xs
xsm
sm
md
lg

ทุนพลังงานไทยสปีดรุกต่างประเทศ พลิกวิกฤตโควิดเป็นโอกาส-ฉวยจังหวะบาทแข็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



การหดตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2563 ที่ร้อยละ -6.6 สืบเนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้สะท้อนถึงความพร้อมและการปรับตัวของภาคธุรกิจในการรับมือกับวิกฤตที่คาดไม่ถึง แม้ว่าช่วงแรกของการแพร่ระบาดโควิด-19 อาจจะมองไม่เห็นแสงสว่างในปลายอุโมงค์ แต่เมื่อผ่านพ้นไประยะเวลาหนึ่งพบว่ามีบางธุรกิจเริ่มปรับตัวและฉกฉวยโอกาสได้

กลุ่มทุนพลังงานของไทยเป็นถือเป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความเข้มแข็ง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ยังเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องอยู่ โดยเฉพาะบริษัทพลังงานที่มีฐานการลงทุนอยู่ทั้งในไทยและต่างประเทศ มองเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าซื้อกิจการ (M&A) หรือลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ในช่วงที่หลายบริษัทชะลอการลงทุนจากสถานการณ์โควิด-19 โดยอาศัยความได้เปรียบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอยู่ระดับ 29-30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เป็นจังหวะที่เหมาะสมในลงทุนต่างประเทศ


ปตท.สผ.รุกลงทุนในโอมาน-ยูเออี

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ที่มีฐานการผลิตอยู่ทั้งในไทยและต่างประเทศรวม 40 โครงการใน 15 ประเทศทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีการลงทุนในต่างประเทศต่อเนื่อง แม้ว่าบางโครงการจะไม่ประสบความสำเร็จจากสถานการณ์ด้านราคาน้ำมันที่ผันผวนทำให้การพัฒนาโครงการไม่คุ้มค่าการลงทุนจนต้องมีการด้อยค่าสินทรัพย์หรือขายออกไป เช่น โครงการออยล์แซนด์ในแคนาดา และแหล่งมอนทาราที่ออสเตรเลีย เป็นต้น

ทั้งนี้ ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับธุรกิจ E&P ที่มีความเสี่ยงสูงควบคู่กับการทำกำไรอย่างงาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 บริษัท พีทีทีอีพี มีนา จำกัด บริษัทย่อยของ ปตท.สผ.ตัดสินใจลงนามในสัญญาซื้อขาย (Share Purchase Agreement หรือ SPA) ซื้อสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 20 ในแปลง Oman Block 61 ที่ประเทศโอมาน จากบริษัท บีพี เอ็กซ์พลอเรชั่น (เอปซิลอน) จำกัด (บีพี) เป็นมูลค่าถึง 2,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7.35 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะปิดดีลซื้อได้ภายในปี 2564 นับเป็นการลงทุนขนาดใหญ่สุดในรอบ 1-2ปี

การตัดสินใจเข้าไปถือหุ้นในแปลง Oman Block 61 ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบกที่มีปริมาณสำรองขนาดใหญ่ที่มีการผลิตก๊าซธรรมชาติถึงประมาณร้อยละ 35 ของประเทศโอมาน หรือมีอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกัน ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสต มากกว่า 65,000 บาร์เรลต่อวัน โดยแปลงดังกล่าวสามารถพัฒนาแหล่งก๊าซรวมโดยได้ถึง 10.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต นับเป็นแหล่งก๊าซฯ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับตลาดก๊าซฯ ของโอมาน การเข้าร่วมทุนครั้งนี้ ทำให้ ปตท.สผ.เพิ่มปริมาณการขายปิโตรเลียมในปี 2564 จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 3.75 แสนบาร์เรล/วัน ขยับเพิ่มเป็น 3.98 แสนบาร์เรล/วัน และเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมของ ปตท.สผ.จากเดิมอยู่ที่ 7ปี

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ปตท.สผ.ได้เข้าไปลงทุนในโครงการพีดีโอ (แปลง 6) โครงการผลิตน้ำมันดิบบนบกที่ใหญ่ที่สุดในโอมาน และโครงการโอมาน แอลเอ็นจี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตแอลเอ็นจี ซึ่งการเข้าไปลงทุนในแปลงOman Block 61 นี้ ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จะถูกป้อนเข้าสู่โครงการโอมาน แอลเอ็นจี ที่ ปตท.สผ.ได้ร่วมทุนอยู่ สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของบริษัทที่ให้ความสำคัญต่อการลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพ อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดการลงทุนในห่วงโซ่ธุรกิจก๊าซ (Gas Value Chain) และเป็นโอกาสการลงทุนในโอมานเพิ่ม

โดย ปตท.สผ.ลงทุนในประเทศโอมาน ทั้งธุรกิจขั้นต้น (Upstream) และธุรกิจขั้นกลาง (Midstream) ได้แก่ โครงการพีดีโอ (แปลง 6) โครงการมุคไคซนา (แปลง 53) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบบนบกขนาดใหญ่ โครงการโอมาน ออนชอร์ แปลง 12 และโครงการโอมาน แอลเอ็นจี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งเดียวในโอมาน

