่อนจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ


นอกจากนี้ ปตท.ได้เตรียมพร้อมการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดย ปตท.ได้จัดตั้งทีม EV Value Chain เพื่อเข้าไปดูการลงทุน EV แบบครบวงจร ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ G-Cell ที่ใช้เทคโนโลยี Semi Solid เซลล์แรกของประเทศไทย โดยได้ผลิตแบตเตอรี่ก้อนแรกออกมาแล้ว รวมทั้งจัดตั้งบริษัท SWAP & GO เป็นธุรกิจเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้กับมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า, การตั้งบริษัท ออน-ไอออน โซลูชั่นส์ จำกัด (On-I on Solutions) การพัฒนา EV Changer Platform และโออาร์ มีแผนจะก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station เพิ่ม 100 แห่ง ในรูปแบบชาร์จเร่งด่วน Quick Charge โดยใช้เวลาชาร์จเพียง 30นาทีเท่านั้น

ทั้งนี้ ปตท.ประเมินแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากการใช้EV เป็นโอกาสของ ปตท.ที่จะเข้าไปลงทุนผลิตไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงสะอาด ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และพลังงานทดแทน โดยที่ผ่านมา ปตท.ได้เข้าไปลงทุนในบริษัท GRP ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ GPSC เพื่อเสริมศักยภาพขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า แตะ 8,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 และ ปตท.ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าแบบเดิมอยู่ที่ 8,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 เช่นกัน


นายอรรถพลกล่าวถึงวิสัยทัศน์องค์กรใหม่ของ ปตท. จากเดิมคือ “Thai premier multinational energy company” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่ใช้มาแล้วกว่า 10 ปีปัจจุบันได้ขับเคลื่อนองค์กรจนบรรลุเป้าหมายเป็น ดังนั้นจึงกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ คือ ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต หรือ Powering Life with Future Energy and Beyond เป็นการบ่งบอกจุดมุ่งหมายและทิศทางการเติบโต ด้วยการมุ่งสร้างพลังขับเคลื่อนทุกชีวิต โดยมีทิศทางการเติบโต มุ่งสู่ธุรกิจพลังงานอนาคต และเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน

นอกจากนี้ ปตท.ได้จัดพอร์ตการลงทุนธุรกิจใหม่ใน 6 ได้แก่ 1. New Energy ได้เข้าไปลงทุนในบริษัท GRP ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ GPSC เพื่อเสริมศักยภาพขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จัดตั้งบริษัท SWAP & GO เป็นธุรกิจเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้กับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า การตั้งบริษัท ออน-ไอออน โซลูชั่นส์ จำกัด (On-I on Solutions) การพัฒนา EV Changer Platform

2. Life Science โดยจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเชีย) เพื่อลงทุนธุรกิจ Life Science ซึ่งในระยะต่อไปนี้ก็อาจจะเห็นการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) ออกมาเรื่อยๆ และมีการร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตยารักษามะเร็งแห่งแรกของประเทศไทย ตามแผนเริ่มก่อสร้างปี 2565

3. Mobility & Lifestyle จะมีบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหอกหลัก เข้าไปทำเรื่องใหม่ๆ เช่น คลาวด์คิทเชน ก็ได้ร่วมมือกับ LINE MAN จัดตั้งในปั๊มน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ซึ่งเปิดดำเนินการสาขาแรกไปแล้ว


4. High Value Business เป็นการผันตัวของธุรกิจปิโตรเคมี ไปเน้นเรื่องของการผลิตสินค้าที่เป็นสเปเชียลตี้ 5.  Logistics & Infrastructure เช่น การลงทุนโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 โดยมองโอกาสการลงทุนระบบรางและทางน้ำด้วย 6. AI & Robotics Digitalization มีบริษัท ปตท.สผ. เป็นผู้ขยายการลงทุนในด้านนี้ทั้งโดรนและอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น