xs
xsm
sm
md
lg

RATCH ตั้งเป้าปิดดีล M&A ปีนี้กว่า 5 โครงการ พร้อมเลื่อนเป้ากำลังผลิตแตะ 1 หมื่น MW ไปปี 68

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ราช กรุ๊ป” เลื่อนเป้ากำลังการผลิตตามเป้าหมาย 1 หมื่นเมกะวัตต์ ไปปี 2568 จากเดิมปี 2566 พร้อมอัดเงินลงทุนปีนี้ 1.5 หมื่นล้านบาท สานโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ที่จะเข้ามาอีก 700 เมกะวัตต์ แย้มไตรมาส 1 นี้คาดปิดดีล M&A อย่างน้อย 1 โครงการ จากเป้าทั้งปีไม่ต่ำกว่า 5 โครงการ ปลื้มโกยกำไร 6,287 ล้านบาทในปี 2563 เตรียมจ่ายเงินปันผลอีก 1.25 บาทต่อหุ้น

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ปรับกำลังการผลิตเป้าหมาย 10,000 เมกะวัตต์ (MW) เลื่อนเป็นปี 2568 จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ในปี 2566 โดยวางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เฉลี่ยปีละ 700 เมกะวัตต์ เพื่อชดเชยกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี 1,440 เมกะวัตต์ ที่จะหายไปจากการสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในปี 2568

โดยปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ 700 เมกะวัตต์ มาจากพลังงานเชื้อเพลิงหลัก 455 เมกะวัตต์ และพลังงานทดแทน 245 เมกะวัตต์ โดยจะเป็นโรงไฟฟ้าที่มาจากการเข้าซื้อกิจการ (M&A) 350 เมกะวัตต์ คาดว่าไตรมาสแรกปีนี้น่าจะปิดดีลได้อย่างน้อย 1 โครงการ ซึ่งอาจเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องก็ได้และทั้งปี 2564 วางเป้าหมายการทำ M&A ไม่น้อยกว่า 5 โครงการ หากสามารถดำเนินการตามเป้าหมายจะทำให้กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 8,874 เมกะวัตต์

บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนในปี 2564 อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนโครงการต่อเนื่องต่างๆ 8 พันล้านบาท และอีก 7 พันล้านบาทใช้ลงทุนโครงการใหม่ หรือการทำ M&A โรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว โดยมองโอกาสการลงทุนในตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่ธุรกิจพลังงานทดแทนเติบโต

ในปี 2564 บริษัทฯ มั่นใจว่าจะมีผลการดำเนินงานเติบโตขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากปีนี้บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการ M&A ใหม่ที่วางเป้าไว้ 350 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปีนี้อีก 4 โครงการ รวมกำลังผลิตตามการถือหุ้น 537.04 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น 149.94 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 70%) โรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเล็กเตอร์ 226.8 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 100%) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว อินโดนีเซีย 145.15 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 49%) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม Thanh Phong เวียดนาม 15.15 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 51%)

“บริษัทฯ กำหนดกลยุทธ์การลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมาย 700 เมกะวัตต์ โดยจะลงทุนในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 350 เมกะวัตต์ เพื่อเสริมกระแสเงินสดและรายได้ของบริษัทให้มั่นคงมากขึ้น อีกทั้งแสวงหาการลงทุนเพื่อสนับสนุนเป้าหมายกำลังผลิตพลังงานทดแทน 2,500 เมกะวัตต์ในปี 2568 รวมทั้งธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลได้ นอกจากนี้ก็จะจับมือกับพันธมิตรรายเดิมขยายการลงทุนโครงการใหม่ๆ ร่วมกันด้วย สำหรับธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านพลังงานก็จะขับเคลื่อนโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาให้ไปสู่การร่วมทุนและดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การร่วมทุนนวัตกรรมด้านไฟฟ้ากับกลุ่ม กฟผ. คาดว่าจะสามารถลงนามจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้ในปีนี้ โครงการจัดตั้งโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่งในประเทศ และ สปป.ลาว และโครงการจัดหาเชื้อพลิงแอลเอ็นจี โครงการดังกล่าวนี้ บริษัทได้จัดเตรียมวางแผนการจัดหาเงินไว้พร้อมแล้ว และมั่นใจว่าเป้าหมายที่วางไว้จะสามารถดำเนินการได้สำเร็จ” นายกิจจากล่าว

ส่วนกรณี สปป.ลาว ทำหนังสือขอชะลอการจ่ายค่าไฟฟ้ามายังผู้ประกอบการที่ผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาวนั้น เบื้องต้นบริษัทฯ จะได้รับผลกระทบบ้าง เนื่องจากโรงไฟฟ้าหงสามีสัญญาสัมปทานจ่ายเงินค่าเหมืองถ่านหินด้วย ดังนั้น ขณะนี้บริษัทได้มีการเจรจาที่จะขอรับการจ่ายค่าไฟฟ้าบางส่วนราว 1 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นเงินกีบ เพื่อนำมาชำระเป็นเงินเดือนพนักงานที่อยู่ใน สปป.ลาว และอื่นๆ ส่วนที่เหลือขอรับชำระเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะเริ่มจ่ายค่าไฟเป็นเงินกีบได้ใน 3-4 เดือนข้างหน้า

สำหรับผลประกอบการปี 2563 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 6,286.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% จากปี 2562 คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 4.34 บาท และมีรายได้รวม (ไม่รวมค่าเชื้อเพลิง) มีจำนวน 16,155.92 ล้านบาท ซึ่งประมาณ 94.8% เป็นรายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจหลัก แบ่งเป็นรายได้จากโรงไฟฟ้า IPP ประมาณ 68.9% โรงไฟฟ้า SPP ประมาณ 15.7% และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ประมาณ 10.2% เติบโตขึ้นเนื่องจากได้รับแรงหนุนจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าหงสา และกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่ดีขึ้นจากปีที่แล้ว รวมทั้งมีการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังความร้อน Thang Long เวียดนาม ซึ่งบริษัทลงทุนผ่านกองทุน ABIEF ขณะที่ภาพรวมรายได้ส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุนในปี 2563 เพิ่มขึ้น 15.9% เป็นเงินจำนวน 4,600 ล้านบาท

ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2564 มีมติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2563 หุ้นละ 2.4 บาท โดยจะนำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ในวันที่ 5 เม.ย. 2564 กำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 23 เม.ย. 2564 ทั้งนี้ บริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 (งวดเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2563) ที่ 1.15 บาท/หุ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น