xs
xsm
sm
md
lg

“เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” สร้างกลุ่มบริบาลผู้สูงอายุ ชุมชนต้นแบบ “แม่มอก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เนื่องจากสังคมไทย กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย จึงได้เกิดขึ้นในหลายแนวทาง ร่วมถึง “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” หนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาเร่งด่วน หรือ แนวทางที่มุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว Quick wins ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ หน่วยงานพันธมิตร เพื่อขับเคลื่อนสังคมผู้สูงอายุให้เป็นไปตามเป้าหมายผ่านโครงการต่างๆ

สร้างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่อยอดสู่เอสเอ็มอี

ทำไมจะต้องสร้างกลุ่มบริบาลผู้สูงอายุ เพราะปัจจุบันและในอนาคตจะมีผู้สูงอายุ ที่ติดเตียงเพิ่มมากขึ้น การดูแล โดย รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลอย่างเดียวไม่เพียงพอ จำเป็นที่จะต้องสร้างกลุ่มผู้บริบาลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ขึ้นมา และสาเหตุที่ต้องสร้างกลุ่ม เนื่องจากการทำงานเป็นกลุ่มจะช่วยเหลือกัน คอยให้คำปรึกษากัน ดีกว่าการทำงานคนเดียวโดดเดียวเกิดข้อผิดพลาดได้

ทั้งนี้ การทำงานแบบร่วมกลุ่มกัน ก็ก่อให้เกิดเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน การรับงานก็จะรับจากส่วนกลาง และกระจายงานให้กับสมาชิกในกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง การทำงานง่ายขึ้นและเป็นระบบมากขึ้น ส่วนในอนาคตกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เหล่านี้ อาจจะต่อยอด ไปเปิดสถานบริบาลผู้สูงอายุ หรือ เนอร์ซิ่งโฮม และจัดตั้งเป็นบริษัท เราจะได้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีศักยภาพจากพื้นที่ในชุมชนเล็กนี้ ต่อไป

 ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์
“แม่มอก” ชุมชนต้นแบบสร้างกลุ่มบริบาลผู้สูงอายุ

ครั้งนี้ พามารู้จัก กับชุมชนต้นแบบโมเดลความสำเร็จ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 10 โครงการเปลี่ยนเกษียณให้เป็นพลัง ได้แก่ ชุมชนต้นแม่มอก ตำบลแม่มอก อำเภอเภิน จังหวัดลำปาง เป็นชุมชนที่สร้างกลุ่มผู้บริบาลผู้สูงอายุ ที่มีคุณภาพ โดยได้ทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เล่าว่า วิทยาลัยฯ ของเรา ได้รับเลือกดำเนินโครงการ พัฒนาศักยภาพชุมชนต้นแบบ สู่วิสาหกิจชุมชน ด้านการบริบาลผู้สูงอายุ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา วิทยาลัยฯได้ สร้างชุมชนต้นแบบ ได้แก่ ชุมชนแม่มอก ตำบลแม่มอก อำเภอเภิน จังหวัดลำปาง โดยการสร้างองค์ความรู้ที่จะผลิตผู้บริบาลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ผ่านการอบรม ซึ่งผู้มาเข้ารับการอบรม จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ผู้สูงอายุที่อยู่ในวัยเกษียณ 60 ปีขึ้นไป ที่ยังพอมีแรงจะทำงานตรงนี้ได้ และ กลุ่มที่สองวัยทำงาน หนุ่มสาวที่ตกงานกลับมาอยู่บ้าน



3 โมเดลความสำเร็จ สร้างต้นแบบชุมชนแม่มอก

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา การสร้างโมเดลแม่มอกครั้งนี้ สรุปออกมาได้ 3 โมเดล คือ โมเดลแรก คือ สร้างกลุ่มผู้บริบาลสร้างอาชีพให้คนในชุมชน ทั้งผู้สูงอายุ และ วัยทำงาน หนุ่มสาวชาวไร่ ชาวนา หรือ คนตกงาน และ โมเดลที่ 2 คือ การผลักดันกลุ่มผู้บริบาลให้เกิดเป็น วิสาหกิจชุมชน และต่อยอดไปสู่การสร้างธุรกิจเอสเอ็มอีในอนาคต และโมเดลที่ 3 ขับเคลื่อนสร้างชุมชนด้านการท่องเที่ยว โดยได้ดำเนินการที่จังหวัดน่าน เป็นการส่งเสริมกลุ่มผู้บริบาล ที่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตัวเองสามารถนำผู้สูงอายุท่องเที่ยวในถิ่นนั้นๆได้ และในอนาคต เลือกคนที่มีศักยภาพด้านภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษายุโรป หรือว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ฯลฯ เพื่อที่จะรองรับผู้สูงอายุจากต่างประเทศซึ่งต้องการเข้ามาอยู่ในเมืองไทย

