xs
xsm
sm
md
lg

กทท.เปิดฟังความเห็น เร่งออกแบบพัฒนา “ท่าเรือระนอง” ขยายพื้นที่หลังท่ายกระดับ “ฮับ” เชื่อม BIMSTEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)
กทท.เปิดรับฟังความเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ท่าเรือระนอง 1, 2 ขยายพื้นที่หลังท่า เพิ่มขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าได้สูงสุด 192,000 ทีอียู คาดศึกษา EIA พร้อมออกแบบรายละเอียดเสร็จภายใน 1 ปี ยกระดับเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าสู่กลุ่มประเทศ BIMSTEC

วันนี้ (8 เม.ย.)  พลเรือเอก โสภณ วัฒนมงคล ประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นประธานในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ครั้งที่ 1 ต่อร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการของรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ระนอง (ท่าเรือระนอง) จังหวัดระนอง โดยมีนายชนินทร์ แก่นหิรัญ กรรมการ กทท. พร้อมด้วย เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ กทท. และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้แทนภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
 
เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ กทท. เปิดเผยว่า กทท.ได้ให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา (Consortium) ประกอบด้วย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท กรีนเนอร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาและสำรวจออกแบบ (Detail Design) รวมทั้งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาศักยภาพโครงการปรับปรุงท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ระนอง และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) พร้อมนำข้อเสนอต่างๆ ของภาคประชาชนไปประกอบการดำเนินโครงการปรับปรุงท่าเรือระนองให้มีประสิทธิภาพ สร้างการมีส่วนร่วมระหว่าง กทท.กับภาคประชาชน เพื่อการพัฒนาให้สามารถดำเนินการควบคู่การดำเนินกิจการ วงเงินค่าจ้างศึกษา 54.99 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษาประมาณ 1 ปี
 
การประชุมครั้งที่ 1 นี้เป็นขั้นตอนของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอ/ห่วงกังวลในประเด็นด้านต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน นำไปกำหนดขอบเขตการศึกษาเพื่อให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ และรอบด้าน และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อไป
 
สำหรับท่าเรือระนองตั้งอยู่ริมฝั่งปากแม่น้ำกระบุรี ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง มีความลึกของร่องน้ำ 8-10 เมตร ปัจจุบันจำนวน 2 ท่า ได้แก่ ท่าเรือที่ 1 ความยาวท่า 134 เมตร กว้าง 26 เมตร สามารถรองรับเรือสินค้าได้ขนาดไม่เกิน 12,000 เดตเวทตัน ท่าเรือที่ 2 ความยาวท่า 150 เมตร กว้าง 30 เมตร สามารถรองรับเรือสินค้าได้ขนาดไม่เกิน 12,000 เดตเวทตัน โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการพัฒนาและได้มอบหมายนโยบายให้ กทท.ศึกษาแนวทางการทำแผนพัฒนาท่าเทียบเรือระนองเพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต และเพื่อให้เกิดผลสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการขยายการให้บริการของท่าเรือระนอง เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางทะเลเชื่อมโยงกับกลุ่ม BIMSTEC ภายใต้แผนการพัฒนาพื้นที่ SEC พ.ศ. 2562-พ.ศ. 2565 เป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตก (Western Gateway)
 
โดยแนวทางเลือกในการพัฒนาโครงการจะมีการก่อสร้างพื้นที่หลังท่าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการดำเนินงานของท่าเรือระนอง (ลานวางตู้สินค้า ที่ 1 และที่ 2) ประกอบด้วย ท่าเรือที่ 1 จะดำเนินการก่อสร้างลานวางตู้สินค้า ซึ่งจะมีพื้นที่ใช้สอยรวม 14,000 ตร.ม. สามารถรองรับปั้นจั่นหน้าท่าล้อยาง (Mobile Harbor Crane) และรองรับตู้สินค้าได้ 96,000 ทีอียู สำหรับท่าเรือที่ 2 จะดำเนินการก่อสร้างลานวางตู้สินค้า ซึ่งจะมีพื้นที่ใช้สอยรวม 28,000 ตร.ม. สามารถรองรับปั้นจั่นหน้าท่าล้อยาง (Mobile Harbor Crane) และรองรับตู้สินค้าได้ 192,000 ทีอียู








กำลังโหลดความคิดเห็น