xs
xsm
sm
md
lg

รับเหมา-ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างปรับลดพอร์ตอสังหาฯ ชิงงบโปรเจกต์รัฐ อีอีซีแม่เหล็ก! ดันลงทุนสร้างนิคมฯ-คลังสินค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


โครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ งบก่อสร้าง 1,200 ลบ.
เกือบ 2 ปีที่ทั่วโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจและธุรกิจแทบทุกสาขา แม้ว่าประเทศไทยเหมือนจะควบคุมสถานการณ์ได้ดีที่สุด ภาคธุรกิจต่างๆ กำลังจะเริ่มลืมตาอ้าปากได้ แต่โควิด-19 ก็กลับมาระบาดระลอกใหม่และลุกลามแบบ super spreader ทำให้หลายธุรกิจที่เกือบจะดีเกิดการหยุดชะงักและขาดรายได้หล่อเลี้ยงกิจการอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดนี้แล้ว ภาครัฐและภาคเอกชนจึงมีนโยบายใช้เงินงบประมาณอย่างรัดกุม โดยให้ความสำคัญกับโครงการเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ภาคอุตฯ ก่อสร้างหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศยังคงต้องเดินหน้าต่อไปได้

วิจัยกรุงศรี เปิดเผยว่า มูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัว 4.5-5.0% ในปี 2564 และ 5.0-5.5% ในปี 2565-2566 ปัจจัยขับเคลื่อนมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะเหนี่ยวนำการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนให้ขยายตัวตาม เช่น นิคมอุตสาหกรรม รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวจะหนุนการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารเพื่อการพาณิชย์ ขณะที่มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 6.0-6.5% ในปี 2564 และ 6.5-7.0% ในปี 2565-2566 ส่วนมูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว โดยจะขยายตัว 1.0-1.5% ปี 2564, 1.5-2.0% ปี 2565 และ 2.0-2.5% ปี 2566

นายอาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม
นายอาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) (CCP) กล่าวว่า การระบาดระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทในระยะสั้น จากมาตรการกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ปิดเมืองชลบุรี ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัท ทำให้งานชะลอตัวหรือต้องเลื่อนส่งมอบงานออกไป แต่ทั้งนี้คาดว่าครึ่งหลังของปี 64 จะดีกว่าครึ่งปีแรก เป็นผลมาจากนโยบายการจัดซื้อและแจกจ่ายวัคซีนของไทย จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายมากขึ้น สร้างความมั่นใจในการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์คอนกรีตปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ งานโครงสร้างพื้นฐานในหลายโครงการ และยังมีโครงการของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ต่างๆ ที่มีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เช่น งานถนน อาคารสำนักงาน ขณะที่นโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ EEC ผลักดันให้เกิดการลงทุนก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม คลังสินค้า และเริ่มเห็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทยอยลงทุนในโครงการใหม่

อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังคงต้องประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแบบวันต่อวัน มุ่งเน้นบริหารจัดการต้นทุนการผลิต-การขาย ลดค่าใช้จ่ายพร้อมเสริมศักยภาพการแข่งขันและเพิ่มความสามารถในการทำกำไร

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปีนี้ ด้านธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จ (Ready Mix) เนื่องจากเทรนด์การก่อสร้างในปัจจุบันใช้ระยะเวลาที่สั้นลง ต้องปรับกลยุทธ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะให้บริการในลักษณะ Mobile Plant โดยจัดตั้งแพลนท์ปูนชั่วคราวที่สามารถรื้อถอนได้ ให้บริการเช่ารถขนส่ง ขายคอนกรีต รวมทั้งให้บริการออกสินค้านวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง รองรับงานโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมขยายฐานลูกค้าไม่จำกัดเฉพาะภาคตะวันออก มุ่งเน้นเข้าประมูลงานทั่วประเทศ สินค้าประเภทบล็อกคอนกรีตสำเร็จรูปยังคงมุ่งเน้นการเปิดตลาดใหม่เพื่อขยายฐานลูกค้า และกระจายความเสี่ยง

ก่อสร้างอาคารสูง
จ่อล็อกต้นทุนราคาเหล็ก กันความเสี่ยงผันผวน

นายชวลิต ถนอมถิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) (RT) กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ราคาเหล็กช่วงต้นปี 64 มีการปรับตัวขึ้นมาเป็นประมาณ 21 บาทต่อกิโลกรัม จากปีก่อนอยู่ประมาณ 18 บาทต่อกิโลกรัม มีผลกระทบต่อบริษัทไม่มากนัก แม้ว่าจะมีการซื้อวัสดุก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะเหล็กโลหะ เพื่อใช้ในการให้บริการก่อสร้างของบริษัท วัสดุก่อสร้างเป็นต้นทุนสำคัญในการก่อสร้างของแต่ละโครงการ หากมีการเพิ่มขึ้น หรือลดลงจะส่งผลต่อต้นทุนการซื้อวัตถุดิบที่ใช้ในการก่อสร้างโดยตรง

