xs
xsm
sm
md
lg

ทช.จับมือนักวิชาการ การันตีกำแพงคอนกรีตลดความรุนแรงของอุบัติเหตุได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมทางหลวงชนบทจับมือ 4 สถาบันวิศวกรรมยืนยันใช้กำแพงคอนกรีต (Concrete Barrier) เพื่อความปลอดภัยบนทางหลวง รับแรงกระแทกรถไม่เหินข้าม กรณีหุ้มยางพารายิ่งปลอดภัยและช่วยอุดหนุนเกษตรกร

นายไกวัลย์ โรจนานุกูล รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้แถลงข่าวการเพิ่มความปลอดภัยบนถนนทางหลวงโดยกำแพงคอนกรีต (Concrete Barrier) พร้อมด้วยผู้บริหาร ทช. ได้แก่ นายโกสินท์ พิทยะเวสด์สุนทร นายวิศว์ รัตนโชติ วิศวกรใหญ่ นายทวี แสงสุวรรณโณ ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ วิจัยและพัฒนา รักษาการในตำแหน่งวิศวกรใหญ่ และ ดร.วีรเดช ชีวาพัฒนานุวงศ์ วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ สำนักสำรวจและออกแบบ และมีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา เช่น รศ.อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ดร.อาณัติ หาทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ศ.ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการสาขาป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและการเสียชีวิต วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และ ผศ.ดร.ปรีดา พิชยาพันธ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เข้าร่วมด้วย

เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเพิ่มความปลอดภัยบนทางหลวงโดยกำแพงคอนกรีต (Concrete Barrier) ให้แก่ประชาชน ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีความห่วงใยในความปลอดภัยของประชาชน โดยสังเกตได้จากสถิติของ WHO 2016 ได้รายงานอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนของประเทศไทยมีการเสียชีวิตกว่า 32.7 รายต่อ 100,000 ประชากร และจากสถิติการชนประสานงาบนถนนทางหลวงและทางหลวงชนบทระหว่างปี พ.ศ. 2560-2562 พบว่ามีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุรวม 712 ครั้ง

ดังนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จึงได้มอบนโยบายให้ทำการศึกษาเพื่อสร้างความปลอดภัยบนถนนให้แก่ประชาชน กระทรวงคมนาคมจึงร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยเพื่อลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุ พบว่าหากมีการชนแบริเออร์คอนกรีตแบบ Single Slope รถจะเปลี่ยนทิศทาง และเมื่อได้รับแรงกระแทกรถจะไม่เหินข้ามฝั่ง ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงแก้ปัญหาอุบัติเหตุอย่างเป็นระบบด้วยการใช้ Safe System Approach ที่ทั่วโลกยอมรับ

โดยหนึ่งในมาตรการนี้มีแนวทางการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางพาราธรรมชาติ (Rubber Fender Barrier : RFB) และเสาหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP)

และเพื่อส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศและช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้สามารถพัฒนาและแปรรูปยางพาราให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และได้มีการนำไปทดสอบทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยสถาบัน Korea Automobile Testing & Research Institute (KATRI) ซึ่งเป็นสถาบันการทดสอบการชนที่นานาชาติให้การยอมรับ ILAC - International Laboratory Accreditation Cooperation ด้วยความเร็ว 120 กม./ชม.

ปรากฏว่ารถเปลี่ยนทิศทางไม่เหินข้าม ซับแรงกระแทกได้ผลไม่เกิน 60 g สร้างความปลอดภัยจากแรงปะทะและสามารถลดอัตราความรุนแรงที่ทำให้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ ซึ่งสอดรับกับนโยบายรมว.คมนาคมในการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์จากความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. เนื่องจากการชนจำนวน 9 ครั้ง (ในประเทศไทย 8 ครั้ง / เกาหลี 1 ครั้ง) สามารถสรุปได้ว่า เมื่อเกิดการชนกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางพาราธรรมชาติ (RFB) รถเปลี่ยนทิศทางไม่เหินข้าม สามารถรับแรงอัดได้อย่างปลอดภัย และสามารถป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ผู้ใช้ทาง

และจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563 อนุมัติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงคมนาคมขอรับงบประมาณเพื่อจัดทำแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ (Rubber Fender Barrier) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post) และเห็นควรให้กระทรวงคมนาคมติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพ ความคุ้มค่า ผลตอบแทนเศรษฐกิจ และสังคมของโครงการนำร่องระยะแรก ในปีงบประมาณ 2563 ที่ได้นำร่องติดตั้งบนถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท

โดยมติ ครม.เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทใช้งบกลางปีงบประมาณ 2563 รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รวมทั้งสิ้น 2,771.1784 ล้านบาท ซึ่งมีการดำเนินการก่อสร้าง RFB และ RGP จำนวน 94 โครงการ ระยะทาง 341.345 กิโลเมตร และมีผลการดำเนินงานภาพรวมก้าวหน้าไปแล้ว 95%

กระทรวงคมนาคมได้มีการศึกษาติดตามความคุ้มทุน โดยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ร่วมกันวิเคราะห์ทั้งการประเมินตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสังคม โดยการลงพื้นที่ตรวจสอบของคณาจารย์

จากรายงานพบว่าแท่งคอนกรีตแบริเออร์ (Single Slope) (ยังติดตั้งไม่สมบูรณ์) สามารถรับแรงกระแทกของการชนของรถยนต์ได้อย่างปลอดภัย และมีการวิเคราะห์ค่าที่เหมาะสมในการซื้อแผ่นยางครอบแท่งคอนกรีตประมาณที่ราคาแผ่นยางรมควันชั้น 3 ที่ราคาไม่เกิน 58.10 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น หากมีการติดตั้งกำแพงคอนกรีต Single Slope ระยะทางกว่า 12,000 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ไม่น้อยกว่า 9,547.78 ล้านบาทต่อปี

นอกจากจะเป็นการลดอัตราการสูญเสียและเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ประชาชนแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง พร้อมส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ สร้างรายได้และช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง พร้อมส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น