xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : การชำระเงินแบบ EMV กับระบบคมนาคมไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม เปิดทดลองใช้ระบบการชำระค่าผ่านทางด้วยบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรพรีเพดที่มีสัญลักษณ์ VISA PayWave และ MasterCard Paypass บริเวณช่องเงินสด (CASH) ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา นำร่องทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก และทางพิเศษอุดรรัถยา บางปะอิน-ปากเกร็ด

ระบบการชำระเงินนี้เรียกว่า ระบบคอนแทกต์เลส (Contactless) ตามมาตรฐาน EMV (Europay-Mastercard-VISA) ซึ่งนำมาใช้กับร้านค้าประเภทร้านอาหาร ร้านฟาสฟู้ด ซูเปอร์มาร์เก็ต ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ฯลฯ แต่เมื่อไม่นานมานี้นำมาใช้ครั้งแรกกับรถประจำทาง ขสมก. รวมกว่า 3,000 คัน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา กระทั่งนำมาใช้กับทางพิเศษในปัจจุบัน


สำหรับบัตรระบบคอนแทกต์เลส จะมีสัญลักษณ์ใบพัดสีขาวหรือสีดำ คล้ายสัญลักษณ์ไว-ไฟ แต่หันไปทางด้านขวา สามารถทำรายการได้โดยไม่ต้องเซ็นสลิป ทำรายการได้ครั้งละไม่เกิน 1,500 บาท ปัจจุบันมีให้บริการกับบัตรรุ่นใหม่ สามารถออกบัตรใหม่หรือทดแทนได้ที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง โดยมีค่าธรรมเนียมรายปีไม่ต่างจากเดิมมากนัก

บีอีเอ็มได้ดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจทางพิเศษ ด้วยโครงการทดสอบระบบชำระค่าผ่านทางด้วยบัตรเครดิต โดยได้ร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย พัฒนาระบบชำระค่าผ่านทางด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต โดยได้ติดตั้งเครื่องจ่ายเงินบนด่านเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา


สำหรับขั้นตอนการชำระเงิน ขับเข้าช่องเงินสดทุกช่อง ลดกระจก และแตะบัตรที่เครื่องจ่ายเงินแบบระบบ Contactless Payment ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินด้วยบัตรแบบไร้สัมผัส จากนั้นระบบจะเปิดไม้กั้นแล้วออกจากด่านเก็บเงินค่าผ่านทางได้ทันที โดยจะมีข้อความแจ้งเตือนระบุชื่อร้านค้าเป็น Bangkok Expressway and Metro จำนวนเงินตามค่าผ่านทางที่จ่าย

อาจมีคนสงสัยว่าแล้วจะแตกต่างจากอีซี่พาส หรือเอ็มพาสยังไง อธิบายได้ว่า เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิตที่หักจากบัญชีธนาคาร หรือบัตรพรีเพดที่หักจากวอลเล็ตชำระได้ทันที ไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ ไม่ต้องเติมเงิน ไม่ต้องบำรุงรักษา นอกจากจะรองรับคนที่ไม่ค่อยได้ใช้ทางพิเศษบ่อยครั้งแล้ว ยังรองรับกรณีชาวต่างชาติที่เช่ารถขับเองอีกด้วย


การนำระบบ EMV มาใช้กับระบบขนส่งมวลชนในไทยเริ่มต้นขึ้น เมื่อครั้งที่รัฐบาลออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับโดยสารรถ ขสมก.และรถไฟฟ้า กับประชาชนในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม และสมุทรสาคร โดยเป็นบัตรเวอร์ชั่น 2.5 ต่อมาได้ออกบัตร Contactless ของผู้ที่ลงทะเบียนรอบตกหล่น ซึ่งเป็นบัตร EMV เวอร์ชั่น 4.0

8 มีนาคม 2562 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย นำเครื่อง EDC ขนาดพกพามาใช้รับชำระค่าโดยสารของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3,000 คัน กระทั่งได้ทดลองชำระผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 นำร่องรถประจำทางสาย 510 ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กระทั่งใช้ได้กับรถประจำทาง ขสมก.ทุกคัน


สำหรับรถไฟฟ้สารพัดสีในกรุงเทพฯ จะมีโอกาสได้ใช้ระบบ EMV หรือไม่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ระบุแผนระยะยาวว่า ได้มีการจัดทำระบบตั๋วร่วมแบบ Account Based Ticketing (ABT) โดยใช้บัตร EMV Contacless มาใช้กับระบบตั๋วร่วม ขณะนี้ การรถไฟฟ้าชนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมที่จะร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยลงทุนทำระบบทั้งหมด

เบื้องต้นจะสามารถใช้บัตร EMV ได้กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีน้ำเงินได้ประมาณ 50% ในเดือนตุลาคม 2564 ก่อนจะใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบภายในเดือนมกราคม 2565 คงต้องดูกันต่อไปว่าบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรพรีเพดที่ถืออยู่ จะมีโอกาสได้ใช้แตะจ่ายรถไฟฟ้าได้เมื่อไหร่ นอกจากรถเมล์และทางด่วนที่เริ่มทดลองระบบนี้กันแล้ว

(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)
กำลังโหลดความคิดเห็น