xs
xsm
sm
md
lg

คนกล้าคืนถิ่น จากอาชีพนักข่าว สู่เส้นทางเกษตรกรวิถีใหม่ ปลุกปั้น เกษตรกรเมืองสองแควทำเกษตรอินทรีย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



หลายคนได้มาโลดแล่นอยู่ในเมืองหลวง และได้ทำอาชีพที่ตนเองรู้สึกชื่นชอบ และอยู่กับมันมาเป็น สิบๆ ปี หรือ บางคนแทบทั้งชีวิต และเมื่อหลายๆ คนต้องตัดสินใจหันหลังให้กับเมืองหลวง ทิ้งชีวิตหรูหรา เพื่อไปสร้างอาชีพใหม่บ้านเกิดของตัวเองเมื่อถึงเวลา และหนึ่งในนั้น ก็มีอดีตนักข่าวสาวคนนี้ ที่ผันตัวเองเข้าสู่การเป็นเกษตรกรในรูปแบบของเกษตรวิถีใหม่ ที่ไม่พึ่งพายาฆ่าแมลง และสารเคมี

นิภาพร ทับหุ่น
การรวมตัวคนรุ่นใหม่ ตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ N-Do Fulltime

ครั้งนี้ พามารู้จักกับอดีตนักข่าวสาว “นิภาพร ทับหุ่น” จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจซึ่งเธอได้ลาออกกไปพร้อมกับเงินก้อนหนึ่ง กลับบ้านเกิดที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อทำเกษตรอินทรีย์ และได้ใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์อยู่กับครอบครัวในต่างจังหวัด ซึ่งจนถึงปัจจุบัน เธอได้ทำเกษตรอินทรีย์มาเกือบ 4 ปี ความสำเร็จของ “นิภาพร” ไม่ได้มองเห็นเป็นตัวเงิน แต่ความสำเร็จอยู่ที่เธอได้เปลี่ยนความคิดเกษตรกรหลายๆ คนให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์ เช่นเดียวกับเธอ

ล่าสุด เธอได้รวมกับเพื่อน““อุษณีย์กรณ์ จุ้ยแหวว ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน พนักงานขายประกัน และเจ้าของร้านขายสินค้าทางการเกษตร ที่ลุกมาปลุกปั้น แหลมโพธิ์ออร์แกนิกฟาร์ม และ “นริสา สุขโชติ” แอดมินบริษัทก่อสร้าง ที่ผันมาทำ สวนนริสา รวมถึงสมาชิกใหม่ “ลำเพย แป้นบูชา”แห่งสวนผักแม่ลำเพย มาก่อตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ N-Do Fulltime (เอ็นดู ฟูลไทม์) พวกเขาคือลูกหลานชาวพิษณุโลก ที่ฝันอยากจะให้บ้านเกิดกลายเป็นสังคมเกษตรอินทรีย์ ผู้คนมีสุขภาพที่ดีและมีธุรกิจที่ยั่งยืนไปพร้อมกับคนพิษณุโลก

อุษณีย์กรณ์ จุ้ยแหวว
นิภาพร เล่าว่า จุดเริ่มต้นการทำเกษตรอินทรีย์ เริ่มขึ้นเมื่อเธอได้ลาออกจากการเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และได้เงินก้อนหนึ่งหลังจากเออร์ลีรีไทร์ จากการทำงานมากว่า 15 ปี และตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่จังหวัดพิษณุโลก และมาเริ่มการเป็นเกษตรกร เพราะทุกครั้งที่เดินทางกลับบ้านเราจะเห็นเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ดูชีวิตเขามีความสุข ไม่ต้องเคร่งเครียด หรือรีบเร่ง เหมือนกับการทำงานในเมืองหลวง และ ที่เลือกทำเกษตรอินทรีย์ เพราะมองเห็นเกษตรกรที่พิษณุโลก ส่วนใหญ่อยู่กับยาฆ่าแมลงและสารเคมีกันมานานหลายสิบปี ซึ่งสิ่งที่ตามมา คือโรคภัยไข้เจ็บ และพืชผัก ผลไม้ที่นำมาจำหน่ายก็มีแต่ยาฆ่าแมลงและสารเคมีที่เป็นอันตราย

นริสา สุขโชติ
คนกล้าคืนถิ่น โครงการช่วยสร้างพื้นฐานการเป็นเกษตรกรให้คนรุ่นใหม่

การเริ่มต้นทำการเกษตรของ อดีตนักข่าวสาว และกลุ่มเพื่อนๆไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับพวกเขา เพราะเขาไม่มีพื้นฐาน หรือความรู้ในการทำการเกษตรเลย แต่เธอมีความมุ่งมั่นและตั้งใจ โดยเริ่มจากการขอแบ่งพื้นที่ดินของแม่ที่เคยปล่อยให้เช่ามาจำนวน 3 ไร่ มาทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ตั้งชื่อว่า “สวนลัชศิตา” เรียนรู้จากการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง และเริ่มไปเข้าโครงการต่างๆ เพื่อเติมเต็มองค์ความรู้ที่ยังขาด เริ่มจาก “คนกล้าคืนถิ่น” โครงการที่เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองได้รู้วิธีลงมือทำเพื่ออยู่ได้จริงในวิถีเกษตรยั่งยืน

