xs
xsm
sm
md
lg

จับตา 'Clubhouse' โซเชียลมีเดียดูดชีวิต เล่นกับความไม่อยากพลาดของคนฟัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



Clubhouse กลายเป็นโซเชียลมีเเดียน้องใหม่ที่เริ่มได้รับความนิยมในประเทศไทยเป็นอย่างมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยหลายคนมองว่า จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากการที่เจ้าพ่อเทคโนโลยีอย่าง Elon Musk สร้างห้องสนทนาพูดคุยกับซีอีโอของ Robinhood แพลตฟอร์มซื้อขายหลักทรัพย์ที่กำลังเป็นประเด็นในช่วงเวลานั้น

เมื่อถึงขั้นที่ Elon Musk ลงมาใช้งานแอปพลิเคชันนี้ บรรดานักลงทุนต่างๆ รวมถึงผู้ที่สนใจในเทคโนโลยีก็พร้อมที่จะเข้ามาสู่โซเชียลมีเดียแห่งนี้พร้อมๆ กัน จนเกิดเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงข้ามคืน เมื่อผู้ใช้งานชาวไทยเริ่มเข้าสู่แพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้น และเกิดการเชิญชวนผู้ใช้ในวงกว้าง

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้งาน Clubhouse ยังเกิดขึ้นในวงจำกัดช่วงแรก เกิดจากการที่ปัจจุบันแอปพลิเคชันนี้ให้บริการเฉพาะบน iOS เท่านั้น จึงมีเฉพาะผู้ใช้งาน iPhone ที่เข้ามาใช้งานได้ ซึ่งทางนักพัฒนาได้แจ้งว่าในอนาคตก็พร้อมที่จะเปิดให้ผู้ใช้งาน Android เข้ามาใช้ได้เช่นกัน

ขณะเดียวกัน ด้วยรูปแบบการเข้าใช้งานที่ต้องได้รับคำเชิญเท่านั้น จึงทำให้กลุ่มผู้ที่เข้ามาใช้งาน Clubhouse ในช่วงแรกจะเป็นกลุ่ม Early Adopter ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นว่ากลุ่มคนแรกๆ ในไทยที่เข้าใช้งานจะเป็นบรรดา Tech StartUps จนถึงบรรดานักลงทุน นักการตลาดดิจิทัล รวมถึงผู้ที่ต้องการหาโซเชียลมีเดียใหม่ๆ ที่ให้ประโยชน์เข้ามาใช้งาน

โดยในการเข้าใช้งานจะเริ่มจากผู้ใช้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Clubhouse มาลงทะเบียนในลักษณะของการจองชื่อบัญชีผู้ใช้ เมื่อลงทะเบียนเสร็จแล้ว ถ้ามีผู้ที่มีรายชื่อผู้ติดต่อของเราอยู่ในแอปพลิเคชันก็จะสามารถกดอนุมัติให้เราเข้าไปใช้งานได้ทันที


หรือในอีกรูปแบบหนึ่งคือการเชิญชวนใช้งานผ่าน SMS ซึ่งตรงนี้จะมีข้อจำกัดค่อนข้างมากในช่วงแรก เนื่องจากทาง Clubhouse จะให้บัตรเชิญเริ่มต้นเพียง 1-2 คำเชิญเท่านั้น และเมื่อเริ่มใช้งานมากยิ่งขึ้น อย่างการสร้างห้องสนทนา ร่วมพูดคุยก็จะได้รับคำเชิญเพิ่มเติม

เข้าแล้วออกไม่ได้

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการเข้าไปลองใช้งานจะพบว่า Clubhouse ได้ถูกพัฒนามาเป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของดีไซน์การใช้งานที่เข้าใจได้ง่าย ด้วยการนำเสนอกลุ่มสนทนาที่เราสนใจ เพื่อให้เราสามารถตั้งแจ้งเตือนเวลาให้เข้าไปฟังได้ทันที จนถึงสามารถเลื่อนดูหัวข้อสนทนาที่เกิดขึ้นในเวลานั้นเพื่อเข้าไปร่วมรับฟังได้ด้วย

ขณะเดียวกัน การสื่อสารใน Clubhouse ยังมีลักษณะเป็นการสื่อสารแบบ 2 ทาง คือนอกจากผู้พูดหลักแล้ว ผู้ที่เข้าร่วมในห้องสนทนาสามารถยกมือ เพื่อให้ผู้สร้างห้องเชิญขึ้นไปพูด เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ จึงเกิดเป็นการสนทนาที่หลากหลาย และไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าเนื้อหาที่เกิดขึ้นจากผู้ร่วมรับฟังนี้จะไปในทิศทางไหน

