xs
xsm
sm
md
lg

จับตาเทอร์มินัลด้านเหนือ 4.2 หมื่นล้าน คมนาคม-ทอท.เมินเสียงค้าน ป.ป.ช. ดันชง ครม.วัดใจนายกฯ ด่านสุดท้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ได้มีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 โดยมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการป้องกันทุจริต กรณีโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 การก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) วงเงิน 41,261 ล้านบาท และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2564 ได้ให้ความเห็นชอบข้อเสนอแนะดังกล่าวของ ป.ป.ช.ที่คัดค้านการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ ทว่า! ถึงแม้ ครม.จะเห็นชอบตามที่ ป.ป.ช.เสนอ แต่ยังไม่ใช่บทสรุปของการพัฒนาสุวรรณภูมิ เฟส 2 เพราะ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม และผู้บริหารบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ยังคงเดินหน้าที่จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือให้ได้

“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” กล่าวว่า ป.ป.ช.ศึกษาเรื่องการขยายขีดความสามารถสนามบินสุวรรณภูมิ และเสนอความเห็นไปยัง ครม.เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ โดยระบุว่าควรขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออกก่อน เนื่องจากมีความพร้อม ออกแบบไว้แล้ว ซึ่งตนได้รายงานต่อที่ประชุม ครม.ว่าจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงคมนาคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปว่าจะมีการก่อสร้างทั้ง 3 โครงการ ได้แก่ ส่วนต่อขยายอาคาร East & West Expansion และอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) ที่จะเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิเป็น 120 ล้านคน/ปี วงเงินลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท ซึ่ง ทอท.มีความพร้อมและไม่มีปัญหาเรื่องเงินลงทุนแต่อย่างใด

ป.ป.ช.ให้ชะลอ “อาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ” หากจำเป็นให้ก่อสร้างลำดับสุดท้าย

หนังสือจาก ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะชัดเจน ว่า 1. ทอท.ควรเร่งดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 ซึ่งอยู่ในแผนงานเดิมโดยเร็ว ให้สอดคล้องกับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ที่กำลังจะเปิดให้บริการในปี 2565 และควรดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันตก (West Expansion) ในคราวเดียวกันเพื่อให้สนามบินสุวรรณภูมิ สามารถรองรับผู้โดยสารสูงสุด 75 ล้านคน/ปี เพื่อลดความแออัดของอาคารผู้โดยสารปัจจุบัน

2. ทอท.ควรดำเนินการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ตามความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) อย่างเคร่งครัด ที่เห็นควรให้ขยายอาคาร East & West Expansion ก่อน และไปก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ เพื่อให้มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารสูงสุดที่ 120 ล้านคน/ปีเป็นลำดับแรกก่อน แล้วจึงนำโครงการก่อสร้าง North Expansion มาพิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงบประมาณ และสภาพัฒน์ ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.ดังกล่าว โดยสำนักงบประมาณ มีหนังสือลงวันที่ 1 ก.พ. 2564 ระบุว่า เห็นสมควรที่ ครม.จะรับทราบข้อเสนอแนะตามที่ สำนักงาน ป.ป.ช.เสนอ โดยมอบหมายให้ ทอท.พิจารณาก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศตะวันออก และส่วนต่อขยายด้านตะวันตก ในคราวเดียวกันและพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิตามคำแนะนำของสภาพัฒน์และให้รายงานความคืบหน้าต่อ ครม.เป็นการเร่งด่วน

ในกรณีที่ ป.ป.ช.มีความเห็น เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 ที่กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เสนอมาตรการ ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ในเรื่องการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต

