xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.-ก.พลังงานเชื่อมข้อมูลใช้พลังงานในภาคอุตฯ หวังลดก๊าซเรือนกระจก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ส.อ.ท.ผนึกกระทรวงพลังงาน ร่วมบูรณาการข้อมูลการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรม หวังพัฒนาระบบข้อมูลพลังงานของประเทศ (Big Data) นำไปสู่การลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นต้องจัดทำฐานข้อมูล (Database) การใช้พลังงานของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯเพื่อทราบถึงข้อมูลการใช้พลังงาน ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุวัตถุประสงค์และสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาวางแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย

“ส.อ.ท.ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน จึงได้มีการแต่งตั้ง “คณะทำงานส่งเสริมและสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม” ขึ้นมาเพื่อร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมในการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ ให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ” นายสุพันธุ์กล่าว

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สนพ.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงานให้เป็นหน่วยประสานงานในการดำเนินงานรายงานการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการพลังงาน ตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยภายใต้การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ( NDC) ฉบับปรับปรุงของประเทศไทย (Thailand’s Updated NDC) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 20-25% จากปริมาณการปล่อยในกรณีปกติภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งผลการลดก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวจะสอดคล้องกับมาตรการพัฒนาพลังงานทดแทนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงการอนุรักษ์พลังงานในสาขาอุตสาหกรรมที่เป็นสาขาเศรษฐกิจหลักที่มีศักยภาพการอนุรักษ์พลังงานสูงเป็นอันดับหนึ่ง
 
นอกจากนี้ สนพ.ยังได้รับมอบหมายให้จัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ หรือ NEIC ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานให้บริการข้อมูลด้านพลังงาน และพัฒนาระบบข้อมูลพลังงานของประเทศ (Big Data) ให้เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานให้อยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน และเป็นหน่วยงานหลักในการนำข้อมูลด้านพลังงานมาวิเคราะห์เพื่อยกระดับการสื่อสาร รวมถึงการใช้ประโยชน์ในด้านการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแล และการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องพลังงานของสังคมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การลงนามครั้งนี้จึงถือเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบข้อมูลพลังงานของภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจของศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ และภารกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกระทรวงพลังงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น