xs
xsm
sm
md
lg

สมาร์ทโฟน ‘หัวเว่ย’ ไม่โตแต่ไม่ตาย!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


การไม่โตไม่ได้แปลว่าจะต้องตาย แม้แนวโน้มโอกาสของหัวเว่ยในธุรกิจสมาร์ทโฟนโลกนั้นอาจไม่กลับไปรุ่งเรืองเหมือนช่วงก่อนถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำ
หัวเว่ย (Huawei) ยักษ์ใหญ่อุปกรณ์โทรคมนาคมสัญชาติจีนเพิ่งยอมรับว่ามาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ ลงดาบไว้ในปี 62 นั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจโทรศัพท์มือถือ แต่หัวเว่ยย้ำชัดว่าไม่ได้ยอมแพ้ และวางนโยบายเดินหน้าไปต่อด้วยการลุยเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ตามกำหนดเหมือนเดิมต่อไป โดยจะร่วมมือกับพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อจัดจำหน่ายและพัฒนาธุรกิจแบบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

การไม่โตไม่ได้แปลว่าจะต้องตาย แม้แนวโน้มโอกาสของหัวเว่ยในธุรกิจสมาร์ทโฟนโลกนั้นอาจไม่กลับไปรุ่งเรืองเหมือนช่วงก่อนถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำ และเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยที่หัวเว่ยจะกลับมายืนเด่นในวงการสมาร์ทโฟนโลกอีกครั้ง ในวันที่ทางการสหรัฐฯ สาดโคลนไว้ว่าการใช้อุปกรณ์ 5G ของหัวเว่ยอาจเปิดโอกาสให้รัฐบาลจีนเข้าถึงข้อมูลของประเทศต่างๆ

ที่ผ่านมา หัวเว่ยพยุงตัวเองด้วยการเปิดตัวระบบปฏิบัติการ HarmonyOS และอีโคซิสเต็ม Huawei Mobile Services หรือ HMS ร่วมกับข่าวการเทงบผลิตชิปของตัวเอง และการตะลุยขายสินค้าอื่นไม่ใช่เน้นแต่สมาร์ทโฟนอย่างเดียว ทั้งหมดเป็นไปตามยุทธศาสตร์ 10 ปีที่วางไว้สำหรับกลุ่มธุรกิจผู้บริโภค ซึ่งหัวเว่ยย้ำมาตลอดว่าต้องการมอบประสบการณ์การใช้ชีวิตในยุค AI แบบไร้รอยต่อ (1 + 8 + N) ให้คอนซูเมอร์ทั่วโลก โดยวางเป้าหมายครอบคลุมอุปกรณ์และสถานการณ์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานอัจฉริยะ ฟิตเนสและสาธารณสุขอัจฉริยะ สมาร์ทโฮม การเดินทางที่ง่ายขึ้น หรือแม้แต่เรื่องของความบันเทิง

แน่นอนว่ากลยุทธ์นี้ไม่มีสมาร์ทโฟนไม่ได้ เพราะเลข 1 หมายถึง สมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์หลักที่จะเป็นหัวใจในการเชื่อมต่อและควบคุมการทำงานของดีไวซ์อื่น ขณะที่ 8 หมายถึง สมาร์ทดีไวซ์รอบข้างอีก 8 อย่างที่จะเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน ได้แก่ แล็ปท็อป แท็บเล็ต สมาร์ทวอทช์ หูฟังไร้สาย แว่นตา ทีวีหรือหน้าจออัจฉริยะ ลำโพง และรถยนต์ แต่อุปกรณ์เหล่านี้เองที่เป็นตัวกระจายรายได้ให้หัวเว่ยไม่ต้องผูกตัวเองกับธุรกิจสมาร์ทโฟนเท่านั้น และยังรักษาให้หัวเว่ยมีตัวตนในตลาดคอนซูเมอร์ต่อไป

***ยืนยันยังเหมือนเดิม

เจย์ เฉิน (Jay Chen) รองประธานหัวเว่ยเอเชียแปซิฟิกกล่าวกับสื่อมวลชนหลังการประกาศผลประกอบการปีการเงิน 2563 ว่าอัตราเติบโตของธุรกิจหัวเว่ยที่ลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงต่อแผนดำเนินงานดั้งเดิมที่เคยวางไว้ การออกโทรศัพท์รุ่นใหม่จะยังยึดตามกำหนดการเดิม รวมถึงแผนการลงทุนและความร่วมมือรอบด้าน