ด้านเลขาฯ สภาพัฒน์ มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 9 ก.พ. 2564 ระบุว่า ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขอให้สภาพัฒน์เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. เรื่องข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตกรณีศึกษา โครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 กรณีก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) ของสำนักงาน ป.ป.ช.นั้น สภาพัฒน์มีความเห็นว่าควรรับทราบข้อเสนอของ ป.ป.ช.ดังกล่าว และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม และ ทอท.นำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาโครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิโดยเร่งก่อสร้างอาคาร East Expansion ให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการก่อสร้างเนื่องจากมีผลกระทบต่อความสะดวกในการเดินทางของผู้โดยสารในระดับที่ต่ำกว่าสถานการณ์ปกติ และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการผู้โดยสารให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่จะฟื้นตัวภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดลง

“คมนาคม-ทอท.” เมิน! ป.ป.ช. ดันสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ

ขณะที่ความเห็นของกระทรวงคมนาคม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 ก.พ. 2564 โดยระบุว่า กระทรวงคมนาคมรับทราบข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.กรณีก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) พร้อมแนบรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564

โดยได้มีมติ 1. เห็นด้วยกับการที่ ทอท.จะก่อสร้างNorth Expansion และส่วนต่อขยายอาคาร East & West Expansion 3 โครงการ ในช่วงปี 2564-2567 วงเงินลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท ตามที่ ทอท.เสนอ ว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในการกระตุ้นเศรษฐกิจและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ช่วยลดผลกระทบผู้โดยสาร ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 120 ล้านคน/ปี ในอนาคต

“สอดคล้องกับการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารของ ทอท.สอดคล้องกับมาตรการเว้นระยะห่าง ตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 และสอดคล้องกับการเปิดให้บริการสนามบินอู่ตะเภาและรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นการอำนวยความสะดวกประชาชน และ ทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพและมีฐานะทางการเงินที่จะลงทุนตามทางเลือกนี้ได้”

2. ให้ ทอท.เร่งดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักหลังที่ 1 ด้านตะวันออก ที่มีความพร้อมดำเนินการ โดยผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและเป็นไปตามมติ ครม.ที่ได้เห็นชอบแล้ว ควบคู่กับการเร่งทบทวนแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมอบให้สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ดำเนินการลักษณะ Revisit ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรือขยายเวลาศึกษาไปได้อีกรวมไม่เกิน 60 วัน แล้วนำเสนอผลการทบทวนให้คณะกรรมการฯพิจารณา โดยให้ ทอท.ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายกฎ ระเบียบ และมติครม.ที่เกี่ยวข้อง

โดยระบุว่า มติคณะกรรมการฯ ดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.

ทั้งนี้ ทอท.มีความพยามที่จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ โดยเมื่อปี 2562 ได้ทำการปรับปรุงแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ออกเป็น 5 ระยะ ซึ่งในเฟส 3 (2559-2566) จะมีงานก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 และก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ รองรับผู้โดยสารได้ 90 ล้านคน/ปี รองรับ เที่ยวบินได้ 94 เที่ยวบิน/ชั่วโมง

เฟส 4 (2564-2569) จะก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (SAT 2) รองรับผู้โดยสารได้ 105 ล้านคน/ปี รองรับเที่ยวบินได้ 94 เที่ยวบิน/ชั่วโมง

เฟส 5 (2568-2573) ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 รองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคน/ปีรองรับ เที่ยวบินได้ 120 เที่ยวบิน/ชั่วโมง

ส่วนการขยายอาคารด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ปรับไปอยู่ในเฟสพิเศษ (Extra Phase) ซึ่งไม่มีการกำหนดระยะเวลาไว้ หรือก็คืออาจจะไม่มีการก่อสร้างนั่นเอง

โดยการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ ถูกคัดค้านจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และสภาพัฒน์ โดยเห็นว่า ทอท.ควรเร่งดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก ตามมติ ครม.วันที่ 24 ส.ค. 2553 และให้องค์กรระหว่างประเทศ/ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมในการปรับปรุงแผนแม่บทสุวรรณภูมิ

และเห็นว่าตำแหน่งที่ตั้งของอาคารด้านทิศเหนือ มีประเด็นเรื่องการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบิน และความไม่สมดุลในการใช้งานทางวิ่ง อีกทั้งกระทบกับสภาพคล่องทางการเงินของ ทอท.ที่อาจต้องกู้เงินในปี 2565-2567

