xs
xsm
sm
md
lg

กกพ.ยืนยันไฟฟ้ามั่นคงแน่แม้ก๊าซฯ เอราวัณอาจผลิตต่ำกว่าแผน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สำนักงาน กกพ.ยืนยันไฟฟ้ามีความมั่นคงแม้ปี 2565 ก๊าซฯ แห่งเอราวัณอาจผลิตต่ำกว่าแผน ส่วนต้นทุนค่าไฟฟ้าต้องรอลุ้นราคาแอลเอ็นจีในช่วงดังกล่าวเป็นสำคัญมีโอกาสทั้งต่ำและสูง พร้อมหารือแนวทางบริหารจัดการหากจำเป็นก็อาจแก้กฎหมาย กรณีเอกชนนำเข้าแอลเอ็นจีโดยไม่ผ่านระบบท่อก๊าซฯ ปตท.

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่บริษัทในเครือ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมยังไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ เพื่อผลิตก๊าซฯ ต่อเนื่องหลังหมดอายุสัมปทานปิโตรเลียมในเดือนเมษายน 2565 นั้น ทางสำนักงาน กกพ.ได้มีการหารือทุกหน่วยงานเพื่อเตรียมแผนรองรับโรงไฟฟ้าต่างๆ ทั้งการเร่งผลิตแหล่งก๊าซในประเทศเป็นหลัก และส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี ) ซึ่งขอยืนยันว่าไฟฟ้าไม่ขาดแคลน มีความมั่นคง จัดหาก๊าซฯ เพียงพอ

“การนำเข้าแอลเอ็นจีจะเป็นบางส่วนและเน้นมาผลิตไฟฟ้าซึ่งอาจมีผลต่อค่าไฟฟ้าแต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับราคาแอลเอ็นจีในขณะนั้นด้วย ก็ยังตอบยากเพราะโอกาสที่ราคาต่ำก็มีเช่นกัน” นายคมกฤชกล่าว

นายคมกฤชกล่าวว่า ในส่วนของเอกชนที่ยื่นขอเป็นผู้รับใบอุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (ชิปเปอร์) ในขณะนี้ยังมีเพิ่มเติมเพียง 3 ราย คือ กลุ่มเอสซีจี, เอ็กโก้กรุ๊ป และพีทีทีโกลบอลแอลเอ็นจี ซึ่งการพิจารณาอนุมัติจะรอดูนโยบายการเปิดเสรีที่กระทรวงพลังงานจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ก่อน ส่วนกรณี บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือเอสจีพี เตรียมแผนนำเข้าแอลเอ็นจี โดยสร้างคลังนำเข้าและขนส่งจำหน่ายในรูปของเหลวโดยรถยนต์นั้นตามกฎหมายของ กกพ. ขณะนี้ยังไม่มีอำนาจดูแลในเรื่องดังกล่าว

“กกพ.ดูเฉพาะในส่วนของประโยชน์สาธารณะ ใช้โครงข่ายหรือท่อก๊าซฯ ร่วมกัน ดูแลคลังเก็บรักษาและแปรสภาพ ซึ่งกรณีเอสจีพีไม่เข้าข่ายดังกล่าวเพราะไม่มีการแปรสภาพก๊าซจากของเหลวเป็นก๊าซฯ และไม่ได้ใช้ท่อก๊าซของ ปตท. อย่างไรก็ตาม กรณีที่เอสจีพีวิ่งไปส่งลูกค้า เมื่อลูกค้ารับซื้อแล้วแปรสภาพเป็นก๊าซฯ ทางลูกค้าก็ต้องมาขออนุญาตจดแจ้งต่อสำนักงาน กกพ.ตามกฎหมายกำหนด ดังนั้น ในภาพรวมสำนักงาน กกพ.อาจจะหารือกับหน่วยงานด้านนโยบายว่าหน่วยงานใดจะดูแล เพราะในขณะนี้ เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงร่างกฎหมาย กกพ. ซึ่งหากจะให้สำนักงาน กกพ.เข้าไปดูแลภาพรวมทั้งหมดก็ต้องหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อแก้ไขกฎหมายในการดูแลดังกล่าวต่อไป” นายคมกฤชกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น