xs
xsm
sm
md
lg

กพช.ไฟเขียวเปิดเสรีก๊าซฯ เฟส 2 เคาะยุบ FSRU กฟผ.ดึงลงทุนร่วม ปตท. 50% หนองแฟบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กพช.เคาะเดินหน้าเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ส่งเสริมนำเข้า LNG มอบ “กกพ.” จัดทำรายละเอียด คาดเปิดให้นำเข้าได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้สำหรับผู้นำเข้ารายใหม่ พร้อมยุบโครงการ FSRU กฟผ. ปรับให้ไปร่วมทุนกับ ปตท.คนละครึ่งที่คลัง LNG หนองแฟบแทน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า กพช.ได้เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ที่กำหนดให้คลังแอลเอ็นจี (LNG Terminal) และท่อส่งก๊าซฯ ให้บุคคลที่ 3 มาใช้ได้ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปพิจารณารายละเอียดทั้งหมดให้เสร็จภายในไตรมาส 2 เพื่อเสนอกลับมายัง กพช.เห็นชอบก่อนที่จะเปิดให้นำเข้า ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในไตรมาส 3 ในส่วนของผู้นำเข้ารายใหม่ๆ เช่น บีกริม, กัลฟ์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ดำเนินการเฟส 1 ด้วยการเพิ่มจำนวนผู้นำเข้า LNG หรือ Shipper ที่มีเพียง ปตท. ด้วยการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำร่องเป็น Shipper และการเปิดเสรีก๊าซฯ เฟส 2 จะแบ่ง 1. ตลาดที่กำกับโดย กกพ.ตามที่ กพช.กำหนด (Regulated Market) ซึ่งประกอบด้วย 1. ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติจากซัปพลายเดิม (Old Supply) และ Shipper ที่จัดหา LNG เพื่อนำมาใช้กับภาคไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ และ 2. กลุ่มที่จัดหา LNG เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ภาคอุตสาหกรรมและกิจการของตนเอง (Partially Regulated Market)

สำหรับผู้ใช้ก๊าซฯ จากซัปพลายเดิมมอบให้ ปตท.บริหารจัดการ ซึ่งประกอบด้วยแหล่งก๊าซฯ ในประเทศ เมียนมา และ LNG 5.2 ล้านตันต่อปี และให้เปิดประมูล LNG Spot Flexible ราคาถูกกว่า Pool Gas ภายใต้กำกับของ กกพ.ทั้งด้านปริมาณและเงื่อนไข ส่วน Shipper รายใหม่ จัดหา LNG ให้โรงไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ โดยจัดหา LNG ที่เป็น New Supply นอกเหนือจากซัปพลายเก่า เป็นต้น

ขณะที่กลุ่มที่จัดหา LNG เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ภาคอุตสาหกรรมและกิจการของตนเอง หรือกลุ่มที่ไม่มี PPA กับภาครัฐ Shipper รายใหม่ จัดหา LNG ให้โรงไฟฟ้าตนเองหรือใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยจัดหา LNG ที่เป็น New Supply นอกเหนือจาก Old Supply ภายใต้การกำกับของ กกพ.ด้านปริมาณและคุณภาพการให้บริการ

“เฟส 2 กำหนดให้ LNG Terminal และท่อส่งก๊าซฯ เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้และเชื่อมต่อได้ และกำหนดให้ ปตท.แยกธุรกิจท่อเป็น TSO เป็นนิติบุคคลให้แล้วเสร็จภายใน 15 เดือน และมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) และ ปตท.กำหนดปริมาณการนำเข้า LNG ภายใต้การกำกับของ กกพ. และให้ กกพ.บริหารความสามารถของ LNG Terminal และทบทวนความเหมาะสมของ TPA Regime และ TPA Code ส่วนเฟส 3 จะก้าวไปสู่ระบบซื้อมาขายไปหรือเทรดดิ้งที่เป็นเสรีทั้งระบบอย่างแท้จริงซึ่งคงจะใช้เวลา” นายกุลิศกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช.ยังเห็นชอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าตามแผน PDP 2018 (Rev.1) จากศักยภาพของโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯ และ LNG Terminal ทั้งที่มีอยู่และที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานฯ เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าในเขตนครหลวง 5,420 MW โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับรูปแบบการลงทุนจากโครงการ FSRU ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (F-1) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เป็นร่วมลงทุนกับ ปตท. สัดส่วน 50 : 50 ในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ต.หนองแฟบ จ. ระยอง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี และเห็นชอบให้ ปตท.เป็นผู้ดำเนินการโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าตามแผน PDP2018 (Rev.1)
กำลังโหลดความคิดเห็น