xs
xsm
sm
md
lg

Huawei อัตราเติบโตหดชัดครั้งแรก อ่วมพิษหลังสหรัฐฯ ลงดาบ 2 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


การเติบโตของหัวเว่ยได้รับแรงหนุนจากตลาดในประเทศจีน ทำให้รายได้ในประเทศจีนเพิ่มขึ้น 15.4% เป็น 584,900 ล้านหยวน
หัวเว่ย (Huawei) ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจีนโชว์ตัวเลขกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นอีก 3.2% ในปี 63 ที่ผ่านมา แต่การเติบโตของรายได้กลับชะลอตัวอย่างเห็นชัด ผลจากรายได้รวมนอกพื้นที่จีนที่ลดลง ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 และแรงกดดันของสหรัฐฯ ที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งผลักดันให้บริษัทรุกคืบสู่ธุรกิจใหม่เพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะธุรกิจเอนเทอร์ไพรส์ที่กำลังไปได้สวย

Huawei เปิดเผยตัวเลขกำไรสุทธิว่าเพิ่มขึ้น 3.2% เป็น 64,600 ล้านหยวน (ราว 308,084 ล้านบาท) ในปี 63 ในขณะที่รายรับเพิ่มขึ้น 3.8% เป็น 891,400 ล้านหยวน หรือ 4,251,190 ล้านบาท

ผลประกอบการของหัวเว่ยสะท้อนว่าบริษัทมีอัตราการเติบโตลดลงจากปี 62 ที่เคยทำได้ 5.6% คาดว่าเป็นผลกระทบจากการถูกขึ้นบัญชีดำของรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่ปี 61การถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคมสัญชาติอเมริกันทำให้ธุรกิจสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยเหมือนตกอยู่ในความมืดมน แม้จะไม่มีการเปิดเผยสถิติยอดขายที่หดตัวชัดเจน

***จากเคยโต 30%  

เคน หู (Ken Hu) ประธานหัวเว่ย ยอมรับว่ารายได้ของบริษัทในปี 63 ไม่เติบโตเหมือนทุกปีที่มักจะอยู่ที่ 30% หรือมากกว่านั้น แต่ชะลอตัวลงเหลือประมาณ 19% ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 62

"ในปีที่ผ่านมา เราเผชิญกับความทุกข์ยาก ตลอดปี 63 เราเห็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัว และชีวิตไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเรา ข้อจำกัดของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจผู้บริโภคของเรา โดยเฉพาะธุรกิจโทรศัพท์มือถือ”

ผู้บริหารหัวเว่ยระบุว่า การเติบโตที่ช้าลงในปี 63 เป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 และมาตรการของสหรัฐฯ ที่ "ไม่ยุติธรรม" แม้ที่ผ่านมา หัวเว่ยจะย้ำมาตลอดว่ายอดขายสมาร์ทโฟนของบริษัทยังคงพุ่งสูงขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ ตัดหัวเว่ยไม่ให้ซื้อส่วนประกอบหลักจากบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีสัญชาติอเมริกัน และสั่งห้ามไม่ให้ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ของกูเกิล (Google) ในโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากเชื่อว่ารัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนจะใช้ระบบของหัวเว่ยที่มีทั่วโลกในการสอดแนมข้อมูล แน่นอนว่ารัฐบาลจีนและหัวเว่ยปฏิเสธข้อหาอย่างดุเดือด

จุดนี้หัวเว่ยย้ำว่า แผนกผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค (คอนซูเมอร์) ซึ่งครอบคลุมสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ส่วนตัวอื่นนั้นมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของรายได้รวมบริษัท ล่าสุดกลุ่มนี้มียอดขายเติบโต 3.3% ในปี 63 ที่ผ่านมา ในภาพรวมธุรกิจคอนซูเมอร์มีรายได้ 482,900 ล้านหยวน เบื้องต้น ไม่มีการระบุว่ารายได้ของสมาร์ทโฟนลดลงเท่าใด แต่ผู้บริหารกล่าวว่า การลดลงนั้นถูกชดเชยด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้น 65% จากอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ เช่น สมาร์ทวอตช์ แล็ปท็อป และอุปกรณ์อื่นๆ เบื้องต้นบริษัทมั่นใจว่าจะรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดได้ และบริษัทมีสต๊อกสินค้าเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อิสระกลับมีข้อมูลว่ามาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ มีผลกับหัวเว่ยมากกว่านั้น เพราะการจัดส่งโทรศัพท์ทั้งในและต่างประเทศของหัวเว่ยลดลงมากกว่า 40% ในไตรมาส 4 ของปี 63 

***พิษแบนทำทรงตัว

นอกจากนี้ พันธมิตรของสหรัฐฯ จำนวนหนึ่งได้รับลูก มีแอ็กชันต่อคำเตือนของสหรัฐฯ เกี่ยวกับภัยคุกคามด้านความปลอดภัยของหัวเว่ย จนมีการสั่งห้ามใช้อุปกรณ์เครือข่ายหัวเว่ยในระบบโทรคมนาคมของหลายประเทศ ส่งให้การเติบโตของรายได้ในธุรกิจโอเปอเรเตอร์เน็ตเวิร์กของหัวเว่ยนั้นทรงตัวในปี 63 ที่ผ่านมา คิดเป็นอัตราเติบโตเพียง 0.2%

