xs
xsm
sm
md
lg

รัฐเร่งเครื่องอีอีซีลุยแผนพลิกโฉมเมืองพัทยา ปลื้มโซนี่ พิคเจอร์สฯ เลือกเปิดสวนน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กบอ.หารือติดตามความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่อีอีซี พิจารณาแผนพัฒนาเมืองพัทยาโฉมใหม่ NEO PATTYA ยกระดับเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวอีอีซี ปลื้มผลสำเร็จดึงโซนี่ พิคเจอร์สฯ ปักธงเลือกพื้นที่อีอีซีของไทยเปิดสวนน้ำแห่งแรกของโลกซึ่งจะกระตุ้นการเติบโตในอีอีซีอย่างรวดเร็ว พร้อมเร่งเดินหน้า 5G พลังงานสะอาดรับขับเคลื่อน BCG โมเดล

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 2/2564 วันที่ 8 เม.ย. ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้รับทราบและพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่สำคัญ ได้แก่ การพิจารณาแผนพัฒนาเมืองพัทยาตามแนวทางพัทยาโฉมใหม่ NEO PATTAYA เน้นการพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเมืองพัทยาสู่ศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ บูรณาการร่วมกันระหว่างรัฐ ท้องถิ่น เอกชน และอนาคตจะขยายผลสู่เขตส่งเสริมพิเศษแหล่งท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอีอีซี

โดยประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่ 1. แผนพัฒนาพื้นที่และแหล่งท่องเที่ยวเมืองพัทยา ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวปัจจุบันให้ได้มาตรฐานสากล ได้แก่ พัฒนาตลาดลานโพธิ์นาเกลือ (Old Town นาเกลือ) เป็นเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชน คู่กับเป็นตลาดอาหารทะเลชั้นนำของอีอีซี ซึ่งเบื้องต้น สกพอ.ร่วมกับเมืองพัทยาทำเป็นโครงการนำร่อง NEO PATTAYA พัฒนาพื้นที่ท่าเรือพัทยาใต้และเขาพัทยา รวมทั้ง โครงการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก รองรับแข่งขันกีฬาระดับสากล และโครงการ Neo เกาะล้าน พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ สร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

2. แผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเมืองพัทยาให้ได้มาตรฐานสากล เช่น เชื่อมต่อสถานีรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ เพิ่มสัดส่วนการเดินทางระบบราง พัฒนาท่าเทียบเรือพัทยาใต้ ท่าเรือสำราญ ให้เป็นศูนย์กลางเดินทางทะเลเพื่อเป็นประตูแห่งใหม่ของอีอีซี และ 3. แผนพัฒนาระบบระบายน้ำ บำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา เพิ่มโครงข่ายและขนาดท่อระบายน้ำ แก้ไขปัญหาน้ำท่วม แยกระบบระบายน้ำและระบบบำบัดน้ำเสีย ลดการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล

นอกจากนี้ ยังรับทราบการสร้างความมั่นใจดึงดูดการลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติจากการที่โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ผู้ผลิตภาพยนตร์ระดับโลก ร่วมกับ บริษัท อเมซอน ฟอลส์ จำกัด ประกาศนำสวนสนุกและสวนน้ำในธีมภาพยนตร์ชื่อดังของโคลัมเบีย พิคเจอร์ เช่น โกสต์บัสเตอร์ส จูแมนจี้ เอ็มไอบี และโฮเต็ลทรานซิลเวเนีย มาเปิดในพื้นที่อีอีซีเป็นแห่งแรกของโลก ภายใต้ชื่อ โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส ซึ่งจะเปิดแนะนำตัวเดือนตุลาคม 2564

“โครงการนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจ และเป็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่อีอีซีได้เชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และมั่นใจว่าจะเป็นจุดสำคัญพลิกโฉมกระตุ้นการเติบโตอย่างรวดเร็วในอีอีซี อีกทั้งจะเป็นจุดเปลี่ยนในการสร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่ความบันเทิงแบบ Immersive Entertainment ในอีอีซีของไทยและเป็นองค์ประกอบหลักในแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งขณะนี้อีอีซีพร้อมสนับสนุนโครงการฯ ทั้งในด้านการให้บริการ 5G โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้โครงการประสบความสำเร็จต่อไป” นายคณิศกล่าว

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้รับทราบการผลักดันใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G และการจัดหาพลังงานสะอาดในพื้นที่อีอีซี มีการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การติดตั้งท่อ เสา สายสัญญาณให้บริการ 5G ในพื้นที่มากกว่า 80% เพื่อให้บ้านฉางก้าวสู่ต้นแบบชุมชนอนาคต ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ นำร่องทดลองในลักษณะพลังงานอัจฉริยะ และการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง รองรับการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในพื้นที่บ้านฉาง โดยสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี 2565 โดย สกพอ.จะเร่งเสนอจัดตั้งพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา บ้านฉาง และมาบตาพุดเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษด้านการพัฒนาสัญญาณ 5G อุตสาหกรรมดิจิทัลและเมืองอัจฉริยะต่อไป

ที่ประชุมยังรับทราบแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) เพื่อให้อีอีซีก้าวสู่พื้นที่ปลดปล่อยก๊าซตาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ของภาคอุตสาหกรรมแห่งแรกในภูมิภาค โดยตั้งเป้าหมายชักจูงและผลักดันให้เกิดการลงทุนเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ในพื้นที่อีอีซี ปี 2564-2569 ให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯได้ 10% หรือประมาณ 68 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2569 (เทียบฐานปี 2564) เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ที่ 40% ต้องลงทุนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว โดยกำหนด 2 กลุ่มเป้าหมายส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเดิมลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพ 2. กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ ภาคการผลิตทั่วไป ลงทุนสายการผลิตที่นำระบบดิจิทัล ออโตเมชัน ระบบการจัดการสินค้าหลังการใช้งาน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น