คำยืนยันนี้ถือว่าทำได้ยากเมื่อเทียบกับความเป็นจริง เพราะบางแผนถูกคิดไว้ตั้งแต่ช่วงที่หัวเว่ยเข้าใกล้เป้าหมายเรื่องความฝันเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลก เวลานั้นธุรกิจสินค้ากลุ่มผู้บริโภคยิ่งใหญ่มากจนแซงหน้าธุรกิจอุปกรณ์เครือข่ายหลักของหัวเว่ยแล้วกลายเป็นแผนกธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทตั้งแต่ปี 61 และในปี 62 รายได้จากธุรกิจผู้บริโภคของหัวเว่ยก็เพิ่มขึ้น 34% เทียบไม่ได้เลยกับการเติบโต 3.3% ในปี 63

น้ำหนักของแผนอาจเปลี่ยนไปแล้วในตอนนี้ที่หัวเว่ยไม่ได้อยู่ในกลุ่มท็อป 5 อันดับแรกของหลายประเทศ รวมถึงไทยที่ยอดขายสมาร์ทโฟน 5 อันดับแรกตลอดปี 2563 ตกเป็นของ Xiaomi, OPPO, Vivo, Samsung และ Apple

อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยยังยืนยันคำเดิมแม้การสำรวจล่าสุดจะพบว่าหัวเว่ยไม่ได้เป็นผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศจีนแล้วเช่นกัน แต่บริษัทก็ไม่แคร์เพราะยอดขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคอื่นๆ ของหัวเว่ยกลับเพิ่มขึ้น ทั้งแล็ปท็อป แท็บเล็ต และอุปกรณ์สวมใส่ เบ็ดเสร็จเพิ่มขึ้น 65% เมื่อเทียบกับปี 62

   เคน หู (Ken Hu) ประธานหัวเว่ย ยอมรับว่าบริษัทมีความมั่นใจมากขึ้นในกลยุทธ์ 1 + 8 + N
แปลว่าสิ่งที่หัวเว่ยลงมือทำกำลังเริ่มออกผล นั่นคือการพยายามทำตลาดสินค้าอื่นในวันที่ธุรกิจสมาร์ทโฟนของบริษัทประสบปัญหา มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่ตัดช่องทางไม่ให้หัวเว่ยมีส่วนประกอบสำคัญในการผลิตสมาร์ทโฟน รวมถึงการแบนไม่ให้สมาร์ทโฟนหัวเว่ยใช้งานระบบแอนดรอยด์ของกูเกิล ล้วนไม่มีผลกับอุปกรณ์อื่นที่หัวเว่ยขายให้คอนซูเมอร์ ผลคือธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคของบริษัทก็ยังเติบโตได้อีก 3.3% ในช่วงปี 63 ที่วิกฤตโควิด-19 อาละวาดหนัก โดยปัจจุบันธุรกิจคอนซูเมอร์เป็นแหล่งที่มาของรายได้ 54.2% ที่หัวเว่ยทำได้ทั่วโลก

เคน หู (Ken Hu) ประธานหัวเว่ย ยอมรับว่าบริษัทมีความมั่นใจมากขึ้นในกลยุทธ์นี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลยุทธ์นี้รับกับภาวะขยายตัวของธุรกิจคอนซูเมอร์จีน ที่บูมขึ้นชัดหลังจากมีการติดตั้งโครงข่าย 5G ในจีนเพิ่มขึ้นจนเป็นกระแสการลงทุนที่ทำให้หัวเว่ยได้ประโยชน์ และเมื่อหัวเว่ยได้รับแรงดันจากเทรนด์ในตลาดคอนซูเมอร์จีนเป็นหลัก ผู้บริหารจึงมองว่าเป็นการยากที่จะคาดการณ์ทิศทางธุรกิจสมาร์ทโฟนของบริษัทในช่วงปีนี้

สำหรับการออกสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ตามโรดแมปที่วางไว้นั้น หัวเว่ยมองว่าทำได้จริงเพราะสมาร์ทโฟนรุ่นหลักของหัวเว่ยยังได้รับความนิยมอยู่ และถูกพูดถึงมากในแง่มุมการพัฒนาประสบการณ์ของผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมา หัวเว่ยสามารถรักษาการเติบโตได้เพราะมาตรการส่งเสริมธุรกิจที่หลากหลาย รวมถึงการกระจายห่วงโซ่อุปทานไม่ให้กระจุกตัวอยู่ที่เดียว