"จากการติดตามที่ผ่านมา พบว่า ราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลงไปในทิศทางเดียวกันกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาต้นทุนการซื้อวัสดุก่อสร้างได้ โดยที่ต้นทุนเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างมีสัดส่วนไม่เท่ากันในแต่ละโครงการ แต่โดยเฉลี่ยคิดเป็น 58.86% ของต้นทุนงานรับเหมาก่อสร้าง เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการขึ้นราคาของวัสดุก่อสร้าง อันเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีนัยสำคัญ และหากเห็นว่ามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ บริษัทจะป้องกันความเสี่ยงด้วยการสั่งซื้อวัสดุที่จะใช้ในโครงการล่วงหน้าสำหรับโครงการที่ลงนามในสัญญาแล้ว โดยเฉพาะเหล็กโลหะ และปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นวัสดุหลักที่ใช้ในปริมาณที่สูงมาก และไม่ยุ่งยากในการเก็บรักษา"

ปัจจุบัน สัญญางานรับเหมาก่อสร้างกับภาครัฐบางประเภทจะมีการระบุเกี่ยวกับการปรับมูลค่างานก่อสร้างตามสูตรการปรับราคา (ค่า K) กล่าวคือ ในกรณีที่ราคาของวัสดุหลักที่ใช้ในการก่อสร้างมีการปรับตัวสูงขึ้นหรือลดลงเกินกรอบราคาที่กำหนด บริษัทจะได้รับเงินชดเชยหากราคาวัสดุปรับตัวสูงขึ้น หรือบริษัทจะจ่ายเงินชดเชยหากราคาวัสดุปรับตัวลดลง ซึ่งเงินชดเชยจะเท่ากับมูลค่าจากการคำนวณตามสูตรการปรับราคาที่มีการกำหนดไว้ในสัญญา

สำหรับงานรับเหมาก่อสร้างกับภาคเอกชนบางโครงการที่มีข้อตกลงในสัญญา กำหนดให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งหมดให้แก่ผู้รับจ้างในราคาที่ตกลงกัน ณ วันทำสัญญา ในกรณีที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดหาวัสดุก่อสร้างตามที่กล่าว จะไม่ทำให้บริษัทได้รับความเสี่ยงจากมีความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้นแต่อย่างใด

อนึ่ง ราคาเหล็กในปัจจุบันปรับขึ้นราว 10% จากช่วงปลายปี 2563 และมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่อง จากการปิดเตาถลุงเหล็กในช่วงที่ผ่านมา หลังความต้องการลดลงจากโควิด-19 ประกอบกับจีนขาดแคลนเหล็ก จึงนำเข้าเหล็กเพิ่มขึ้นจนดันให้ราคาเหล็ก สินแร่เหล็ก และเศษเหล็กสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายชวลิต กล่าวว่า หากในอนาคตมีการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เข้ามาป้องกันการแพร่ระบาดเป็นผลสำเร็จ ถือเป็นเรื่องที่ดี จะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่โหมดฟื้นตัว และการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการทุกแขนงและการเปิดประเทศเพื่อสามารถเดินทางเข้าออกได้ โดย RT จะได้รับผลดีจากการลดต้นทุนค่าเดินทาง ค่าแรง และค่าขนส่งในการก่อสร้างของโครงการในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มมาร์จิ้นของธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ

นายเกรียงศักดิ์ บัวนุ่ม
รับเหมาปรับกลยุทธ์ รุกเจาะงานภาครัฐหลังอสังหาฯ ซบเซา

นายเกรียงศักดิ์ บัวนุ่ม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เวล เกรด เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ WGE ผู้ประกอบการให้บริการรับเหมาก่อสร้างอย่างครบวงจร กล่าวถึงแผนการปรับตัวธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของบริษัทว่า เดิมพอร์ตหลักจะเป็นลูกค้าโครงการอสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลาดช็อกเหมือนกัน ซึ่งทุกธุรกิจมีสภาพไม่ต่างกัน ดังนั้น แนวทางปรับตัวหลังจากที่งานธุรกิจอสังหาฯ หายไปเยอะ โครงการคอนโดมิเนียมหยุดไปหมด ทำให้ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 63 บริษัทไปเน้นรับงานราชการซึ่งมีความถนัดอยู่แล้ว เข้าไปประมูลงานราชการมา ซึ่งงานโครงการภาครัฐต้องใช้ระยะเวลา กว่าจะชัดเจนในเรื่องของการเซ็นสัญญาก็เข้าไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาอีก 2-3 โครงการ ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (แบ็กล็อก) ประมาณ 2,000 ล้านบาท

"ผมสร้างคอนโดมิเนียมแนวสูงเป็นหลัก เราไม่ลงแข่งราคากับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง แต่ให้ราคาที่เหมาะสมกับโครงการ ต้องตอบโจทย์ให้กับโครงการได้ บริหารความคาดหวังให้กับโครงการได้ จ้างเรา (WGE) แล้วไม่ปวดหัว ตรงนี้เป็นจุดขายที่บริษัททำมาตลอด ถ้าลูกค้าต้องการให้เราไปทำโครงการไหนเราก็ไป แต่เราคงไม่ดิ้นรนไปหาลูกค้าในต่างจังหวัด เรารักษาพื้นที่ของเราดีกว่า"

