xs
xsm
sm
md
lg

กทท.เซ็นสัญญา OR เช่าที่คลังน้ำมันยาว 15 ปี-เร่งศึกษาประมูลแปลง 17 ไร่ พลิกโฉมท่าเรือคลองเตย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กทท.เซ็นสัญญา OR ให้เช่าที่ดินยาว 15 ปี คลังน้ำมัน-LPG ขณะที่เร่งทบทวนศึกษาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ พลิกโฉมท่าเรือคลองเตย 2,353 ไร่เป็น “พอร์ตซิตี้” นำร่อง PPP หรือให้เอกชนเช่าที่ดิน 17 ไร่ พัฒนาแบบ Mixed use เผยบอร์ด กทท.เคาะ เม.ย.นี้จ่ายเยียวยาชาวประมงถมทะเล “ทลฉ.เฟส 3”

วันนี้ (31 มี.ค.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ดินบริเวณคลังพระโขนง-บางจาก สำนักงานและคลังน้ำมัน อาคาร และเขื่อนเทียบเรือบริเวณปากคลองบางจากและปากคลองเจ๊ก กับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งกำหนดเริ่มสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 เป็นระยะเวลา 15 ปี ซึ่งเป็นความร่วมมือในการใช้พื้นที่การท่าเรือฯ ในการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เพื่อรองรับความต้องการพลังงานของผู้บริโภคในเขตภาคกลาง เสริมสร้างความมั่นคงต่อเนื่องสอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล ตลอดจนเป็นศูนย์กลางพลังงานของประเทศไทย โดย กทท.จะได้รับค่าเช่าปีละกว่า 100 ล้านบาท

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ กทท. เปิดเผยว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือ ซึ่งเดิม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เป็นผู้เช่าพื้นที่ ระยะเวลาสัญญา 5 ปี ต่อทุก 5 ปี ต่อมา ปตท.ได้แยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกเป็น OR จึงมีการมอบโอนการเช่าพื้นที่ดังกล่าวให้ OR ดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.ได้มีการพิจารณาการให้เช่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นสัญญาระยะยาว 15 ปี เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศมากขึ้น โดยพื้นที่เช่าประกอบด้วย บริเวณคลังพระโขนง-บางจาก สำนักงาน เนื้อที่จำนวน 41,344 ตร.ม. และคลังน้ำมัน อาคาร และเขื่อนเทียบเรือบริเวณปากคลองบางจากและปากคลองเจ๊ก เนื้อที่จำนวน 3,500.75 ตารางวา รวมพื้นที่ทั้งหมด 44,844.75 ตารางวา

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR กล่าวว่า คลังพระโขนง-บางจากเป็นคลังปิโตรเลียมหลักด้านน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันเจ็ต และ LPG เป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บและกระจายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ความร่วมมือกับ กทท.ในการเช่าพื้นที่ระยะยาวจะสร้างความมั่นคง ซึ่งเป็นการโอนคู่สัญญาจาก ปตท.มาเป็น OR ซึ่งเป็นผู้ทำธุรกิจน้ำมันในกลุ่ม ปตท. โดยพื้นที่หลักเป็นการจัดเก็บคลังปิโตรเลียม ขณะที่บริษัทมีธุรกิจ Non-Oil ด้วย ดังนั้นจะพัฒนาพื้นที่สำหรับจัดเก็บสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันด้วย โดยจะดำเนินการให้สอดคล้องกับสัญญาเช่า

ส่วนทิศทางพลังงานที่จะปรับไปเป็นพลังงานไฟฟ้าในอนาคตนั้น คาดว่าระดับนโยบายของประเทศใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งภายใน 15 ปีทาง OR และ กทท.จะมีแผนพัฒนาร่วมกันเพื่อให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่มากกว่าเป็นคลังปิโตรเลียม ขณะที่บริษัท และ กทท.จะมีการพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาภาคสังคม โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบด้านสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมรอบพื้นที่อีกด้วย

ตั้งหลักพัฒนาท่าเรือคลองเตย นำร่อง PPP แปลง 17 ไร่

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ กทท.กล่าวถึงแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ท่าเรือกรุงเทพ พื้นที่ทั้งหมด 2,353 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ 4 แปลง ว่า จะดำเนินการตามการร่วมลงทุน PPP โดยจะเริ่มจากที่ดิน 17 ไร่ ติดอาคารสำนักงานของ กทท. ส่วนแนวทางการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหารทรัพย์สินนั้นจะดำเนินการคู่ขนานเนื่องจากจะต้องมีการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ก่อน ทั้งนี้ พื้นที่ 17 ไร่เป็นพื้นที่ว่างมีความพร้อมในการดำเนินการ จะมีการทบทวนผลการศึกษาให้เป็นปัจจุบัน จากนั้นจะเสนอบอร์ด กทท.ขอดำเนินการ โดยจะพัฒนาเชิงพาณิชย์แบบ Mixed use เป็น สำนักงาน ศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์แสดงสินค้า นิทรรศการ ศูนย์การประชุม พื้นที่ค้าปลีก เป็นต้น ขณะที่ประเมินมูลค่าที่ดินประมาณ 200,000 บาทต่อตารางวา

เคาะ เม.ย.เริ่มจ่ายเยียวยา ลุยถมทะเล แหลมฉบังเฟส 3

ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 นั้น สำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้เสนอผลคัดเลือกท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ใปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว อยู่ระหว่างกองยุทธศาสตร์และแผนงาน (กยผ.) กระทรวงคมนาคม และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมประกอบ ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ได้ในวันที่ 7 เม.ย.นี้ และหลัง ครม.เห็นชอบจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือนจะสามารถลงนามสัญญากับกลุ่ม GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ได้

ส่วนงานถมทะเล ซึ่ง กทท.เป็นผู้ดำเนินการนั้นอยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งบอร์ด กทท.ได้อนุมัติและจะเริ่มจ่ายเยียวยาได้ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 เป็นต้นไป โดยมี 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มประมงขนาดเล็ก ซึ่งเจรจาค่าเยียวยาเรียบร้อยแล้ว จะจ่ายเป็นรายปี ปีละ 130 ล้านบาท เป็นเวลา 6 ปี โดยชาวประมงแต่ละครัวเรือนได้มาลงทะเบียนแล้ว 2. กลุ่มผู้เลี้ยงหอย อยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อกำหนดค่าเยียวยา คาดว่าจะยุติเร็วๆ นี้ กทท.พร้อมเจรจาและเยียวยา






กำลังโหลดความคิดเห็น