ส่วน ทอท.อ้างถึงปัญหาขยายอาคารด้านตะวันออก มีข้อจำกัดในการก่อสร้าง, เป็นการเพิ่มขีดความสามารถเฉพาะนอกเขตการบิน (Landside) เกิดจุดตัดเส้นทางสัญจรและเกิดการกระจุกตัวของผู้โดยสาร, ไม่ช่วยเพิ่มหลุมจอดประชิดอาคาร, ระบบลำเลียงกระเป๋าไม่เป็นอิสระ, เทคโนโลยีไม่ทันสมัย ซึ่ง ทอท.คาดว่าปริมาณจราจรทางอากาศเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2566 ที่จำนวน 65 ล้านคน/ปี และเพิ่มเป็น 90 ล้านคน/ปี ในปี 2570 ตามการคาดการณ์ของ IATA สุวรรณภูมิจะมีปัญหาในด้านพื้นที่บริการผู้โดยสาร เพราะพื้นที่อาคารผู้โดยสารไม่เพียงพอ

ทอท.ปรับแผนใหม่ สร้างอาคารด้านทิศเหนือรับผู้โดยสารภายในประเทศ

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการที่มี “อนุทิน ชาญวีรกูล” เป็นประธานเมื่อ 15 ม.ค. 2564 ทอท.ได้นำเสนอข้อมูล ส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศตะวันออก รองรับผู้โดยสารภายในประเทศ 15 ล้านคน/ปี พื้นที่ 66,000 ตร.ม. งบประมาณ 7,830 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 29 เดือน มีเคาน์เตอร์เช็คอิน 108 เคาน์เตอร์ สายพานรับกระเป๋า 6 ชุด ช่องตรวจค้น 9 ช่อง

ส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศตะวันตก รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ 15 ล้านคน/ปี พื้นที่ 66,000 ตร.ม. งบประมาณ 7,830 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 29 เดือน มีเคาน์เตอร์เช็กอิน 108 เคาน์เตอร์ สายพานรับกระเป๋า 6 ชุด ช่องตรวจ ตม.ขาออก 34 ช่อง ขาเข้า 56 ช่อง และช่องตรวจค้น 9 ช่อง

ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ รองรับผู้โดยสารภายในประเทศและระหว่างประเทศ 30 ล้านคน/ปี (ขยายได้ถึง 40 ล้านคน/ปี) พื้นที่ 348,000 ตร.ม. งบประมาณ 41,260 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 25 เดือน มีอาคารจอดรถ 3,000 คัน หลุมจอดประชิดอาคาร 14 หลุมจอดสายพานรับกระเป๋า 17 ชุด ช่องตรวจ ตม. ขาออก 66 ช่อง ขาเข้า 82 ช่อง และช่องตรวจค้น49 เลน

แต่จากข้อมูลล่าสุดของ ทอท.ในการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ พบว่า มีการปรับเปลี่ยนอีก โดยก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออกเพื่อรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ 15 ล้านคน/ปี และปรับพื้นที่อาคารผู้โดยสารปัจจุบันให้เป็นอาคารสำหรบผู้โดยสารระหว่างประเทศทั้งหมด ขณะที่การพัฒนาส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศเหนือนั้นจะให้เป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารภายในประเทศ รองรับได้ 30 ล้านคน/ปี และยังทำให้เพิ่มพื้นที่ถนนหน้าอาคารผู้โดยสารระยะทาง 1.7 กม. แก้ปัญหาจราจรคับคั่ง อีกทั้งต้องก่อสร้างอาคารจอดรถเพิ่ม 3,000 คัน ต้องมีระบบรถไฟฟ้าไร้คนขับ APM เพื่อขนส่งผู้โดยสารเพื่อเข้าไปยังอาคารเทียบเครื่องบิน