ธุรกิจของหัวเว่ยหดตัวลงชัดเจนในทุกตลาดนอกเมืองจีน โดยลดลง 8.7% เหลือ 64,400 ล้านหยวนในเอเชีย
สิ่งที่หัวเว่ยทำในวันที่สหรัฐฯ เปลี่ยนตัวมาเป็นประธานาธิบดีโจ ไบเดน คือการเปลี่ยนแปลงแผนธุรกิจครั้งใหญ่ โดยไม่แคร์ว่าหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลไบเดนจะเพิ่งรวมหัวเว่ยไว้ในลิสต์รายชื่อบริษัทโทรคมนาคมของจีนที่ถือว่ามีความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติอยู่ ขณะที่เมิ่ง หว่านโจว (Meng Wanzhou) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ซึ่งเป็นบุตรสาวของซีอีโอและผู้ก่อตั้งอย่าง เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ก็ยังคงอยู่ที่แคนาดาเพื่อต่อสู้คดีส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐฯ ในข้อหาที่เธอและหัวเว่ยละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ

การเปลี่ยนแปลงที่หัวเว่ยทำคือการเจาะตลาดองค์กรและคลาวด์คอมพิวติ้ง ทั้งในแง่ของอุปกรณ์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเครือข่าย 5G ธุรกิจนี้ถูกโปรโมตว่าเป็นจุดแข็งของหัวเว่ย ซึ่งขยายตัวเพิ่มเป็น 2 เท่าเพราะตลาดจีนมีความต้องการสูง

***ตัดนิ้วรักษาหัวใจ

ล่าสุด หัวเว่ยได้ขายธุรกิจโทรศัพท์มือถือราคาประหยัดในแบรนด์ออร์เนอร์ (Honor) ให้กลุ่มบริษัทในประเทศจีนไปเมื่อปลายปีที่แล้ว และกำลังเร่งเดินหน้าผลักดันสร้างระบบนิเวศ หรืออีโคซิสเต็มโดยรอบสมาร์ทโฟนแบรนด์หัวเว่ยที่เหลืออยู่ ซึ่งผู้บริหารหัวเว่ยยอมรับว่าบริษัทจะยังคงเปลี่ยนแนวธุรกิจไปเน้นตลาดองค์กรธุรกิจมากขึ้นต่อเนื่อง

วันนี้รายได้จากส่วนงานองค์กรของหัวเว่ยเพิ่มสูงขึ้น 23% เมื่อเทียบเป็นรายปี เบ็ดเสร็จทำเงินราว 100,300 ล้านหยวน คิดเป็นส่วนธุรกิจที่ยังคงทำรายได้น้อยที่สุดใน 3 กลุ่มธุรกิจหลักของบริษัท

สำหรับธุรกิจผู้ให้บริการ (โพรไวเดอร์) ซึ่งรวมยอดขายอุปกรณ์เครือข่าย 5G หัวเว่ยระบุว่า มีรายได้ 302,600 ล้านหยวน แม้จะเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในปีที่แล้ว แต่ก็เป็นแนวโน้มที่ดีเพราะการเติบโตของหัวเว่ยได้รับแรงหนุนจากตลาดในประเทศจีน ทำให้รายได้ในประเทศจีนเพิ่มขึ้น 15.4% เป็น 584,900 ล้านหยวน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของหัวเว่ยหดตัวลงชัดเจนในตลาดนอกเมืองจีน เพราะรายได้ลดลง 12.2% เหลือ 180,800 ล้านหยวนในยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ขณะเดียวกันก็ลดลง 8.7% เหลือ 64,400 ล้านหยวนในเอเชีย (ไม่รวมจีน) และยังลดลง 24.5% เหลือ 39,600 ล้านหยวนในสหรัฐอเมริกา

ผู้บริหารหัวเว่ยแบ่งรับแบ่งสู้ว่าไม่สามารถพูดได้อย่างชัดเจนว่าการลดลงเป็นผลมาจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 หรือจากปัจจัยทางการเมืองในแต่ละพื้นที่ แต่ส่วนตัวเขามั่นใจว่ายอดขายในต่างประเทศจะลดลงอีกในปี 64

หัวเว่ยเป็นบริษัทเอกชนที่ยอมเปิดเผยผลการดำเนินงานประจำปีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยแย้มให้บริษัท KPMG ในสหรัฐฯ ตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส สำหรับปีนี้บริษัทระบุว่าได้ลงทุน 141,900 ล้านหยวนในการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาในปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 131,700 ล้านหยวนในปีก่อนหน้า

สำหรับกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานของหัวเว่ย ลดลงอยู่ที่ 35,200 ล้านหยวน หดตัว 61.5% จากปีที่แล้ว เนื่องจากการใช้จ่ายในการจัดซื้อสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นในปี 63 และผลจากการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาที่เพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น