xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อ ก.พ. 64 ติดลบ 1.17% “พาณิชย์” ยันไม่น่ากังวล เหตุได้อานิสงส์ลดค่าไฟ ค่าน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อ ก.พ. 64 ลด 1.17% ลบต่อเนื่อง 12 ติดต่อกัน ยันไม่น่ากังวล เหตุได้รับผลดีจากมาตรการรัฐลดค่าไฟฟ้า-ประปา 2 เดือน และสินค้ากลุ่มอาหารสดยังลดลง สินค้าอื่นๆ ทรงตัว คาด มี.ค.ลงอีกเพราะยังลดค่าไฟ ค่าน้ำอยู่ แต่จะเริ่มขยับตั้งแต่ เม.ย.เป็นต้นไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อประชาชน

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ก.พ. 2564 ลดลง 0.91% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2564 และลดลง 1.17% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. 2563 ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ มี.ค. 2563 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงานออก เทียบกับ ม.ค. 2564 ลดลง 0.08% เทียบกับ ก.พ. 2563 เพิ่มขึ้น 0.04% ขณะที่เงินเฟ้อรวม 2 เดือนปี 2564 (ม.ค.-ก.พ.) ลดลง 0.75% และเงินเฟ้อพื้นฐานรวม 2 เดือน เพิ่มขึ้น 0.12%

ทั้งนี้ เงินเฟ้อเดือน ก.พ. 2564 ที่ลดลงไม่น่ากังวล เพราะเป็นการลดลงจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นระยะเวลา 2 เดือน (ก.พ.-มี.ค. 2564) และยังได้ผลดีจากสินค้าในกลุ่มอาหารสด เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผักสด ที่ลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ส่วนใหญ่ทรงตัวและเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการผลิตและความต้องการบริโภค ยกเว้นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก

“เงินเฟ้อ ก.พ. 2564 ที่ลดลง 1.17% ถ้าไม่มีปัจจัยอะไรเลยถือว่าติดลบสูง แต่พอดูลึกเข้าไปพบว่าได้รับผลดีจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ประปา ที่เป็นตัวฉุดเงินเฟ้อลงมามาก และประเมินว่าเดือน มี.ค. 2564 เงินเฟ้อจะยังลดลงอีกเพราะมาตรการลดค่าไฟฟ้า ประปายังมีอยู่ แต่จะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 เป็นต้นไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของประชาชน โดยจะค่อยๆ ทยอยขึ้น” นายภูสิตกล่าว

ทั้งนี้ สนค.คาดว่าเงินเฟ้อในปี 2564 จะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7-1.7% มีค่ากลางอยู่ที่เพิ่ม 1.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) 3.5-4.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นอัตราที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น