xs
xsm
sm
md
lg

ประมูลรถไฟไทย-จีนไม่จบ ศาลคุ้มครอง “อิตาเลียน” ฟ้องสัญญา 3-1 ไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ประมูลรถไฟไทย-จีนยืดเยื้อ ศาลปกครองสั่งคุ้มครอง “อิตาเลียนไทย” ทุเลาคำสั่งกรมบัญชีกลาง “นิรุฒ” เผย รฟท.ยังทำอะไรไม่ได้ ประเมินเวลา อาจต้องยกเลิก พร้อมตั้งเป้า ก.ค.ประมูลเชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ 

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้างานสัญญา 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่างกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ว่า จากกรณีที่ บริษัท ITD-CREC No.10JV ซึ่งประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับพันธมิตร ซีอาร์อีซี (China railway Engineering corporation) ได้ยื่นศาลปกครองกลางขอให้พิจารณาเพิกถอนคำสั่งกรมบัญชีกลาง กรณีพิจารณาให้บริษัทนภาก่อสร้าง และพันธมิตรจากประเทศ มาเลเซียเป็นผู้ชนะประมูล 

ล่าสุดศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครอง โดยให้ทุเลาการบังคับคำสั่งของกรมบัญชีกลางดังกล่าว ซึ่งตามคำสั่งของศาลปกครองนี้เป็นการหยุดไม่ให้นำคำสั่งของกรมบัญชีกลางที่ประกาศให้บริษัทนภาก่อสร้างชนะมาดำเนินการได้ ทำให้ รฟท.ต้องรอให้การพิจารณาที่สิ้นสุดก่อน โดยศาลเห็นว่าโครงการนี้ ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง จึงยังไม่กระทบต่อการดำเนินโครงการ 

สำหรับแนวทางที่ รฟท.จะสามารถดำเนินการได้ คือ รอจนกว่าเรื่องจะถึงที่สุด หรือกรณีรอไม่ไหว รฟท.จะยกเลิกและเปิดประมูลใหม่ ซี่งขณะนี้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเรื่องนี้จะยุติแต่ยังพอมีเวลาที่รอได้ 

สำหรับสัญญาที่ 3-1 งานโยธา ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30 กม. รฟท.เปิดประมูล โดยกลุ่มอิตาเลียนไทยเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 9,349 ล้านบาท จากราคากลางที่ 11,386 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราคากลางกว่า 2,037 ล้านบาท ซึ่ง รฟท.ได้เคาะให้อิตาเลียนไทยได้รับการคัดเลือก ต่อมา บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด ได้อุทธรณ์ต่อกรมบัญชีกลาง ซึ่งกรมบัญชีกลาง โดยคณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาคำอุทธรณ์ของนภาก่อสร้างว่าฟังขึ้น และส่งเรื่องมาให้ รฟท.ดำเนินการ ต่อมา ทางอิตาเลียนไทยจึงไปฟ้องศาลปกครอง และศาลมีคำสั่งทุเลาออกมา 

@เร่งจ้างที่ปรึกษาทำทีโออาร์ ตั้งเป้า พ.ค.ประมูลบริหารสถานีกลางบางซื่อ 

ส่วนความพร้อมที่จะเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน นั้น ผู้ว่าฯ รฟท.กล่าวว่า ยังเป็นไปตามแผนงาน โดยให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยสูงสุดเนื่องจากจะมีการเดินรถไฟชานเมืองร่วมกับรถไฟทางไกล และภายในเดือน มี.ค.นี้ รฟท.จะว่าจ้างที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญศึกษารูปแบบแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้ รฟท.ได้ประโยชน์สูงสุด และจัดทำทีโออาร์ ใช้เวลาศึกษาประมาณ 2 เดือน คาดเปิดประมูลได้ในเดือน พ.ค. ได้ตัวผู้รับสัญญาและเริ่มดำเนินการทันเดือน พ.ย. 2564   

เดิมการออกแบบสถานีกำหนดพื้นที่เชิงพาณิชย์ไว้ประมาณ 5% ซึ่งขณะนั้นรูปแบบการจำหน่ายตั๋วและบริการต่างๆ ยังใช้พื้นที่สถานีเป็นหลัก แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีสามารถให้ผู้โดยสารซื้อตั๋วและชำระเงินผ่านออนไลน์ได้ ดังนั้นจึงสามารถปรับพื้นที่มาใช้เชิงพาณิชย์เพิ่มได้ประมาณ 20-30% และรมว.คมนาคมได้ให้แนวคิดในการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ เป็นลักษณะศูนย์การค้าที่ประชาชนสามารถมาซื้อของและสามารถใช้บริการรถไฟได้ด้วย เป็นการเปลี่ยนวิธีการคิดใหม่ 

ก่อนหน้านี้ ทอท.ได้ให้แนวคิดในการบริหารพื้นที่สถานีกลางบางซื่อให้มีรายได้และเพิ่มมูลค่าเหมือนสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ซึ่งจะมีทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ และโฆษณา ซึ่งจะมีทั้งภายในสถานีและนอกสถานี โดยที่ปรึกษาจะมาช่วยดูว่าควรรวมพื้นที่กับโฆษณาเป็นสัญญาเดียวหรือแยกสัญญา เป็นต้น รวมถึงงานที่จอดรถ ควรให้รวมไปด้วย หรือ รฟท.ควรทำเอง ส่วนงานรักษาความปลอดภัย งานทำความสะอาดนั้น รฟท.จะดำเนินการเอง เป็นภาระค่าใช้จ่ายของ รฟท. ซึ่งไม่รวมอยู่ในสัญญาสถานีกลางบางซื่อ 
กำลังโหลดความคิดเห็น