xs
xsm
sm
md
lg

ชิปขาดแคลนหนักทั่วโลก!! ค่ายรถกุมขมับรายได้หายวับ$6หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ปัญหาชิปขาดแคลนส่งผลกระทบอย่างแรงต่ออุตสาหกรรมยานยนต์
คาดค่ายรถทั่วโลกสูญรายได้หลายหมื่นล้านจากการขาดแคลนชิป ซึ่งอาจยิ่งเลวร้ายถ้าปัญหาบานปลายกลายเป็นศึกแย่งชิงระหว่างบริษัท อุตสาหกรรม หรือแม้แต่ระหว่างประเทศ ขณะเดียวกัน สถานการณ์นี้ถือเป็นสัญญาณเตือนยุโรปให้เริ่มมองหาทางหนีทีไล่เพื่อลดการพึ่งพิงซัปพลายเออร์อเมริกาและเอเชีย

บริษัทที่ปรึกษา เอลิกซ์พาร์ตเนอร์ส คาดว่า การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์หรือชิปจะทำให้อุตสาหกรรมรถทั่วโลกสูญรายได้ถึง 60,600 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

เมื่อเร็วๆ นี้ เจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) คาดหมายว่า ปัญหานี้จะทำให้บริษัทสูญรายได้ 1,500-2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 ขณะที่ฮอนด้า มอเตอร์ และนิสสัน มอเตอร์ คาดว่า จะผลิตรถลดลง 250,000 คันจากตอนนี้จนถึงเดือนมีนาคม

ฟอร์ด มอเตอร์ประกาศเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า จำใจลดการผลิตรถปิ๊กอัพยอดนิยม F-150 ที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้บริษัท และที่จีน โรงงานหลายแห่งปิดนาน 2 สัปดาห์ ขณะที่โฟล์คสวาเกนระงับการผลิตในโรงงาน 2 แห่งในเยอรมนีเมื่อเดือนที่แล้ว

ชิปถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญอย่างน่าตกใจสำหรับรถรุ่นใหม่ ตัวอย่างเช่น SUV ของอาวดี้ที่ใช้ชิปถึง 38 ชิ้นตั้งแต่เครื่องยนต์ไปจนถึงระบบเบรก ABS ถุงลมนิรภัย และระบบช่วยจอดอัจฉริยะ

แดน เฮิร์ช กรรมการผู้จัดการฝ่ายยานยนต์และแนวทางปฏิบัติในอุตสาหกรรมของเอลิกซ์พาร์ตเนอร์ บอกว่า สถานการณ์อาจลุกลามกลายเป็นศึกแย่งชิงชิประหว่างบริษัท อุตสาหกรรม หรือแม้แต่ระหว่างประเทศ

มีเพียงโตโยต้า มอเตอร์เท่านั้นที่ไม่ทุกข์ร้อนกับใคร โดยเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้วเพิ่งแถลงว่า ตุนชิปไว้เพียงพอสำหรับการผลิตรถนาน 4 เดือน

บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ต่างไล่ตามหาซัปพลายเออร์ชิป แต่ปัญหาการขาดแคลนเกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทานจึงส่งผลกระทบไปทั่วทั้งเครือข่าย

บริษัทวิจัย ไอเอชเอส มาร์กิตคาดการณ์ว่า ช่วงไตรมาสแรกปีนี้การผลิตรถจะลดลง 672,000 คัน ในจำนวนนี้รวมถึง 250,000 คันในจีนซึ่งเป็นตลาดรถใหญ่ที่สุดของโลก

แม้ซัปพลายเออร์ชิปรายใหญ่อย่างไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ มานูแฟกเจอริ่ง (ทีเอสเอ็มซี) และยูไนเต็ด ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอยู่ในไต้หวันทั้งคู่ ประกาศแผนเพิ่มกำลังผลิต แต่ไอเอชเอสมองว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวแทบไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนในระยะสั้นเลย

ฟิล แอมสรัด นักวิเคราะห์อาวุโสของไอเอชเอสด้านระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง เซมิคอนดักเตอร์ และส่วนประกอบ อธิบายว่า เป็นเพราะการขาดแคลนชิปเป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเหล่าผู้รับจ้างผลิต ขณะที่ซัปพลายชิปมีจำกัด ดังนั้น ปัญหานี้จะไม่หายไปจนกว่าทั้งสองส่วนจะสมดุลกัน

