xs
xsm
sm
md
lg

“เรือข้ามฟาก-แสนแสบ” ยังไม่พร้อมรับ “เราชนะ” กรมเจ้าท่าเร่ง “กรุงไทย” แก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“กรมเจ้าท่า” ถก “กรุงไทย” เร่งแก้ปัญหาเรือแสนแสบและข้ามฟากร่วม“เราชนะ“ยังไม่ได้ ชี้ระบบไม่คล่องตัว ผู้โดยสารไม่สะดวกเสียเวลาเพิ่ม ไม่จูงใจใช้ แนะกรุงไทยลงพื้นที่ดูการบริหารจัดการ ส่วนเรือด่วนไม่มีปัญหา สแกนชำระค่าโดยสารได้แล้ว

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลดำเนินโครงการ “เราชนะ” เพื่อบรรเทาและลดภาระประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยจ่ายเงินเยียวยาให้คนละ 3,500 บาทเป็นเวลา 2 เดือนนั้น โดยจะครอบคลุมบริการขนส่งสาธารณะด้วยนั้น ในส่วนของขนส่งทางน้ำนั้นมีทั้งเรือด่วนเจ้าพระยา เรือแสนแสบ เรือข้ามฟาก โดยวันนี้ (15 ก.พ.) กรมเจ้าท่าได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการทางเรือทั้งหมดและธนาคารกรุงไทยเพื่อทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมในการร่วมโครงการ “เราชนะ”

ผู้ให้บริการเรือโดยสารที่เจ้าของเป็นนิติบุคคล ได้แก่ เรือข้ามฟาก เรือโดยสารในแม่น้ำ ลำคลอง และทะเล จะต้องสมัครเข้าร่วมโครงการที่ธนาคารกรุงไทย โดยดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” และผูกกับบัญชีออมทรัพย์ กรณีที่ไม่มีบัญชีต้องเปิดบัญชีก่อน โดยเมื่อผ่านการตรวจสอบผู้ประกอบการจะได้ ID เพื่อใช้สำหรับให้ผู้โดยสาร “เราชนะ” สแกนชำระค่าโดยสาร

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการเรือด่วนเจ้าพระยา ยืนยันมีความพร้อมในการบริการ “เราชนะ” ชำระค่าโดยสารได้แล้ว เนื่องจากมีระบบชำระค่าบริการบนท่าเรือ สามารถควบคุมได้ โดยจะยังคงฉีกตั๋วให้ผู้โดยสารเพื่อใช้ยืนยันว่าได้ชำระค่าโดยสารแล้ว ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหากรณีแบตเตอรี่มือถือหมด หรือมีปัญหาต่างๆ ผู้โดยสารไม่ต้องเสียเวลาเปิดหน้าจอมือถือแสดง

ส่วนเรือแสนแสบ และเรือข้ามฟากซึ่งมีกว่า 20 รายนั้นสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการเราชนะ แต่เนื่องจากการบริหารจัดการหน้าท่าแตกต่างกัน ดังนั้นที่ประชุมได้มีมติร่วมกันให้ธนาคารกรุงไทยพูดคุยกับผู้ประกอบการแต่ละรายเพื่อแนะนำวิธีการเข้าร่วมโครงการ ลงพื้นที่แต่ละท่าเรือเพื่อดูวิธีการบริหารจัดการจริง และหารูปแบบในการบริการที่รวดเร็ว

เนื่องจากผู้ใช้บริการส่วนมากต้องการเดินทางด้วยความรวดเร็วและคล่องตัว หากการใช้งาน “เราชนะ” แล้วต้องเสียเวลาในการสแกนแอปฯ แลกกับค่าโดยสารที่ไม่มากนัก เช่น 3 บาท 5 บาท อาจจะทำให้ผู้โดยสารไม่นิยม อีกทั้งเวลาในโครงการเพียง 2 เดือน หรือสิ้นสุดเดือน พ.ค. เป็นมาตรการชั่วคราวจึงอาจไม่จูงใจ และใช้เงินสดชำระค่าโดยสารจะสะดวก และเร็วกว่า

“ช่วงโควิดต้องยอมรับผู้โดยสารเดินทางน้อยลงเพราะปรับเป็นทำงานที่บ้าน (work
from home) ทำให้จำนวนลดลงไป 30-50% โดยเรือข้ามฟาก จาก 93,206 คน/วัน เหลือประมาณ 66,098 คน/วัน เช่น เรือข้ามฟากท่าช้าง วังหลัง ก่อนหน้านี้จะมีนักเรียกนักศึกษาและคนทำงานใช้บริการมาก ตอนนี้ลดลงไปค่อนข้างมาก ส่วนเรือด่วนเจ้าพระยาลดลงกว่า 40% เหลือประมาณ 12,500 คน/วัน ส่วนเรือแสนแสบจาก 30,000-40,000 คน/วัน เหลือ 15,000 กว่าคน/วัน”


กำลังโหลดความคิดเห็น