หลังจากนั้น เธอได้ มีโอกาสไปร่วมกับกลุ่ม “สองแควออร์แกนิค” ซึ่งปัจจุบันพัฒนาเป็น บริษัท สองแควออร์แกนิค จำกัด กลุ่มคนพิษณุโลกที่รักและห่วงใยในสุขภาพ ที่ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรมือใหม่ โดยใช้หลักการเกษตรอินทรีย์ ปฏิเสธการใช้สารเคมีทุกชนิด เพื่อทำให้สมาชิกในกลุ่มฯ และคนพิษณุโลกได้กินอาหารที่ผลิตเองอย่างปลอดภัย


การเข้าร่วมกับกลุ่มสองแควออร์แกนิค ทำให้ได้เริ่มทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม หรือ PGS (Participatory Guarantee System) การรับรองมาตรฐานจากเกษตรกรผู้ผลิตด้วยกันเอง ซึ่งเป็นระบบการรับประกันคุณภาพที่ตั้งอยู่บนฐานของความเชื่อถือ เครือข่ายทางสังคม และการแลกเปลี่ยนความรู้ หลังจากนั้น สวนลัชศิตาก็ค่อยๆ พัฒนาตัวเองขึ้น ซึ่งนอกจากจะมีผลผลิตหลักเป็นพืชผักเกษตรอินทรีย์แล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูป อาทิ การทำกิมจิ ทำแชมพู มะม่วงกวน ฯลฯ เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตออกมามากจำหน่ายไม่ทัน และเพิ่มโอกาสทางการขายเข้าไปในคนกลุ่มที่ต้องการผลิตภัณฑ์แปรรูป


หลากคนหลายอาชีพ มารวมตัวสร้างคลัสเตอร์ สู่การทำเกษตรแบบยั่งยืน

“ตอนแรกที่ตัดสินใจกลับบ้าน ตั้งใจเลยว่าอยากทำเกษตร ด้วยความที่เดินทางมาเยอะเลยมีโอกาสเห็นคนทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรตามแนวพระราชดำริในหลวง ร.9 แล้วรู้สึกว่าเขายิ้มกันทุกคนเลย แล้วเขาได้อยู่บ้าน ได้อยู่กับครอบครัว เราเห็นภาพนั้นมาตลอด พอมีโอกาสกลับบ้านก็เลยรู้สึกว่า อยากทำแบบนี้ ไม่อยากไปไหน อยากยิ้มอยู่กับบ้านบ้าง” นิภาพร เล่าถึงที่มา

ด้านเพื่อนของเธอ อย่าง “นริสา” จ้าของสวนนริสา ก็เป็นมนุษย์เงินเดือนมาก่อนเช่นกัน โดยหลังเรียนจบจากสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร มหาวิทยาลัยนเรศวร เธอทำงานประจำเป็นแอดมินในบริษัทก่อสร้าง และรู้สึกเบื่อกับงานประจำ จึงตัดสินใจกลับมาบุกเบิกพื้นที่ว่างเปล่าของที่บ้าน เพื่อทำเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ เธอเล่าว่า ทำเกษตรไม่เป็นแต่อาศัยไปศึกษาจากคนที่ทำ และหาโอกาสเข้าอบรมเพื่อเรียนรู้วิธีทำการเกษตร แล้วลองเอามาปรับกับสวนของตัวเอง จนกลายเป็นสวนนริสา


ในขณะที่ “อุษณีย์กรณ์” เจ้าของแหลมโพธิ์ออร์แกนิกฟาร์ม มีประสบการณ์ที่แตกต่างจากคนอื่น โดยเธอเป็นทั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เคยทำงานขายประกันชีวิต และยังมีร้านขายสินค้าทางการเกษตรของตัวเอง และที่เธอตัดสินใจลุกมาทำเกษตรอินทรีย์ เพราะว่าการที่เธอเป็นผู้นำหมู่บ้าน แล้วก็มีร้านขายสินค้าเกษตร ได้เห็นชาวบ้านใช้เคมีในทางที่ผิด ใช้สารเคมีแบบฉีดเช้าเก็บเย็น ฉีดเย็นเก็บเช้าไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค บางรายก็เจอปัญหาเพลี้ยแมลงศรัตรูพืช ต้องฉีดยาฆ่าแมลง จนขาดทุน คุณภาพชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้น เลยอยากลองทำเกษตรอินทรีย์เพื่อให้ชาวบ้านได้เห็นว่า แม้ไม่ใช้สารเคมีก็อยู่รอดได้