สถานะการเงินไม่พร้อมทุ่มลงทุนเหมือนเดิม

จากผลประกอบการงวดไตรมาส 1/64 (สิ้นสุด 31 ธ.ค.63) ทอท.ขาดทุน 3,441.97 ล้านบาท ลดลง 146.93% จากงวดเดียวกันปี 63 ที่มีกำไร 7,334.71 ล้านบาท โดยมีรายได้เพียง 2,740 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มี 17,116 ล้านบาท เท่ากับรายได้รวมลดลง 14,376.63 ล้านบาท หรือ 83.99% จากปริมาณการจราจรทางอากาศของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ที่ลดลง 53.50% มีจำนวนผู้โดยสารรวมลดลง 70.79%

แหล่งข่าวจาก ทอท.เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทอท.มีปัญหาด้านการเงิน เนื่องจากปริมาณการเดินทางทั้งเที่ยวบินและผู้โดยสารลดลงอย่างมาก และประเมินว่าปี 64 ทอท.จะขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี เบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท และไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะต้องเผชิญกับการขาดทุนในปีต่อๆ ไปอีกหรือไม่ ดังนั้น การลงทุนใดๆ จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะการเงิน เพราะนอกจากแผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิแล้วยังมีแผนพัฒนาสนามบินดอนเมือง อีก 32,000 ล้านบาท พัฒนาสนามบินเชียงใหม่ 15,000 ล้านบาท พัฒนาสนามบินภูเก็ต หาดใหญ่ และเชียงราย รวมมูลค่าลงทุนเกือบ 2 แสนล้านบาท

ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา ทอท.ถูกจับตามองเรื่องความโปร่งใสในการประมูลก่อสร้างอย่างมาก โดนฟ้องร้องก็หลายโครงการ ขณะที่ล่าสุดมีการปรับย้ายผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง โดยแต่งตั้งบุคคลภายนอก “กีรติ กิจมานะวัฒน์” ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาประธานบริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด

“พีเอสเค” นั้นเป็นที่ปรึกษาของหลายหน่วยงานในกระทรวงคมนาคม ทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดูแลเรื่องตั๋วร่วม รถไฟฟ้าในภูมิภาค สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าสายสีส้ม และต่อสัญญาทางด่วน

ว่ากันว่า ตั้งตามใบสั่ง “นายใหญ่” หรือไม่ ขนาดการประเมิน Probation ช่วง 120 วัน ซึ่งตามระเบียบห้ามลา ลาได้เฉพาะลาป่วย แต่มีหลักฐานพบว่าไปงานเปิดภาคเรียนรุ่นหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูงรุ่น 24 ในเวลางาน... แต่ก็ไม่มีผลต่อการประเมินใดๆ แม้จะมีกรรมการ 1 คนไม่เซ็นให้ผ่านประเมิน แต่สุดท้ายก็ถูกบีบจนต้องยอมเซ็นผ่านให้ในที่สุด

“ก็เพราะมีแบ็กระดับบิ๊กหนุน” ล่าสุดยังได้รับมอบหมายจาก รมว.คมนาคม ให้ไปเป็นพี่เลี้ยงช่วยการรถไฟฯ วางคอนเซ็ปต์พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่ออีกด้วย

การตั้งคนนอกเข้ามาคุมสายงานวิศวกรรมเป็นครั้งแรก ในห้วงเวลาที่ ทอท.จะมีโครงการก่อสร้างมูลค่ากว่าแสนล้านบาท จึงไม่ใช่เรื่องปกติแน่นอน

ขณะที่การผลักดันเพื่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือนั้น ทอท.จะ Revisit ความเห็นจาก ICAO และ IATA เพื่อประกอบการนำเสนอสภาพัฒน์ และ ครม.อีกครั้ง คงต้องดูว่าคมนาคมและ ทอท.จะแก้เกมอย่างไร และคงต้องวัดใจ “นายกฯ ประยุทธ์” และ ครม.ว่าจะกลับมติที่เคยเห็นชอบข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.หรือไม่ โดยมีขุมทรัพย์ “สุวรรณภูมิ” เป็นเดิมพัน






กำลังโหลดความคิดเห็น