xs
xsm
sm
md
lg

BGRIM อัดงบปีนี้ 5 หมื่นล้าน ตั้งเป้าไฟฟ้าใหม่ 900MW

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บี.กริม เพาเวอร์ ตั้งงบลงทุนปีนี้รวม 4.5-5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP Replacement 5 โรงและ SPP ที่อ่างทองอีก 2 โรง และการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) อีกราว 300-360 เมกะวัตต์ มั่นใจทั้งปี 64 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่ม 900 เมกะวัตต์ ดัน EBITDA Margin เพิ่มขึ้นกว่า 30% จากปีก่อนอยู่ที่ 29% พร้อมวางศิลาฤกษ์โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม แหลมฉบัง 1 กำลังการผลิต 140 เมกะวัตต์ ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่จะหมดอายุในนิคมฯ แหลมฉบัง จ่ายไฟเชิงพาณิชย์ปี 65 ป้อนให้ กฟผ.และลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมในอีอีซี

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานบี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ในปี 2564 บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนรวม 4.5-5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทน (SPP Replacement) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งสื้น 5 โครงการๆ ละ 140 เมกะวัตต์ (MW) โรงไฟฟ้า SPP อีก 2 โครงการ และการเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) อีก 300-360 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาโครงการทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ทำให้ทั้งปี 2564 บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มเข้ามารวม 900 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าในมือที่จะจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปีนี้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังลมที่มุกดาหาร 2 โรงรวม 16 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าไฮบริดที่สนามบินอู่ตะเภา 95 เมกะวัตต์, โครงการโซลาร์รูฟท็อปทั้งในไทยและฟิลิปปินส์อีก 15-20 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้า SPP ที่จะได้จากการทำ M&A ในไทย 300-360 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าในมาเลเซีย ขนาด 220-250 เมกะวัตต์, โครงการโรงไฟฟ้าพลังลมที่เกาหลีใต้ และเวียดนาม รวม 300 เมกะวัตต์ โดยไม่รวมโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ที่เวียดนามอีก 1,000-2,000 เมกะวัตต์

ส่งผลให้ปีนี้บริษัทฯ มั่นใจมีอัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA Margin) สูงขึ้นกว่า 30% จากปีก่อนอยู่ที่ 29% เติบโตต่อเนื่องทุกปี เป็นผลจาการบริหารจัดการ การบริการจัดการต้นทุนราคาก๊าซฯ หากบริษัทมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เองจะทำให้ต้นทุนค่าก๊าซฯ ถูกลง ส่งผลให้บริษัทเพิ่มอัตรากำไรมากยิ่งขึ้น

สำหรับแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าในนิคมฯ ที่ย่างกุ้ง เมียนมานั้นจะชะลอออกไปก่อนหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาทำให้อมตะตัดสินใจชะลอการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวออกไปก่อน

ส่วนโครงการโซลาร์ฟาร์มของกองทัพบกที่ศึกษาการนำพื้นที่ราชพัสดุในการดูแลของกองทัพบกทั่วประเทศกว่า 4.5 ล้านไร่ มาพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มรวม 3 หมื่นเมกะวัตต์ โดยระยะแรกจะพัฒนา 300 เมกะวัตต์ที่ จ.กาญจนบุรีนั้น โครงการดังกล่าวต้องเข้ามาบรรจุในแผน PDP ก่อน หลังจากนั้นต้องรอดูนโยบายว่าจะให้ภาคเอกชนเข้าไปรับสัมปทานหรือร่วมลงทุนอย่างไร ซึ่งบริษัทฯ ก็มีความสนใจเนื่องจากมีการลงทุนโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มอยู่แล้วหลายโครงการ เช่น โครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร กำลังการผลิต 31 เมกะวัตต์ เป็นต้น

วันที่ 19 ก.พ. BGRIM เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ได้วางศิลาฤกษ์โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (แหลมฉบัง) 1 จำกัด ขนาดกำลังการผลิต 140 เมกะวัตต์ ทดแทนโครงการเดิมที่กำลังหมดอายุสัญญา 103 เมกะวัตต์ ณ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ภายใต้รูปแบบโรงไฟฟ้า SPP เพื่อป้อนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 30 เมกะวัตต์ และโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง คาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2565

ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามแผนการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทน (SPP Replacement) ของรัฐบาล ซึ่ง บี.กริม เพาเวอร์ อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในพื้นที่ EEC รวมทั้งสิ้น 5 โครงการ โครงการละ 140 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 30 เมกะวัตต์ ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระยะเวลา 25 ปี และส่วนที่เหลือเป็นการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 700 เมกะวัตต์ อันเป็นการสร้างเพื่อทดแทนโครงการเดิมด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง และคาดว่าจะลดอัตราการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติได้ถึงร้อยละ 10-15 เมื่อเทียบกับโครงการเดิมที่กำลังจะหมดอายุสัญญาลง

ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด 48 โครงการ รวมกำลังการผลิต 3,058 เมกะวัตต์ หากรวมโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาจะทำให้กำลังการผลิตขยายเป็น 3,682 เมกะวัตต์ โดยภายในปี 2568 มีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตเป็น 7,200 เมกะวัตต์ จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาและศึกษา คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในอนาคตอันใกล้
กำลังโหลดความคิดเห็น