สร้างแรงจูงใจ ให้ชาวบ้านเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์

สิ่งที่เธอทำเริ่มจากจุดเล็กๆ คือเปลี่ยนตัวเองและทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า การปลูกเกษตรอินทรีย์ดีกว่าเกษตรเคมีอย่างไร ผักอินทรีย์มีราคาที่ดีกว่าผักเคมีทั่วไปแค่ไหน เมื่อมีราคาเป็นแรงจูงใจ ชาวบ้านเห็นก็อยากที่จะลงมือปลูกผักอินทรีย์แบบพวกเธอมากขึ้นแม้แต่ละคนจะมีสวนเกษตรของตัวเอง มีผลผลิตและผลิตภัณฑ์จำหน่ายอยู่ในตลาดบ้างแล้ว

นิภาพร เล่าว่า เมื่อเวลาผ่านไป หลังจากเธอได้ผ่านการอบรมมาจากหลายโครงการ และมีประสบการณ์การทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้วันนี้เธอได้ผันตัวเองไปเป็นนักวิชาการ ออกไปให้ความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ และได้รวมกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ขึ้นมา วันนี้ กลุ่มเกษตรกรที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ตามคำแนะนำของเธอ สามารถสร้างรายได้ และหันมาทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง โดยไม่ต้องพึ่งพาเธอและกลุ่มนักวิชาการคนอื่นๆ


N-Do Fulltime การเริ่มต้นธุรกิจเกษตรแบบไม่โดดเดี่ยว

นิภาพร เธอรวมกับเพื่อนมาก่อตั้งกลุ่มเล็ก ที่ชื่อว่า “กลุ่มเกษตรอินทรีย์ N-Do Fulltime” เป็นการเริ่มต้นทำธุรกิจเกษตรแบบไม่โดดเดี่ยว ช่วยกันผลิต ช่วยกันค้า ช่วยกันขาย เพื่อเติบโตยั่งยืนไปด้วยกัน

“เรารวมกลุ่มกันเพื่อส่งผักเดลิเวอรีให้กับลูกค้าถึงบ้าน ทุกวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ ผ่านกลุ่มไลน์ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ N-Do Fulltime มีออกบูธขายผักที่วัดวังหินทุกวันอาทิตย์ และยังทำสลัดโรลส่งลูกค้าตามออเดอร์อีกด้วย นอกจากนี้เรายังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ได้จากผลผลิตทางการเกษตรของเราเอง อย่าง กิมจิ แชมพูมะกรูด น้ำยาล้างจานมะกรูด และเก๊กฮวยอินทรีย์อบแห้ง เป็นต้น”


นิภาพร บอกว่า การทำเกษตรกรไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเธอ เพราะ 1-2 ปีแรก เป็นการลงทุนอย่างเดียวเลย ผลตอบแทนแทบจะไม่ได้เลย เพราะด้วยตัวเองไม่ถนัดและไม่มีพื้นฐานในการปลูกผัก หรือทำงานกลางแจ้ง ก็เลยต้องหาเครื่องทุนแรง และเลือกทำเกษตรในโรงเรือนแทน เพราะไม่ต้องควบคุมดูแลมาก ทำในโรงเรือนไม่ต้องออกไปตากแดด แต่ต้องใช้เงินในการทำโรงเรือน เรียกว่าเงินที่ได้มาจากการเออลี่รีไทร์ หมดไปกับการทำเกษตรในช่วงแรก เธอเพิ่งจะเริ่มตั้งหลักและมีรายได้ เมื่อเข้ามาปี ที่ 3 และ 4 ที่ผ่านมา


“การจะทำเกษตรให้กลายเป็นธุรกิจ การวางแผนสำคัญมาก ไม่ว่าจะวางแผนการใช้เงิน วางแผนการใช้ชีวิต วางแผนว่าแต่ละวันเราจะต้องทำอะไรบ้าง เพราะถ้าเราไม่ได้วางแผน ทุกอย่างจะหายไปหมดเลย ไม่ว่าจะเงินลงทุนหรือเวลาที่เราลงแรงไป พืชผลที่เราลงทุนปลูกไป มันเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด เราอาจคิดแค่ว่า อยากกลับไปทำเกษตรสวยๆ ได้อยู่เงียบๆ ไม่ต้องวุ่นวายกับใคร แต่ในความเป็นจริงแล้วถ้าคุณไม่มีความรู้ มันจะประสบความสำเร็จไปไม่ได้เลย อย่างพวกเราเองทุกวันนี้ก็ไม่ได้คิดว่าสำเร็จหรืออะไร เพียงแต่ว่าเราทำต่อไปได้ โดยที่ไม่ได้ล้มเลิก ไม่ได้ถอดใจเหมือนคนอื่น ฉะนั้นมองว่า ถ้าอยากจะทำเกษตรมันต้องใจรักจริงๆ ยอมที่จะใช้ชีวิตทุกเวลาไปกับมัน เพราะว่าเกษตรอินทรีย์ต้องดูแล ต้องทุ่มเท และต้องมีใจให้ ซึ่งถ้าทำสำเร็จคุณก็จะอยู่รอด และมีความสุขไปกับมัน”

สนใจ ติดต่อ FB: กลุ่มเกษตรอินทรีย์ N-Do Fulltime


* *คลิกLikeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


SMEs manager
กำลังโหลดความคิดเห็น