รฟท.ปรับแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ สถานีกลางบางซื่อ ใช้โมเดล ทอท. ขึงพื้นที่ให้สัมปทานมีกำไรตั้งแต่ปีแรก เร่งประมูล มิ.ย.คาดรายได้เฉลี่ย 200 ล้าน/ปี เตรียมชง คนร.ทบทวนมติ ขอเปิดPPP เดินรถสีแดงแทนตั้งบริษัทลูก
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงแผนการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ สถานีกลางบางซื่อ ว่าจากที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม สั่งให้ รฟท.ปรับแผนใหม่หลังจากแนวทางเดิม พบว่า ในช่วง 4 ปีแรก (64-67) ขาดทุนปีละเกือบ 300 ล้านบาท โดยให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้ามาช่วยศึกษาแนวทางการให้สัมปทานเอกชน โดยมุ่งสร้างรายได้จากค่าเช่า หรือส่วนแบ่งรายได้ ธุรกิจรีเทลค้าปลีก, ร้านอาหาร, โอทอป, พื้นที่โฆษณา และบริการที่จอดรถให้เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าสาธารณูปโภค ค่ารักษาความปลอดภัย และค่าซ่อมบำรุงสถานี
ทั้งนี้ ได้มีการปรับเพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น จากพื้นที่ที่ผู้โดยสารเข้าถึง (Passenger Accessible area) ที่มีทั้งหมด 129,400 ตร.ม. ซึ่งแผนเดิมจะพัฒนาเชิงพาณิชย์สัดส่วน 10% เพิ่มเป็นเป็น 33.6% (43,465 ตร.ม.) โดยผู้โดยสารยังได้รับความสะดวกในการใช้บริการ ขณะที่สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่สถานีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
จากการคาดการณ์รายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ 10 ปี เฉลี่ยประมาณ 221-238 ล้านบาท/ปี (คิดที่ 815-852 บาท/ตร.ม./เดือน) โดยรายได้จะเติบโตจาก 75 ล้านบาทในปี 2564 เป็น 300 ล้านบาทในปี 2573 ส่วนธุรกิจโฆษณามีรายได้เฉลี่ย 233-244 ล้านบาท/ปี โดยรายได้จะเติบโตจาก 140 ล้านบาท ในปี 2564 เพิ่มเป็น 307 ล้านบาทในปี 2573
ขณะที่รายได้จากการบริหารที่จอดรถ เฉลี่ย 10 ปี ประมาณ 84-89 ล้านบาท/ปี โดยรายได้จะค่อยๆ เติบโตขึ้นจาก 46 ล้านบาทในปี 2564 เป็น 128 ล้านบาทในปี 2573
โดยรายได้เชิงพาณิชย์จะนำมาชดเชยค่าใช้จ่ายของสถานีที่คาดว่ามีประมาณ 40 ล้าน/เดือน หรือ 200-300 ล้านบาท/ปี โดยปีต้นๆ รายได้จะพอเลี้ยงรายจ่าย โดยปี 2564 มี EBITDA เป็นบวกประมาณ 8 แสนบาท ปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 26.41 ล้านบาท และค่อยๆ เพิ่มขึ้นตลอด 10 ปี โดยปี 2573 มี EBITDA บวก 410 ล้านบาท ขึ้นกับปริมาณผู้โดยสารที่จะมาจากสายสีแดง และรถไฟทางไกล
โดยจะศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมทั้งอายุสัมปทานตั้งแต่ 10-15-20 ปี คาดว่าจะใช้เวลาในการคัดเลือกเอกชน 6-9 เดือน โดยเปิดประมูลต้นเดือน มิ.ย. 2564 และคัดเลือก 3 เดือน ได้ตัวเอกชนต้นเดือน ก.ย. 2564
สำหรับคาดการณ์ปริมาณผู้ใช้บริการที่สถานีกลางบางซื่อจากผู้โดยสาร รถไฟสายสีแดง รถไฟทางไกล มีประมาณ 100,000 คน/วัน ซึ่งยังน้อยเมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่ ดังนั้น การพัฒนาเชิงพาณิชย์ ร้านค้า หรือโอทอป จะต้องมีศักยภาพ และสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเดินทางมายังสถานีเพื่อซื้อสินค้านอกเหนือจากมาใช้บริการรถไฟ
อย่างไรก็ตาม ทอท.ระบุว่าจากการวิเคราะห์โครงการบริหารจัดการกิจการภายใต้ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ไม่เข้าเกณฑ์กิจการเกี่ยวเนื่องจำเป็น ดังนั้น การให้เอกชนรับสัมปทานบริหารพื้นที่สถานีรถไฟ จึงไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 โดย รฟท.ดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างปกติ แต่จะต้องแยกการบริหารที่จอดรถมาดำเนินการเอง เพราะหากนำไปรวมกับพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสถานีบางซื่อจะทำให้เข้าข่ายและต้องปฎิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562
เร่งเสนอ คนร.ทบทวนมติ ขอเปิด PPP เดินรถสายสีแดง
ส่วนการเดินรถนั้น รฟท.อยู่ระหว่างศึกษาPPP ตามนโยบาย รมว.คมนาคม คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ใน มี.ค. 2565 เปิดประมูลคัดเลือกเอกชน เม.ย. 2565 - มี.ค. 2566 ได้ตัวเอกชนและถ่ายโอนงาน เม.ย. 2566 - ก.ย. 2567
งาน PPP จะครอบคลุมการบริหารเดินรถไฟสายสีแดงบริหารพื้นที่ 12 สถานี (ไม่รวมบางซื่อ) และก่อสร้างรถไฟสายสีแดง ส่วนต่อขยายช่วงรังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต 8.84 กม. 6,570.40 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 14.8 กม. 10,202.18 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 4.3 กม. 6,645.03 ล้านบาท ก่อสร้าง 3 ปี (เม.ย. 66 - มี.ค. 69)
3. Missing Link บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง 25.9 กม. 44,157.76 ล้านบาท ก่อสร้าง 4 ปีครึ่ง (เม.ย. 66 - ธ.ค. 70)
ในระหว่างขั้นตอน PPP ยังไม่เสร็จ รฟท.จะเพิ่มพันธกิจให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.) บริหารการเดินรถเป็นเวลา 3 ปี (พ.ย. 64 - ก.ย. 67) โดย รฟท.จะต้องนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อทบทวนมติเดิมด้วย