ศ.พญ.จิรพร กล่าวว่า ทางวิทยาลัยฯ ได้ดำเนินการอบรมผู้บริบาลผู้สูงอายุ ได้ประมาณ 3 ปี หลักสูตรการอบรมแบ่งออกเป็น หลักสูตรพื้นฐานใช้ระยะเวลาการอบรมประมาณ 80 ชั่วโมง แต่สิ่งที่สังคมเราขาดมากและต้องการผู้บริบาลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ คือ ผู้บริบาลที่จบหลักสูตรขั้นสูง ผ่านการอบรมประมาณ 420 ชั่วโมง ซึ่งทางเรามุ่งเน้นและพยายามให้ผู้เข้าอบรมผ่านหลักสูตร 420 ชั่วโมง เพื่อรองรับความต้องการของตลาด ที่ต้องการผู้บริบาที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน แต่เราก็ไม่ได้ทิ้งกลุ่มผู้บริบาลที่มาอบรม และสอบไม่ผ่าน 420 ชั่วโมง เขาก็สามารถไปทำงานในกลุ่มผู้บริบาลพื้นฐานได้


รายได้ ผู้บริบาลผู้สูงอายุ

ในส่วนของรายได้ ของผู้บริบาลผู้สูงอายุ รายได้มีตั้งแต่ เดือนละ 12,000 บาท 15,000 บาท ถึง 18,000 บาท ไม่ร่วมค่าอาหารอีกวันละ 150 บาท หรือ ถ้าจ้างในวันหยุด คิดวันละ 800 บาท รายได้แตกต่างกันออกไปตามสถานที่ เขาไปให้บริการ บางคนก็รับเป็นรายวัน อย่างน้อยขั้นต่ำวันละ 300 บาท ไม่รวมค่าอาหาร งานที่กลุ่มบริบาลผู้สูงอายุ ดูแลผู้สูงอายุ พาไปออกกำลัง ป้อนข้าว ป้อนยา อาบน้ำ พาไปโรงพยาบาล เป็นต้น บางคนก็ไปทำงานที่โรงพยาบาล ไปช่วยพยาบาลทำงานในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ ฯลฯ


สำหรับข้อมูลผู้สูงอายุไทย ในกลุ่มของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 11,627,130 คน หรือ คิดเป็น 17.57% โดยภาคเหนือ มีจำนวนผู้สูงอายุ 2,389,870 คน หรือ 19.8% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนผู้สูงอายุ 3,684,395 คน หรือ 16.86% ภาคกลาง ผู้สูงอายุ จำนวน 3,357,878 คน หรือ 18.66% ภาคตะวันออก ผู้สูงอายุจำนวน 754,379 คน หรือ 15.56% ภาคใต้ ผู้สูงอายุ จำนวน 1,440,608 คน หรือ 15.22%


การจับมือ 20 หน่วยงาน เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมของไทย มีประเด็นปัญหาความยากจนที่ประชาชนจะต้องขาดความมั่นคงในชีวิต ไม่สามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม นอกจากนั้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการที่ประชากรขาดทักษะทางด้านดิจิทัล เป็นอุปสรรคในการเข้าสู่ฐานข้อมูล เทคโนโลยีและนวัตกรรม แนวทางที่มุ่งผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว Quick wins จะมาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว

โดยกลยุทธ์ในการขับเคลื่อน โครงการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง ปี 2564-2566 ประกอบด้วย ในปี 2564 พัฒนาทักษะ และสร้างแพลฟอร์ม โดยส่งเสริมการจัดกิจกรรม สนับสนุนงานวิจัย สร้างความมือในการขับเคลื่อน และ ปี 2565 เพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ เป้าหมาย 60,000 คน สร้างทีมสร้างโอกาส และประเมินผลภาพรวม และในปี 2566 เป้าหมายเพิ่มผู้สูงอายุให้ได้ 100,000 คน ผลักดันให้เกิดทักษะด้านอื่นๆ ขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชน สร้างอาชีพใหม่ให้กับผู้สูงอายุ


กลไกการดำเนินงาน ปี 2564- 2566

สำหรับแผนงานกลไกการดำเนินงาน ในปี 2564 เพื่อผู้สูงอายุ ประกอบด้วย การพัฒนารูปแบบOnline National Learning Platform โดยเป้าหมาย เพื่อให้ผู้สูงวัยมีทักษะในการประกอบอาชีพ กลไกการดำเนินงาน Innovation Home นำนวัตกรรมเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้เกษียณดูแลตนเองได้ และประกอบอาชีพได้ตามทักษะ ส่วนแผนงานและกลไกเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง กลไกการดำเนินงาน แบบ Big Data เป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสให้คนเกษียณอายุ มีแรงจูงใจเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้