ทำให้เกิดปรากฏการณ์เสพติดการใช้งาน เพราะกลัวที่จะพลาดหัวข้อสนทนาๆ ที่สำคัญ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด ช่วงเวลาหนึ่งได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุผลที่ว่าการสนทนาที่เกิดขึ้นจะไม่ได้ถูกบันทึกไว้เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อในภายหลัง นอกจากกรณีที่ผู้เข้าร่วมรับฟังทำการบันทึกเสียงจาก iPhone ไว้ และนำไปเผยแพร่ต่ออีกครั้งในช่องทางอื่นๆ

หัวข้อสนทนาที่หลากหลาย


แม้ว่า Clubhouse จะเพิ่งเริ่มได้รับความนิยมในไทย แต่สังเกตได้ว่ากลุ่มผู้ที่เข้าร่วมในเวลานี้มีความหลากหลายมากๆ ทั้งการใช้สร้างห้องสัมมนาทางการเมือง โดยมี ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ เข้ามาเปิดห้องสนทนา พร้อนชวนกลุ่มตลาดหลวงเข้าไปใช้งาน

แน่นอนว่า หัวข้อที่เกิดขึ้นจากการตั้งห้องสนทนาใน Clubhose นั้น จะกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้ภาครัฐเข้ามาจับตาดูการใช้งานของกลุ่มผู้ใช้นี้อย่างแน่นอน เพราะได้กลายเป็นช่องทางใหม่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยน เพิ่มเติมจากทวิตเตอร์ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน

เพราะล่าสุดในประเทศจีน ก็พบว่า มี ‘ชาวเน็ตจีนแห่ใช้แอป Clubhouse หนีมหากำแพงไฟเซ็นเซอร์ของรัฐบาล’ เพื่อเข้ามาใช้ถกเถียงในประเด็นที่ละเอียดอ่อนบนแพลตฟอร์มนี้

ทั้งนี้ ยังมีหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจ ทั้งหัวข้อที่เกี่ยวกับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหุ้น พันธมิตร ทองคำ บิตคอยน์ รวมถึงบรรดาไลฟ์โค้ชที่เข้ามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนวิธีการที่จะสร้างรายได้บน Clubhouse ในแง่ของการสร้างห้องสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ผู้คนสนใจ เป็นต้น

จุดกำเนิด Clubhouse

Clubhouse มีจุดกำเนิดมาจาก 2 ผู้ก่อตั้งคือ โรธาน เซธ และพอล เดวิสัน ที่ต้องการสร้างโซเชียลมีเดียสำหรับการสนทนาผ่านเสียงเป็นสื่อหลัก เพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้เข้ามาสื่อสาร และพบปะผู้คนจากทั่วโลกได้ผ่านแพลตฟอร์มนี้ ภายใต้การควบคุมเนื้อหาในการสื่อสารของ Moderator และเงื่อนไขการใช้งานที่มั่นใจว่าจะไม่เกิดการเสียดสี หรือโดนไซเบอร์บูลลี่ ทำให้แพลตฟอร์มนี้มีทั้งความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือ

โดยจุดเด่นของการเลือกใช้เสียงในการสนทนาเป็นหลัก เพราะผู้รับฟังจะสามารถเข้าถึงอารมณ์ และน้ำเสียงของผู้พูดได้ ทำให้รู้สึกถึงความใกล้ชิดกันมากกว่าการสนทนาผ่านตัวอักษร เปรียบเสมือนการฟังวิทยุ หรือพอดคาสต์รายการที่ชื่นชอบ และสามารถกระโดดเข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ทันที

หลังจากเปิดให้บริการแอปพลิเคชันตั้งแต่ 8 เดือนที่ผ่านมา ในช่วงแรกๆ จะมีผู้ใช้งานจากในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเป็นหลัก ก่อนมาได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศจีน และประเทศไทย ซึ่งล่าสุดในช่วงเดือนมกราคม Clubhouse ได้ระดมทุนในระดับ Series B ไป และมีโอกาสที่มูลค่าของ Clubhouse จะทะลุระดับพันล้านเหรียญ หรือกลายเป็น Unicorn Startup ไปเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากสื่อต่างประเทศว่า Facebook กำลังเร่งพัฒนาแอปพลิเคชันในลักษณะเดียวกันขึ้นมา และใช้ความได้เปรียบในแง่ของการมีฐานผู้ใช้งานที่กว้างกว่าเพื่อดึงดูดให้ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียยังอยู่กับบริการในเครือของเฟซบุ๊กต่อไป เหมือนที่เคยประสบความสำเร็จกับการทำ Instagram Story ในยุคที่ Snapchat ได้ความนิยม
กำลังโหลดความคิดเห็น