xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” จัดให้! หั่นค่าตั๋วสีแดงเหลือ 12-42 บาท นั่งจาก “บางซื่อ-รังสิต” จ่าย 38 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ศักดิ์สยาม” ถือฤกษ์ดี วันครบ 124 ปีรถไฟไทย เริ่มทดลองเดินรถสายสีแดงเสมือนจริง หั่นค่าโดยสารเหลือ 12-42 บาท เปิดโพยสุดถูกเก็บแรกเข้า12 บาทบวกตามระยะทางอีก 1.01 บาท/กม. สีแดงเข้ม “บางซื่อ-รังสิต” 38 บาท จาก “บางซื่อ-ตลิ่งชัน” จ่าย 28 บาท ใช้ข้าม 2 สายจ่ายไม่เกิน 42 บาท เร่งประมูลเชิงพาณิชย์สถานีบางซื่อหารายได้อุดหนุนค่าโดยสาร กำชับเร่งปรับปรุงป้ายข้อมูลต่างๆ

วันที่ 26 มี.ค. วันสถาปนากิจการรถไฟครบรอบ 124 ปี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานเปิดการทดลองเพื่อเดินรถเสมือนจริง รถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่สถานีกลางบางซื่อ และได้ทดลองนั่งขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มจากสถานีกลางบางซื่อ-สถานีรังสิต และสายสีแดงอ่อน จากสถานีกลางบางซื่อ-ตลิ่งชัน พร้อมทั้งเยี่ยมชมจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารจากขบวนรถทางไกลสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ กับขบวนรถไฟชานเมืองสายสีแดง ณ สถานีรังสิต และจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารจากขบวนรถทางไกลสายใต้กับขบวนรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่สถานีตลิ่งชัน โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน กลุ่มตัวแทนนักเรียนนักศึกษา ผู้แทนภาคประชาชนเข้าร่วมการทดลองเพื่อเดินรถเสมือนจริง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า การทดลองระบบภาพรวมมีความเรียบร้อยดี โดยจะมีการปรับปรุงป้ายบอกทาง และป้ายบอกตารางการเดินรถและข้อมูลข่าวสารอีกเล็กน้อย เพื่อให้ประชาชนไม่สับสน โดยจากบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง ระยะทาง 26.3 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 กว่านาที ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.26 กม.ใช้เวลาประมาณ 15 นาที รถใช้ความเร็วประมาณ 80-90 กม./ชม. จอดสถานีละประมาณ 1 นาทีตามมาตรฐาน และตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะมอบให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริหารการเดินรถ โดยจะเป็นการทดลองเดินรถเสมือนจริงไปจนถึงเดือน ก.ค. 64 ซึ่งจะเปิดให้กลุ่มประชาขนหรือสถาบันการศึกษาเป็นหมู่คณะร่วมทดลองได้ โดยต้องติดต่อรฟท.เพื่อกำหนดวันเข้าร่วมก่อน และจากเดือนก.ค.-พ.ย. 64 เปิดเดินรถอย่างไม่เป็นทางการ (Soft opening) โดยกำหนดตารางเวลาเดินรถเบื้องต้น ขบวนละ 10 นาที (6 ขบวน/ชม.) และให้ประชาชนใช้บริการฟรี

และเปิดเดินรถอย่างเป็นทางการเชิงพาณิชย์ปลายเดือน พ.ย. 64 ซึ่งจะเริ่มเก็บค่าโดยสารอัตราเริ่มต้น 12 บาทสูงสุด 42 บาท ซึ่งลดลงจากเดิมที่ รฟท.เสนออัตรา 14-42 บาท เป็นผลมาจากที่มอบให้รฟท. หารือร่วมกับ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารอัตราค่าโดยสารตามหลักสากล ซึ่งอัตราแรกเข้าซึ่งใช้ตามสูตรที่เอดีบีกำหนดไว้ เมื่อปี 2544 เริ่มต้น 10 บาท ปัจจุบันดัชนีผู้บริโภค (CPI) ปี 2564 พบว่าอัตราแรกเข้าปรับเป็น 11.88 บาท ซึ่งจะปัดขึ้นเป็น 12 บาท และคิดค่าโดยสารตามระยะทาง เฉลี่ย 1.01 บาท/กม.