ตลาดที่ขยายตัวในจีนทำให้รายได้ในตลาดบ้านเกิดของหัวเว่ยเพิ่มขึ้น 15.4% สวนทางกับการลดลงในตลาดยุโรป อเมริกาเหนือ ตะวันออกกลางและแอฟริกา รวมถึงเอเชีย
ที่สุดแล้ว ตลาดที่ขยายตัวในจีนทำให้รายได้ในตลาดบ้านเกิดของหัวเว่ยเพิ่มขึ้น 15.4% สวนทางกับการลดลงในตลาดยุโรป อเมริกาเหนือ ตะวันออกกลางและแอฟริกา รวมถึงเอเชีย ท่ามกลางผลประกอบการที่น่าหดหู่ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ แต่รายรับรวมของหัวเว่ยเพิ่มขึ้นเป็น 891,400 ล้านหยวนในปี 2563 เบ็ดเสร็จแล้วบริษัทมีกำไรสุทธิ 64,600 ล้านหยวน เป็นระดับสูงสุดที่หัวเว่ยเคยทำได้ แม้รายได้จะเพิ่มขึ้นเพียง 3.8% ในขณะที่ผลกำไรเพิ่มขึ้น 3.2% ซึ่งน้อยกว่าการเติบโตในปีก่อนหน้าก็ตาม

***ต้องใช้เวลา

ในภาพรวม นักวิเคราะห์เชื่อว่าธุรกิจสมาร์ทโฟนหัวเว่ยจะยังไม่กลับมาเด่นในตลาดสมาร์ทโฟนในเร็วๆ นี้ เนื่องจากหัวเว่ยยังต้องใช้เวลาหาจุดเติบโตใหม่ที่มีประสิทธิภาพที่สามารถชดเชยการลดลงของธุรกิจโทรศัพท์มือถือให้ได้ โดยสิ่งที่หัวเว่ยลงมือทำไปแล้วแต่ไม่ได้ประกาศเป็นกลยุทธ์ที่ชัดเจน คือการเดินหน้าลดขนาดธุรกิจสมาร์ทโฟนเพื่อกอบกู้แบรนด์

ย้อนไปช่วงปลายปี 62 หัวเว่ยตัดสินใจขายแบรนด์ออเนอร์ (Honor) แบรนด์ลูกกลุ่มสมาร์ทโฟนราคาประหยัดที่สร้างยอดขายมากถึง 40% ของยอดจัดส่งทั้งหมดในปี 63 เวลานั้นหัวเว่ยย้ำว่า ‘เป็นการตัดสินใจที่ถูกบังคับ’ ให้บริษัทสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมตลาดภายนอก ซึ่งนักวิเคราะห์ก็เห็นด้วยเพราะการขาย Honor จะทำให้หัวเว่ยสามารถเพิ่มทรัพยากรเพื่อมุ่งเน้นไปที่สมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงของตัวเองแบบไม่ต้องกังวลกับส่วนอื่น

หลังจากมีการติดตั้งโครงข่าย 5G ในจีนเพิ่มขึ้น กระแสการลงทุนก็แรงขึ้นจนทำให้หัวเว่ยได้ประโยชน์
แม้จะตัดธุรกิจออกไปแล้ว แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่ายังไม่เห็นวิธีที่หัวเว่ยจะสามารถคืนกรงเล็บให้ธุรกิจสมาร์ทโฟนได้ ยกเว้นแต่การยกเลิกการคว่ำบาตร ประเด็นนี้ยังคลุมเครือเพราะสิ่งเดียวที่ชัดเจนคือการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนจะไม่จบลงเพราะโจ ไบเดน (Joe Biden) เป็นประธานาธิบดี

นาทีนี้โลกได้เห็นแล้วว่าแม้จะมีรัฐบาลใหม่ แต่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาคณะกรรมการการสื่อสารของสหรัฐฯ ก็ยังยืนคำกล่าวอ้างของรัฐบาลก่อนหน้านี้ว่าหัวเว่ยส่อเป็น ‘ภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ’ อยู่ ถึงแม้จะมีความหวังว่ารัฐบาลใหม่จะรีเซ็ตความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนให้กลับมาพูดคุยกันได้อีกครั้ง

