xs
xsm
sm
md
lg

“บีทีเอส” ฟ้องศาลอาญาคดีทุจริต รฟม.ล้มประมูล “สีส้ม” ทำให้เสียหาย “ศักดิ์สยาม” กาง RFP สงวนสิทธิ์ทำได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“บีทีเอส” ยื่นฟ้อง รฟม.ต่อศาลอาญาคดีทุจริต กรณียกเลิกประมูล “สายสีส้ม” ทำให้ได้รับความเสียหาย ด้าน “ศักดิ์สยาม” ยืนยันรฟม.สงวนสิทธิ์ยกเลิกตาม RFP ข้อ 12.1 มั่นใจเปิดประมูลดันก่อสร้างเสร็จตามแผน กาง RFP สงวนสิทธิ์ยกเลิกประมูลได้

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้มอบอำนาจให้ทนายความยื่นฟ้องผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

กรณี รฟม.ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ก่อสร้างงานโยธาด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ และลงทุนระบบจัดหารถไฟฟ้า พร้อมบริหารการเดินรถตลอดเส้นทาง โดย รฟม.มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการคัดเลือกภายหลังจากขายเอกสารประกวดราคามิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งบีทีเอสได้ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการมาตรา 36 ในคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 และศาลได้มีคำสั่งให้รฟม.ทุเลาการใช้หลักเกณฑ์ที่แก้ไขหลังจากขายเอกสารประมูลไปแล้ว

ต่อมาวันที่ 3 ก.พ. 2564 รฟม.ได้ประกาศยกเลิกประมูล ซึ่งส่งผลให้บริษัทบีทีเอสซี ซึ่งเป็นผู้ยื่นซองข้อเสนอได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ศาลได้นัดฟังคำสั่งในชั้นตรวจฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564 นี้ในวันที่ 15 มีนาคม 2564

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีที่บริษัทบีทีเอสยื่นฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางว่าเป็นสิทธิของเอกชน ทั้งนี้ ยืนยันว่าการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้น รฟม.ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งการยกเลิกประมูลนั้นสามารถดำเนินการได้ โดยมีการสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกสัญญาไว้ 2 จุด คือ ในเอกสารประกาศเชิญชวน (Request for Proposal : RFP) ข้อ 12.1 และในเอกสารแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ (Instructional for Proposal Submitter) ข้อ 35.1 และสายสีส้มไม่ใช่โครงการแรกที่มีการสงวนสิทธิ์

ทั้งนี้ การเปิดประมูลใหม่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ โดยมีคณะกรรมการมาตรการ 36 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 ดำเนินการกำกับดูแล และคาดว่าจะยังดำเนินการได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้เดิม คือ สายสีส้มด้านตะวันออก จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2567 เปิดให้บริการช่วง ต.ค. 2567 ส่วนด้านตะวันตกจะเปิดในปี 2570

สำหรับประกาศเชิญชวน (RFP) ข้อ 12.1 และเอกสารแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ (Instructional for Proposal Submitter) การสงวนสิทธิ์ ข้อ 35.1 มีรายละเอียด คือ รฟม.สงวนสิทธิ์ตามดุลพินิจที่จะยกเลิกการประกาศเชิญชวนข้อเสนอหรือยกเลิกการคัดเลือกโดยไม่พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอรายใดเลยหรือจะไม่คัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอผลประโยชน์สุทธิที่สูงสุดก็ได้ โดยที่ผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายใดๆ จาก รฟม.ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น