สำหรับในปี 2564 หลังจากได้ปรับพอร์ตลูกค้า งานภาครัฐจะมีสัดส่วนกว่า 50% เอกชนจะลงมาเหลือต่ำกว่า 40% ซึ่้งในปีนี้ เราตั้งหลักใหม่ เราลืมฝันร้ายปีที่แล้ว ไม่ไปติดกับดักกับปี 63 โดยปี 64 เราตั้งเป้าไปเปรียบเทียบรายได้กับปี 62 ที่ 1,500 ล้านบาท คาดว่าปีนี้รายได้จะมีการเติบโตที่ขึ้น นักลงทุนเข้าใจในสถานการณ์ปีที่ผ่านมา รายได้หายไปกว่าครึ่ง แต่เรายังคงรักษาพนักงาน และมีกำไรอยู่ ธุรกิจเราก็เดินต่อ โดยบริษัท ดับเบิ้ลยู ทีม จำกัด หรือ "W TEAM" บริษัทลูกน่าจะมีข่าวดีในช่วงกลางปีนี้จากการเข้าไปรับงานก่อสร้างถนน สะพาน เป็นต้น และอีกส่วนเข้าไปให้บริการก่อสร้างโรงงานอย่างเข้มข้นมากขึ้น วิ่งไปทุกตลาด มีผู้ประกอบการหลายแห่งเชิญเราเข้าไปเสนอราคา


"จริงๆ แล้วงานโรงงานเป็นตลาดที่เราทำมาเรื่อยๆ เพื่อนๆ พรรคพวกใช้บริการเรา เหมือนเราหว่านแหหาปลา แต่มีปูติดมา เราก็กินได้ แต่ตอนนี้เราต้องกำหนดการตลาดให้ชัด เราต้องหาทั้งปู และปลาด้วย เราสร้างเครื่องมือ มีเรือที่จะหาปูต่างหาก มีเรือหาที่จะปลา หาหมึก แยกทำตลาดให้ถูก ซึ่งเราวางเป้าหมายธุรกิจแยกเป็น 3 ตลาด งานอาคารเราแข็งแกร่งและเติบโตไปได้เรื่อยๆ และธุรกิจใหม่ที่มาต่อยอดให้แก่บริษัทผ่านบริษัทลูก W TEAM มุ่งงานโครงการขั้นพื้นฐานของภาครัฐ และโรงงาน"


ชิงเค้กงบลงทุนปี 65 คมนาคม-โลจิสติกส์ 3.27 แสนล้าน

สำหรับความเคลื่อนไหวของงบประมาณภาครัฐในปีงบประมาณ 2565 นั้น ล่าสุดในแผนการงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ได้กำหนดงบล่าสุดไว้ที่ 3.27 แสนล้านบาท ลดลง 1.03% ทั้งนี้ในส่วนกระทรวงคมนาคม 11 หน่วยงาน ได้เสนอคำขอ 3.28 แสนล้าน ปรับเหลือ 3.25 แสนล้านบาท ขณะที่ 8 กระทรวง เสนอคำขอประมาณ 1,857 ล้านบาท ปรับเหลือประมาณ 1,253 ล้านบาท

โดยกระทรวงคมนาคม มี 86 โครงการ วงเงิน 3.25 แสนล้านบาท แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ด้าน ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่ง 83 โครงการ วงเงิน 3.24 แสนล้านบาท และ 2.การบริหารจัดการโลจิสติกส์ 3 โครงการ 95 ล้านบาท โดยทั้ง 2 ด้านมีโครงการสำคัญ เช่น โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (ก่อสร้างทางและสะพานบางปะอิน-สระบุรี บางใหญ่-กาญจนบุรี ชดเชยอสังหาริมทรัพย์ทางหลวงสัมปทานหมายเลข 8 สายนครปฐม-ชะอำ สำรวจออกแบบสายถนนวงแหวนรอบนอก กทม. รอบที่ 3 (ด้านตะวันออกและตะวันตก) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชลบุรี-หนองคาย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชลบุรี-ตราด ตอนชลบุรี-อ.แกลง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครสวรรค์ ของกรมทางหลวง (ทล.) วงเงิน 2.19 หมื่นล้านบาท

การพัฒนาทางและสะพานโครงข่ายทางหลวงชนบทฯ ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) วงเงิน 23,300 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วงเงิน 920 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย วงเงิน 51 ล้านบาท โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อเตรียมดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟทั่วประเทศ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 641 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ และจัดกรรมสิทธิ์โครงการระบบขนส่งมวลชน จ.เชียงใหม่ สายสีแดง ช่วง รพ.นครพิงค์-แยกแม่เหียะ 315 ล้านบาท และโครงการระบบขนส่งมวลชน จ.นครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 16 ล้านบาท โครงการพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมขนส่ง 19 สนามบิน ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) วงเงิน 8,897 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น