xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.กำไรปี 63 ลดฮวบ 59% อยู่ที่ 3.77 หมื่นล้าน-จ่ายปันผลครึ่งปีหลัง 82 สต./หุ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ปตท.แจงผลการดำเนินงานปี 63 มีกำไรสุทธิ 3.77 หมื่นล้านบาท ลดลงร้อยละ 59.4 จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 9.29 หมื่นล้านบาท เหตุจากรายได้ของทุกกลุ่มธุรกิจลดลง เว้นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรม ด้านบอร์ด ปตท.อนุมัติจ่ายปันผลงวดครึ่งหลังปี 63 หุ้นละ 0.82 บาท

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 37,765.80 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 59.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 92,950.60 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 1.32 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิต่อหุ้น 3.20 บาท

ทั้งนี้ ในปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขาย 1,615,665 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 จำนวน 604,074 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.2 จากเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ ตามราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่ลดลง ยกเว้นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรมมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเข้าซื้อโกลว์พลังงาน จำกัด (มหาชน) (GLOW) โดยบริษัท โกลบอลเพาเวอร์ซินเนอร์ยี จำกัด (มหาชน)(GPSC) ในช่วงปลายไตรมาส 1 ปี 2562

ในปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อยมี EBITDA จำนวน 225,672 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 21.9 สาเหตุหลักจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ผลการดำเนินงานปรับลดลงตามราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง แม้ปริมาณขายจะเพิ่มขึ้นจากโครงการมาเลเซียและกลุ่ม Partex กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่ลดลงอย่างมากเช่นกัน โดยหลักจากขาดทุนสต๊อกน้ำมันในปี 2563 ประมาณ 19,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับลดลงจากสิ้นปี 2562 ที่ 67.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยูที่ 51.1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ณ สิ้นปี 2563 รวมทั้งความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปและปิโตรเคมีชะลอตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะที่ปี 2562 มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันประมาณ 2,800 ล้านบาท โดย Market GRM ปรับลดลงจาก 2.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในปี 2562 เป็น 0.8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2563

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลง โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซเนื่องจากราคาขายที่ลดลงตามราคาปิโตรเคมีและปริมาณขายที่ลดลงจากผลกระทบโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของกลุ่มเทคโนโลยีและวิศวกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเข้าซื้อ GLOW ของ GPSC ในช่วงปลายไตรมาส 1 ปี 2562

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564 ได้กำหนดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 9 เม.ย.นี้เพื่ออนุมัติการจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งหลังปี 2563 ที่ 0.82 บาทต่อหุ้น และกำหนดวันจ่ายปันผล 30 เม.ย. 2564 เมื่อรวมกับการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่อัตรา 0.18 บาทต่อหุ้น ทำให้งวดการดำเนินงานปี 2563 ปตท.จ่ายปันผลอัตรา 1 บาทต่อหุ้น

สำหรับแนวโน้มในปี 2564 คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะเฉลี่ยอยู่ที่ 55-60 เหรียญสหรัฐต่อตัน และค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-2.50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนแนวโน้มราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มโอเลฟินส์ในปี 2564 แนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น คาดว่าราคาผลิตภัณฑ์พลาสติก HDPE และ PP จะเฉลี่ยที่ 950-1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน และ 1,100-1,150 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

“ผมเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 นี้จะกลับมาฟื้นตัวภายใต้ 3 เงื่อนไข คือ ไม่เร็ว ยังต้องใช้เวลากว่าจะกลับมาฟื้นตัวเท่ากับปี 2562, ไม่ทั่วถึง เพราะการฟื้นตัวในแต่ละภาคธุรกิจจะไม่เท่ากัน และยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การควบคุมโรคและวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดย ปตท.พร้อมร่วมขับเคลื่อนด้วยการสร้างความเข้มแข็งด้านพลังงาน ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้เติบโตไปด้วยกันตามกรอบแนวคิด ‘Powering Thailand’s Transformation’” นายอรรถพลกล่าว

ในส่วนของแผนวิสาหกิจ 5 ปี (พ.ศ. 2564-2568) กลุ่ม ปตท.เตรียมแผนลงทุนในวงเงินรวม 850,573 ล้านบาท (ไม่รวมโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการลงทุนหรือแสวงหาโอกาสในการลงทุน) เพื่อลงทุนในธุรกิจหลัก เช่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 การขยายขีดความสามารถของ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3

นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้าจำนวน 804,202 ล้านบาท เพื่อการขยายการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจก๊าซธรรมชาติสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า (Gas-to-Power) ห่วงโซ่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า (Electricity Value Chain) ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการมุ่งสู่ธุรกิจใหม่ในกลุ่ม Life science เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทยโดยการจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563
กำลังโหลดความคิดเห็น