ดังนั้น กรณีใช้สายสีแดงเข้ม คือเดินทางจากสถานีกลางบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม. ค่าแรกเข้า 12 บาทบวกค่าโดยสารตามระยะทาง 1 บาทต่อ กม. ค่าโดยสารรวมประมาณ 38 บาท กรณีใช้สายสีแดงอ่อน เดินทางจากสถานีกลางบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15-16 กม. ค่าแรกเข้า 12 บาทบวกค่าโดยสารตามระยะทาง 1 บาทต่อ กม. ค่าโดยสารรวมอยู่ที่ 28 บาท

แต่ทั้งนี้ การกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ 12-42 บาท กรณีเดินทางข้ามสายจะเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว และค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 42 บาท เช่น จากสถานีรังสิต-ตลิ่งชัน จะคิดค่าแรกเข้า 12 บาท บวกราคาตามระยะทาง 42 กม.จะอยู่ที่ 53-54 บาท แต่ตามเพดานสูงสุดจะเก็บไม่เกิน 42 บาท

อย่างไรก็ตาม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยระบบรางของประชาชนลงอีก จะมีการกำหนดบัตรรายเดือนได้แก่ บัตร 20 เที่ยว ราคา 700 บาท เฉลี่ย 35 บาท/เที่ยว, บัตร 30 เที่ยว ราคา 700 บาท เฉลี่ย 30 บาท/เที่ยว, บัตร 50 เที่ยว ราคา 1,250 บาท เฉลี่ย 25 บาท/เที่ยว นอกจากนี้ยังมีบัตรนักเรียน/นักศึกษา อายุไม่เกิน 23 ปี ลด10% เด็กอายุไม่เกิน 14 ปี และมีความสูงไม่เกิน 120 ซม.ลด 50% ส่วน เด็กส่วนสูงไม่เกิน 90 ซม. ยกเว้นค่าโดยสาร ผู้สูงอายุ ลด 50%

“กรณีเดินทางทั้งสีแดงเข้มและสีแดงอ่อนแนะนำใช้ตั๋วเดือนจะประหยัดกว่ามาก เพราะสมมุติฐานพบว่า การเดินทางส่วนใหญ่เฉลี่ยประมาณ 12.5 กม.หรือจะเสียค่าโดยสารที่ 24 บาท(ค่าแรกเข้า 12 บาทบวกตามระยะทาง 12.5 กม.) ขณะที่การเดินทางยาวรังสิต-ตลิ่งชันจะมีไม่มากนัก ซึ่งอัตราค่าโดยสาร 12-42 บาท จะใช้ในปีแรกไปก่อน โดยจะเก็บข้อมูลสถิติ ตัวเลขต่างๆ ทุกเดือน จนครบ 1 ปี เพื่อดูว่า ราคาที่กำหนด ไปต่อไหวหรือไม่เพราะหลักการรัฐไม่ต้องการให้เกิด PSO ขณะที่ค่าโดยสาร ต้องเป็นธรรมและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน ดังนั้น ต้องดูรายได้จากเชิงพาณิชย์ด้วยว่า จะนำมาชดเชยเรื่องค่าโดยสารได้หรือไม่ ขณะที่การก่อสร้างส่วนต่อขยายที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วมทุน PPP คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 ปี” นายศักดิ์สยามกล่าว

โดยการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสถานีกลางบางซื่อซึ่งมีพื้นที่รวม 298,200 ตร.ม. เป็นพื้นที่สำหรับบริการผู้โดยสาร 50% (129,400 ตร.ม.) พื้นที่สำหรับพัฒนาเชิงพาณิชย์ กรณีใช้พื้นที่สูงสุด 51,465 ตร.ม. หรือ 17.3% ของพื้นที่สถานีทั้งหมด หรือสัดส่วน 39.8% ของพื้นที่บริการผู้โดยสาร ซึ่งจะเปิดคัดเลือกเอกชนเข้ามาดำเนินการได้ปีนี้ เพื่อให้บริการได้ใน พ.ย. 64 ที่มีการเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ รฟท.ยังรายงานว่าจะมีการพิจารณาในการร่วมทุนกับเอกชนก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่สถานีกลางบางซื่อ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน ซึ่งได้ให้ รฟท.เร่งศึกษาด้วย

สำหรับพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อ จำนวน 2,325 ไร่ จำนวน 9 แปลง ขณะนี้ รฟท.อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกวดราคา ใน 5 แปลงแรก คือ แปลง A E G D B พัฒนาเป็นศูนย์ราชการ ที่อยู่อาศัย มอลล์ชอปปิ้งต่างๆ โดยแปลง A E G จะเปิดคัดเลือกเอกชนได้ในปี 2570 ส่วนแปลง C F H I ซึ่งต้องรอย้ายสถานีขนส่ง บขส. โรงซ่อมจักรบางซื่อ โรงซ่อมรถโดยสาร จึงจะส่งมอบพื้นที่และเปิดประมูลต่อไป
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า แผนบริหารการเดินรถเข้าสู่สถานีหัวลำโพงหลังเปิดสถานีกลางบางซื่อเดือน พ.ย. 64 จากปัจจุบัน มีขบวนรถเข้าสถานีหัวลำโพง 118 ขบวน/วัน เป็นรถเชิงพาณิชย์ 66 ขบวน รถธรรมดา 52 ขบวน จะปรับเหลือ 22 ขบวน โดยบริหารการเดินรถเข้าหัวลำโพงเฉพาะที่จำเป็นจริงช่วงเช้าและเย็น จะทำให้ลดปัญหาจุดตัดกับนถนนและต้องปิดเครื่องกั้น จาก 826 ครั้ง/วันเหรือ 154 ครั้ง/วัน

ส่วนกรณีค่าก่อสร้างรถไฟสายสีแดงที่เพิ่มขึ้นนั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ขณะนี้สรุปค่าภาษีที่เพิ่มประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะเร่งสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือน เม.ย.นี้ ส่วนค่าก่อสร้างเพิ่มเติม หรือ Variation Order (VO) อีกกว่า 6,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบอย่างละเอียดและรอบคอบ ซึ่งการแก้ปัญหาจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

ปัดตอบฝ่ายค้านยื่น ป.ป.ช.สอบที่เข่ากระโดง-ยันข้อพิพาทที่ดินรถไฟต้องทำตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ดินบริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะ รมว.คมนาคม และ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย นั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ตนจะพูดเรื่องที่รฟท.มีปัญหาข้อพิพาทกับประชาชน ซึ่ง รฟท.ตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาแล้ว พิจารณาในทุกกรณีไม่ใช่แค่ที่เขากระโดง ซึ่งตนได้สั่งให้ รฟท.ดำเนินการตามระเบียบกฎหมาย มติ ครม. และหลักธรรมาภิบาล ทุกเรื่องหากอะไรเป็นของรัฐก็ต้องเป็นของรัฐ หากประชาชนจะมาใช้ ต้องมีระเบียบ ทั้งการเช่า หรือ PPP ก็ทำไปตามกฎหมาย ยุคนี้ไม่มีการละเว้นหรือแทรกแซงแต่อย่างใด
ส่วนกรณีค่าโง่โฮปเวลล์ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยกลางออกมาแล้วนั้น ขณะนี้ กระทรวงคมนาคมยังไม่ได้รับคำพิจารณาอย่างเป็นทางการ ซึ่งขอได้รับเป็นทางการก่อน ไม่อยากพูดก่อน ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมมี่คณะทำงาน นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญ พร้อมที่จะนำคำวินิจฉัยมาพิจารณาเพื่อดูว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ซึ่งยืนยันว่าเรื่องนี้ จะต่อสู้อย่างเต็มที่แน่นอน










กำลังโหลดความคิดเห็น