นอกเหนือจากรุกธุรกิจ E&P ในประเทศแถบตะวันออกกลางอย่างโอมานแล้ว ปตท.สผ.ยังโฟกัสการลงทุนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ด้วย โดยบริษัทฯ ได้ร่วมทุนกับอีเอ็นไอ อาบูดาบี บริษัทในเครือของอีเอ็นไอ (Eni) ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของประเทศอิตาลี ชนะประมูลในแปลงออฟชอร์ 3 จากบริษัท อาบูดาบี เนชั่นแนล ออยล์ หรือแอดนอค (ADNOC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของยูเออี เมื่อปลายปี 2563 โดยได้รับอายุสัมปทานแปลงออฟชอร์ 3 ตั้งแต่การสำรวจ พัฒนา และผลิต รวม 35 ปี

ทั้งนี้ แปลงออฟชอร์ 3 ตั้งอยู่นอกชายฝั่งยูเออี และอยู่ติดกับแปลงออฟชอร์ 1 และออฟชอร์ 2 ซึ่ง ปตท.สผ. และอีเอ็นไอ ได้ชนะการประมูลร่วมกันเมื่อปี 2562 นับเป็นพื้นที่แหล่งก๊าซฯสูงอันดับต้นๆ ของโลก

ส่วนการแสวงหาโอกาสการลงทนในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปตท.สผ.โฟกัสเฉพาะไทย เมียนมา และมาเลเซีย ล่าสุดเพิ่งได้รับการอนุมัติสิทธิการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมา และได้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้เริ่มดําเนินงานกับกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานเมียนมา โดยโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมาเป็นการลงทุนด้านพลังงานแบบครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาแหล่งผลิตปิโตรเลียม โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯ และโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ขนาด 600 เมกะวัตต์ ในเขตไจลัท ภูมิภาคอิรวดี โดยวางสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากเขตไจลัทไปยังเขตลานทายา ในภูมิภาคย่างกุ้ง โดยใช้ก๊าซฯจากโครงการซอติก้าและโครงการเมียนมา เอ็ม 3 นับเป็นการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ E&P ของ ปตท.สผ. มูลค่าการลงทุนโครงการรวม 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการนี้คาดว่าจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายในปี 2565

ด้านบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าของไทย พบว่า ในช่วง 1 ปีนี้ก็มีการทยอยลงทุนในต่างประเทศต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงต้นปี 2563 อาจจะหยุดชะงักไปบ้างจากการล็อกดาวน์ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่พอเหตุการณ์ผ่านไประยะหนึ่ง กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้าของไทยตั้งหลักได้ หลังประเมินผลกระทบจากโควิด-19 ไม่รุนแรงอย่างที่คิดก็กลับมาเดินหน้าการลงทุนต่อเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศ


เอ็กโก กรุ๊ปปักธงโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ สำเร็จ

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) หรือเอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทฯ ตัดสินใจเข้าไปลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก โดยลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นกับบริษัท เออีไอเอฟ ลินเดน เอสพีวี แอลแอลซี และบริษัท ไฮสตาร์ แคปปิตอล จีพี โฟร์ แอลพี เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 เพื่อถือหุ้นสัดส่วน 28% ในบริษัท ลินเดน ทอปโก้ แอลแอลซี ที่ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้า โคเจนเนอเรชั่น จากเชื้อเพลิงก๊าซฯ กำลังการผลิต 972 เมกะวัตต์ คาดว่าปิดดีลการซื้อขายหุ้นได้ในไตรมาส 2 ปีนี้ ขณะเดียวกันก็มองโอกาสการลงทุนต่อยอดธุรกิจใหม่เพิ่มเติมในสหรัฐฯ รวมทั้งยุโรปด้วย

โรงไฟฟ้า “ลินเดน โคเจน” ขายไฟฟ้าและให้บริการเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าแก่ระบบและโครงข่ายไฟฟ้าในรัฐนิวยอร์ก และตลาดซื้อขายไฟฟ้าพีเจเอ็ม พีเอส นอร์ธ ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งเป็นตลาดไฟฟ้า 2 แห่งที่มีความต้องการไฟฟ้าและกำลังไฟฟ้าสำรองสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา และยังมีสัญญาขายไอน้ำและไฟฟ้าระยะยาวกับผู้รับซื้อรายใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่น่าลงทุน

นอกจากนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ยังได้เข้าไปลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังลมที่ไต้หวัน โดยเข้าไปถือหุ้น 25% ในบริษัท หยุนหลิน โฮลดิ้ง จีเอ็มบีเอช (หยุนหลิน) ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังลมนอกชายฝั่ง กำลังการผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกกำลังการผลิต 352 เมกะวัตต์ ได้จ่ายไฟเข้าระบบเมื่อไตรมาส 4/2563 เฟสที่ 2 กำลังผลิต 288 เมกะวัตต์จะเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 3 ปีนี้