นอกจากนี้ แผนงานที่จะร่วมกับทางมหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินงานหลักสูตรเสริมทักษะผู้สูงอายุ ในออนไลน์ และ ออนไซด์ ในโครงการ100 Senior Room 100 University เป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไทย และกลไกดำเนิน มาตรการและสิทธิประโยชน์ของสถานประกอบการที่มีอัตราการจ้างผู้สูงอายุ เป้าหมาย เพื่อพัฒนาทักษะและการประกอบอาชีพของผู้เกษียณและผู้สูงวัยให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และกลไกดำเนินงานสุดท้าย คือ จิตอาสา วัยพัฒนาคนรุ่นใหม่ 2 Gens To Goal เป้าหมาย พัฒนาทักษะเฉพาะของผู้เกษียณเป็นช่องทางถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่

ในส่วนการดำเนินงานในลักษณะความร่วมมือระหว่าง วช. และหน่วยงานความร่วมมือ 20 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมกิจการผู้สูงอายุ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จังหวัดสงขลา จังหวัดขอนแก่น การเคหะแห่งชาติ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


รมว.อว.อยากเห็นทุกคนมองทุกวัยสำคัญเท่ากันหมด

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะมีคนสูงอายุมากขึ้น คนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ของประชากร การคิดนอกกรอบ คิดเปลี่ยนเขามาเป็นพลัง ในครั้งนี้ มีคนจาก 20 หน่วยงานจับมือกัน ชี้ให้เห็นว่าการที่จะเปลี่ยนคนเกษียณให้เป็นพลังมันมีกระบวนการมีรายละเอียดมีข้อปลีกย่อยมาก ทั้งเรื่องของสุขภาพทั้งเรื่องการเรียนรู้ทั้งเรื่องการเข้ากับคนรุ่นก่อนได้

ถ้าคนในวัย Yold (วัยเริ่มแก่) ไม่สรรหา คิดว่าตัวเองเก่งคิดว่าอยู่มานานก็จะเข้ากับคนอื่นไม่ได้ ต้องมีจิตวิทยาว่าด้วยจะทำยังไงให้คนวัย Yold คิดในเชิงบวกทำยังไงให้คนวัยอื่นๆเห็นว่าคนในวัย Yold มีประโยชน์ ที่สำคัญสังคมจะต้องฝึกเห็นคนทุกวัยมีความหมายหมดและก็ต้องฝึกให้คนต่างวัยไม่เห็นปรปักษ์เป็นคู่แข่งเป็นคู่เปรียบเทียบ ประสานคนทุกช่วงวัยในครอบครัวให้เห็นเหมือนกันไปในทิศทางเดียวกันไม่ว่าจะอยู่ในรุ่นไหนก็ตาม

“เดิมเรามองว่าคนสูงวัยเป็นปัญหาจะเป็นตุ้มถ่วงสังคม อันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่มองด้วยมุมมองแบบนี้ แต่ว่าข้อเท็จจริงแบบเดิมมองด้วยมุมมองบวกกับหลักฐานบวกกับหลักวิชาที่ผมยกตัวอย่าง Yold เป็นพลังเศรษฐกิจ Yold สามารถทำอะไรได้ และ Yold เป็นคนที่นอกจากมีอายุมากแล้วยังเป็นคนที่มีสุขภาพดีด้วย ก็จะเป็นพลังทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ของบ้านเมือง ” รมว.อว.กล่าว


สำหรับ ทั้ง 10 โครงการที่จะขับเคลื่อน การเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง ร่วมกับ สถาบันการศึกษา ทั้ง 10 แห่ง และหน่วยงานต่างๆ มีดังนี้ 1.แผนงาน ไทยอารี โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงของมนุษย์แบบองค์รวม การสูงวัยในท้องถิ่น 2. พัฒนาศักยภาพชุมชนต้นแบบ สู่วิสาหกิจชุมชน ด้านการบริบาลผู้สูงอายุ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ 3. โครงการสูงวัยดิจิทัล โดย มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 4.พลังเกษียณสร้างชาติ โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) 5. สานพลังบวกผู้เกษียณสู่การสร้างสังคมแห่งการพัฒนาในยุควิถีชีวิต โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

และ 6.พัฒนาโรงเรียนผู้สูงวัย เพื่อสร้างสมรรถนะการสร้างอาชีพ เพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ 7. ห้องเรียนวัยเกษียณ โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานกับ กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อสร้างทักษะอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ 8. เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง ต่อยอดทักษะ ความรู้ การจัดการสมัยใหม่ เพื่อการประกอบอาชีพ โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ การเคหะแห่งชาติ 9. โรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบพึ่งตนเอง โดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกับ กรมกิจการผู้สูงอายุ และ 10. การพัฒนาเกษตรกรอาชีพเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริ ทฤษฎีใหม่ สู่ยุคเกษตรกรรมใหม่ 4.0 โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *
กำลังโหลดความคิดเห็น