xs
xsm
sm
md
lg

เสียงเชียร์ดัง!ทำงาน4วันต่อสัปดาห์ แก้ปัญหาหมดไฟ-ป้องกันปลดพนง.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


นอกจากเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแล้ว การลดเวลาทำงานเหลือสัปดาห์ละ 4 วันยังอาจช่วยเอาชนะภาวะหมดไฟและอาการล้าเรื้อรัง รวมทั้งป้องกันการลอยแพพนักงานครั้งใหญ่และการลดเงินเดือน
ไอเดียการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันได้รับการสนับสนุนมากขึ้น ทั้งระดับผู้นำประเทศอย่างนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ฟินแลนด์ รัสเซีย หรือแม้แต่ญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำงานหนักยังนำเสนอแนวคิดนี้เข้าสู่สภา นอกจากนั้นยังมีบริษัทข้ามชาติและสหภาพแรงงานที่เชียร์ไอเดียนี้เช่นเดียวกัน เพราะนอกจากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแล้ว ยังอาจช่วยแก้ปัญหาการหมดไฟ อาการล้าเรื้อรัง อีกทั้งป้องกันการลอยแพพนักงานครั้งใหญ่และการลดเงินเดือน ขณะที่ทั่วโลกยังคงต้องปรับตัวเพื่อรับมือผลกระทบจากวิกฤตไวรัส

ผู้เชี่ยวชาญชี้การที่สเปนเตรียมทดสอบแนวทางการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันเพื่อรับมือการระบาดของโควิด-19 อาจเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทัศนคติถาวรเกี่ยวกับสมดุลชีวิตและการทำงาน

ต้นเดือนนี้ รัฐบาลสเปนตกลงเริ่มโครงการนำร่องทดลองการทำงานสัปดาห์ละ 32 ชั่วโมงในช่วง 3 ปีโดยไม่ลดเงินเดือนพนักงาน ด้วยการจัดสรรงบประมาณ 60 ล้านดอลลาร์ให้บริษัทที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม ไอจี เมทัล สหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดของเยอรมนี เสนอแนวทางเดียวกันนี้เพื่อป้องกันการปลดพนักงานครั้งใหญ่และการลดเงินเดือน

โจ ไรล์ จาก 4-เดย์ วีก แคมเปญในอังกฤษ เผยว่า แนวคิดนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นนับตั้งแต่โควิดระบาด และการที่คนส่วนใหญ่เปลี่ยนมาทำงานจากที่บ้านกะทันหันทำให้หลายคนคิดได้ว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้และยังเกิดขึ้นเร็วมากถ้าเราเต็มใจทำ นอกจากนั้น เมื่อมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น เรายังมีเวลาทบทวนสิ่งที่สำคัญกับชีวิตมากขึ้นด้วย

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา 4-เดย์ วีก แคมเปญทำจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำในหลายประเทศทั่วโลกชักชวนให้พิจารณาการลดเวลาทำงานเพื่อรับมือโรคระบาด ในจดหมายเน้นย้ำว่า ที่ผ่านมาเคยมีการนำหลักการการลดชั่วโมงทำงานมาใช้ในช่วงวิกฤตเพื่อกระจายงานระหว่างคนว่างงานกับคนที่ทำงานหนักกว่าที่ตัวเองต้องการ

แม้แต่ญี่ปุ่น ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องวัฒนธรรมการทำงานหนักถึงขนาดที่มีการบัญญัติศัพท์คำว่า karoshi ซึ่งแปลว่าการทำงานหนักจนตาย สมาชิกคนหนึ่งของพรรครัฐบาลได้เสนอไอเดียการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันให้สภาพิจารณาเมื่อต้นเดือน อย่างไรก็ดี ภายใต้ข้อเสนอนี้ พนักงานจะถูกลดค่าตอบแทนตามเวลาทำงานที่ลดลง

ขณะเดียวกัน รายงานที่ 4-เดย์ วีก แคมเปญจัดทำร่วมกับกลุ่มคลังสมอง ออโตโนมี แอนด์ คอมพาสส์ และเผยแพร่ออกมาในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งอ้างอิงงานวิจัยของมูลนิธิสุขภาพจิตระบุว่า คนอังกฤษที่ทำงานจากที่บ้านระหว่างวิกฤตโรคระบาด จริงๆ แล้วทำงานมากกว่าที่ทำในออฟฟิศเฉลี่ยเดือนละ 28 ชั่วโมง

ที่สก็อตแลนด์ สมาชิกสภาบางคนเห็นด้วยกับการทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน

เดือนธันวาคม ออโตโนมีเผยแพร่รายงานการศึกษาหน่วยงานภาครัฐของสก็อตแลนด์ที่พบว่า การทำงานสัปดาห์ละ 4 วันอาจมีต้นทุนปีละ 1,900 ล้านดอลลาร์ แต่สามารถสร้างงานใหม่ 45,000-59,000 ตำแหน่ง

ปลายเดือนเดียวกันนั้น ออโตโนมีออกรายงานอีกฉบับที่ทำการศึกษาในสหราชอาณาจักรโดยใช้สถิติความสามารถในการทำกำไรของบริษัท 50,000 แห่งภายใต้สถานการณ์เลวร้ายที่สุด ซึ่งพบว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ของอังกฤษสามารถรองรับแนวคิดการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันโดยไม่ต้องลดเงินเดือน หลังจากที่วิกฤตโรคระบาดรอบแรกผ่านไปแล้ว

นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์นของนิวซีแลนด์ สนับสนุนให้นายจ้างที่มีศักยภาพพิจารณาไอเดียนี้เช่นเดียวกัน โดยบอกว่า เป็นวิธีเดียวในการฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังวิกฤตโรคระบาด

นอกจากนั้นยังมีนายกรัฐมนตรีซานนา มารินของฟินแลนด์ ที่ส่งเสริมแนวทางการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันและวันละแค่ 6 ชั่วโมง

อดีตนายกรัฐมนตรีดมิทรี เมดเวเดฟ ที่ปัจจุบันเป็นรองประธานสภาความมั่นคงของรัสเซีย เสนอว่า การทำงานสัปดาห์ละ 4 วันอาจช่วยให้พนักงานเอาชนะภาวะหมดไฟในการทำงานและอาการล้าเรื้อรัง

การลดเวลาในการทำงานยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ไมโครซอฟท์ เจแปนที่อนุญาตให้พนักงาน 2,300 คนหยุดงานเพิ่มทุกวันศุกร์นาน 1 เดือนโดยไม่ลดเงินเดือน ภายใต้แคมเปญ “เวิร์ก-ไลฟ์ ชอยซ์ ชาเลนจ์ ซัมเมอร์ 2019” และพบว่า ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเพิ่มขึ้นถึง 40% ในแง่ยอดขายต่อพนักงาน 1 คน, พนักงานลาหยุดน้อยลง 25% และการใช้ไฟฟ้าลดลง 23%

ยูนิลีเวอร์ บริษัทคอนซูเมอร์โปรดักต์ยักษ์ใหญ่ของโลก เริ่มทดลองโครงการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันโดยไม่หักเงินเดือนกับพนักงานทั้ง 81 คนในนิวซีแลนด์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วโดยมีระยะเวลา 1 ปี และจะนำผลลัพธ์จากโครงการนี้มาประเมินว่า ควรนำไปใช้กับพนักงานทั้งหมด 155,000 คนทั่วโลกหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น