สาเหตุการขาดแคลนชิปที่แท้จริงเริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้วที่โควิดทำให้โรงงานประกอบรถยนต์ต้องปิดชั่วคราว ส่งผลให้ซัปพลายเออร์ชิ้นส่วนต่างๆ ต้องสแตนด์บายและชะลอแผนการลงทุนไว้ก่อน ขณะที่ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ปรับแผนไปเพิ่มกำลังผลิตป้อนอุตสาหกรรมคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้อานิสงส์จากกระแสเวิร์กฟอร์มโฮมแทน

แต่แล้วดีมานด์รถใหม่ในเอเชีย โดยเฉพาะจีน กลับฟื้นเร็วเกินคาด ขณะที่เหล่าผู้ผลิตชิปยังคงโหมผลิตส่งให้อุตสาหกรรมคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ จึงไม่สามารถตอบสนองดีมานด์จากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ฟื้นตัวปุบปับได้ทันท่วงที ประกอบกับการที่ช่วงหลายทศวรรษมานี้ ค่ายรถต่างๆ หันมาพึ่งพิงระบบจัดส่งชิ้นส่วนแบบทันเวลาพอดี ทำให้ปัญหาการขาดแคลนชิปส่งผลกระทบทั่วทั้งวงการอย่างรวดเร็ว

บ๊อช ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำของโลกที่ผลิตชิปเอง ยอมรับว่า ยากที่จะตอบสนองความต้องการที่สวิงกลับมาได้ เนื่องจากการปรับสายการผลิตต้องใช้เวลาถึง 6 เดือนสำหรับชิ้นส่วนที่ซับซ้อน

ด้านทีเอสเอ็มซีที่ไอเอชเอสระบุว่า เป็นผู้ผลิตชิปขั้นสูงที่ซับซ้อนที่สุดถึง 70% ของผลผลิตทั่วโลก เผยว่า ขณะนี้โรงงานเดินเครื่องผลิตเต็มกำลังและพยายามตอบสนองดีมานด์จากอุตสาหกรรมรถอย่างดีที่สุดแล้ว

ไอเอชเอสคาดว่า ปัญหาการขาดแคลนชิปจะยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 3 ปีนี้ เมื่อมีการจัดสรรกำลังผลิตในโรงหล่อเซมิคอนดักเตอร์ใหม่ลงตัวและดีมานด์จากอุตสาหกรรมคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์อาจชะลอลง

ด้านบริษัทรถยนต์เผยว่า พยายามรับมือสถานการณ์นี้อย่างดีที่สุดเช่นกัน เพียงแต่ว่ายังฟื้นตัวไม่เต็มที่จากภาวะยอดขายทรุดจากโควิดเมื่อปีที่แล้ว กระนั้น ส่วนใหญ่หวังว่า จะฟื้นกำลังผลิตที่หายไปได้ภายในช่วงครึ่งหลังปีนี้

ขณะเดียวกัน แมทธิว ดูคาเทล จากทีมคลังสมองของฝรั่งเศส แองสติตุต มงแตน ชี้ว่า ปัญหาการขาดแคลนชิปกลายเป็นสัญญาณเตือนรัฐบาลในยุโรปที่กังวลอยู่ก่อนแล้วเรื่องความเสี่ยงด้านอุปทานจากกรณีที่อเมริกากับจีนฟัดกันเรื่องการเข้าถึงเซมิคอนดักเตอร์ของหัวเว่ย เทคโนโลยีส์

โดยขณะนี้ 13 ชาติยุโรปซึ่งรวมถึงเยอรมนีและฝรั่งเศส กำลังร่วมกันหาวิธีทำให้ยุโรปที่ผลิตชิปได้แค่ 10% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก ไม่ต้องพึ่งพิงเซมิคอนดักเตอร์จากเอเชียและอเมริกา

โจ เคเซอร์ อดีตประธานซีเมนส์ ทิ้งท้ายให้เห็นภาพชัดเจนในบทสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฮันเดลส์บลัตต์ของเยอรมนีเมื่อเดือนที่แล้วว่า เซมิคอนดักเตอร์วันนี้สำคัญกว่าซอฟต์แวร์หรือคลาวด์ เพราะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น