เอ็กโก กรุ๊ป ยังแตกไลน์ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงาน โดยไปถือหุ้น 44.6% ในบริษัท ไทยไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (TPN) ซึ่งดำเนินการโครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ระยะทาง 342.8 กิโลเมตร และมีกําลังการขนส่งน้ำมันต่อปีอยู่ที่ 5,443 ล้านลิตร สามารถขยายเพิ่มเป็น 7,330 ล้านลิตรในอนาคต โดยระบบท่อขนส่งจะเชื่อมต่อคลังนํ้ามันของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จํากัด (Thappline) ในจังหวัดสระบุรี ไปยังคลังนํ้ามันขนาด 142 ล้านลิตร ของ TPN ในจังหวัดขอนแก่น คาดว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ปี 2564 รวมทั้งจับมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเอ็กโก ระยอง บนพื้นที่ 621 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าระยองที่สิ้นสุดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.ไปก่อนหน้านี้คาดว่านิคมฯ จะเปิดดำเนินการได้ในปี 2565


“ราช กรุ๊ป” แตกไลน์สู่การให้บริการเติมน้ำมัน JET

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH กล่าวว่า ในปี 2564 บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่อีก 700 เมกะวัตต์ จากสิ้นปี 2563 มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 8,700 เมกะวัตต์ โดยเน้นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 350 เมกะวัตต์ และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) 245 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัทรับรู้รายได้ทันที ที่เหลืออีกกว่า 100 เมกะวัตต์จะเป็นการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่

นอกเหนือจากธุรกิจไฟฟ้าแล้ว บริษัทฯ ได้แตกไลน์ธุรกิจไปสู่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงาน โดยได้เข้าไปประมูลซื้อหุ้นบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) จากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 15.53% คิดเป็นมูลค่า 2,712 ล้านบาท รวมทั้งเดินหน้าตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง กำลังการผลิต 6 หมื่นตัน/ปี ที่ สปป.ลาว เพื่อส่งออกให้ลูกค้าโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

นอกจากนี้ ราช กรุ๊ป ยังเข้าไปถือหุ้นในกองทุน ABEIF ที่ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานทดแทนรวม 4 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 2,620 เมกะวัตต์ในเวียดนาม รวมทั้งบริษัทฯ ยังได้เข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Thanh Phong (ถือหุ้น 51%) กำลังผลิต 29.70 เมกะวัตต์ ที่เวียดนาม กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ไตรมาส 4/ 2564 รวมทั้งถือหุ้น 49% ในโรงไฟฟ้าเน็กส์ซิฟ เอ็นเนอร์จี จ.ระยอง กำลังผลิต 92 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ในไตรมาส 2/2565 และโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น ส่วนขยาย จ.ปทุมธานี กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ไตรมาส 3 ปี 2566


“กัลฟ์” บุกธุรกิจพลังงานทั้งใน-ตปท.

ด้านบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ก็บุกธุรกิจไฟฟ้าในประเทศเวียดนามเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยทุ่ม 1,200 ล้านบาทเพื่อเข้าไปซื้อหุ้น Global Mind Investment Management Pte. Ltd. (GMIM) ในสัดส่วน 70.5% โดย GMIM เป็นบริษัทที่ลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลม รวมถึงธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเวียดนาม

นอกจากนี้ กัลฟ์ยังได้ซื้อหุ้นทั้งหมดในบริษัท GDI ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมบนบกขนาด 100เมกะวัตต์ที่เวียดนาม มูลค่าโครงการรวม 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4/2565 รวมทั้งยังได้ปิดดีลถือหุ้น 50% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมในทะเล BKR2 ขนาดกำลังการผลิต 464.8 เมกะวัตต์ ที่ประเทศเยอรมนี

ส่วนการลงทุนในไทยในนั้น กัลฟ์ฯ ได้เข้าไปซื้อหุ้นบริษัท ปตท.จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ (PTT NGD) จำนวน 40% จาก International Power S.A. ด้วยวงเงินลงทุนถึง 2,700 ล้านบาท โดยกัลฟ์ฯ จะรับรู้รายได้จากธุรกิจจัดจำหน่ายก๊าซฯให้ลูกค้าใน 13 นิคมฯ เต็มปีในปี 2564 นับเป็นการลงทุนร่วมกับ ปตท.นอกเหนือจากโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 

นอกจากนี้ กัลฟ์ฯ ยังเข้าไปถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 14.39% ใน บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) เพื่อรับผลตอบแทนในรูปเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจาก INTUCH เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานประเภทโทรคมนาคมที่มีการเติบโตสูง

อย่างไรก็ตาม หากการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย ทั่วถึงและรวดเร็วจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ผนวกกับเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐที่อัดฉีดเข้ามาในระบบจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ภายในปี 2565
กำลังโหลดความคิดเห็น