เมื่อทุกอย่างต้องใช้เวลา ผู้บริหารหัวเว่ยจึงพยายามชูธงที่ธุรกิจอื่น พร้อมกับย้ำว่ากระแสการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในจีน ทำให้เกิดความต้องการโซลูชัน อุปกรณ์ รวมถึงบริการคลาวด์อย่างคึกคัก ทั้งหมดนี้ผลักดันให้ ‘หัวเว่ยคลาวด์’ เป็นธุรกิจที่เติบโตได้ดีมาก จนเชื่อว่าจะเป็นอีกธุรกิจที่สานต่อให้หัวเว่ยมีความเป็นปึกแผ่นต่อไปในแถลงการณ์ หัวเว่ยมองว่าตัวเองได้มีช่วยให้ผู้ให้บริการมากกว่า 1,500 รายในกว่า 170 ประเทศทั่วโลก นำเสนอบริการได้อย่างมีความเสถียรในช่วงล็อกดาวน์จากโควิด-19 ในปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา ทั้งบริการโทรคมนาคม การเรียนรู้ออนไลน์ และออนไลน์ชอปปิ้งให้กับผู้คนทั่วโลก ขณะเดียวกัน ก็เดินหน้าโครงการนวัตกรรมด้าน 5G กว่า 3,000 โครงการ ในกว่า 20 อุตสาหกรรม เช่น เหมืองถ่านหิน การผลิตเหล็กกล้า ท่าเรือ หรือภาคการผลิตอื่นๆ

‘ในช่วงปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจองค์กรของหัวเว่ยทำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนานวัตกรรมโซลูชันสำหรับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ และเพื่อสร้างอีโคซิสเต็มที่สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งเกิดจากการร่วมมือและประสบความสำเร็จไปด้วยกัน เช่น โซลูชัน AI บนหัวเว่ยคลาวด์เพื่อช่วยวินิจฉัยโรค ช่วยลดภาระด้านโครงสร้างทางสาธารณสุขให้แก่โรงพยาบาลได้ทั่วโลก และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ทำงานบนคลาวด์ สำหรับนักเรียนระดับประถมและมัธยมกว่า 50 ล้านคน’

นักวิเคราะห์เชื่อว่ายังไม่เห็นวิธีที่หัวเว่ยจะสามารถคืนกรงเล็บให้ธุรกิจสมาร์ทโฟนได้ ยกเว้นแต่การยกเลิกการคว่ำบาตร
จุดยืนล่าสุดของหัวเว่ย คือ การเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างมูลค่าร่วมกันให้แก่ภาคสังคม และกำลังทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบรับกับเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นในด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อความก้าวหน้าและความสำเร็จร่วมกัน 

สำหรับภูมิภาคอาเซียน หัวเว่ยทำโครงการ Spark Program ที่ประเทศสิงคโปร์ในปี พ.ศ.2563 เพื่อสนับสนุนด้านเทคนิค เงินทุน การให้คำปรึกษา และการฝึกอบรมให้แก่บริษัทสตาร์ทอัปเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังมีศูนย์ 5G Ecosystem Innovation Center (EIC) ในประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหัวเว่ย ให้เป็นแหล่งจัดแสดงและสาธิตนวัตกรรมด้าน 5G ในภูมิภาคอาเซียน คู่ไปกับโครงการฝึกอบรมที่หัวเว่ยตั้งเป้าบุคลากรด้านไอซีทีอีกอย่างน้อย 300,000 คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายในเวลา 5 ปีต่อจากนี้

ธุรกิจหัวเว่ยวันนี้เน้นขายโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสมาร์ทดีไวซ์ ด้วยโซลูชันที่ผสมผสานใน 4 กลุ่มหลัก คือ เครือข่ายโทรคมนาคม ไอที สมาร์ทดีไวซ์ และบริการคลาวด์ กลุ่มเป้าหมายของหัวเว่ยคือทุกคนบนโลก เพราะบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่การใช้งานทุกระดับเพื่อทุกผู้คนทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อขับเคลื่อนโลกอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ ท่ามกลางพนักงานกว่า 194,000 คน ดำเนินธุรกิจในกว่า 170 ประเทศทั่วโลก

บทสรุปของเรื่องนี้คือ หัวเว่ยต้องลบคำครหาจากนักวิเคราะห์ให้ได้ โดยเฉพาะข้อกล่าวหาว่าธุรกิจเหล่านี้อาจไม่สามารถสร้าง ‘รายได้และกำไรที่เพียงพอ’ เหมือนที่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ทำได้ในระยะสั้น ซึ่งหากทำได้ ธุรกิจที่ยังไม่ตายแต่เลี้ยงไม่โตอย่างสมาร์ทโฟน 
ก็จะไม่ใช่ไมเกรนที่ทำให้หัวเว่ยปวดสมองอีกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น