xs
xsm
sm
md
lg

บ้านไร่ไออรุณ ออกแบบรถพุ่มพวง รับศึกโควิดระลอก 2 ที่มาแบบไม่ทันตั้งตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บ้านไร่ ไออรุณ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง สถานที่ท่องเที่ยว ที่มีการพูดถึงมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะด้วยไอเดียการออกแบบที่พัก ที่ทำให้ทุกคนได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ โดยไม่ทิ้งวิถีการดำเนินชีวิตวัฒนธรรมในแบบฉบับของชุมชน ทำให้นักท่องเที่ยวสร้างประสบการณ์ใหม่ ที่อาจจะหาไม่ได้จากรีสอร์ต หรือ โรงแรมหรู




บ้านไร่ไออรุณ ฟาร์มสเตย์ทำให้คนรู้จัก อ.กะเปอร์ จ.ระนอง

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ บ้านไร่ ไออรุณโด่งดัง จนมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันไม่ขาดสาย แบบที่ต้องจองล่วงหน้ากันเลยทีเดียว เรื่องราวของบ้านไร่ ไออรุณ ได้ถูกนำแชร์ต่อในโลกโซเชียลแบบนับครั้งไม่ถ้วน จากรีสอร์ตเล็ก ทำกันเองภายในครอบครัวของ “วิโรจน์ ฉิมมี” หรือ ทุกคนรู้จักเขาในชื่อ “เบสท์” อดีตสถาปนิกหนุ่ม ที่ทิ้งอาชีพสถาปนิกในเมืองหลวง กลับบ้านเกิดเพื่อดูแล พ่อ และแม่ที่อายุมาก และได้ไปเนรมิตบ้านเกิด อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ให้กลายเป็นฟาร์มสเตย์ ที่ประสบความสำเร็จภายในระยะเวลา เพียงแค่ 5 ปี จากกิจการทำกันภายในครอบครัว จนวันนี้ เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีพนักงานมากถึง40-50 คน

วิโรจน์ (เบสท์) ผู้ชายตัวเล็กๆในวันนั้น สามารถทำให้คนรู้จัก อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ผ่านหน้าเพจกว่า 7 แสนคนทั่วประเทศ ต้องบอกว่า ผู้ชายคนนี้ไม่ธรรมดาสำหรับเส้นทางธุรกิจเริ่มต้นจากแผงขายผักเล็กขายกับแม่ จนวันนี้ ไม่มีใครไม่รู้จักบ้านไร่ไออรุณ และเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบโดยตรงต่อธุรกิจท่องเที่ยว เขามีวิธีการรับมือแบบธรรมดาเช่นกัน วันนี้ เรามารู้จัก กับ เจ้าของบ้านไร่ ไออรุณ ในแบบที่ต้องรับมือโควิด ว่า ทำอย่างไร ถึงสามารถดูแลพนักงานกว่า 40 ชีวิต ให้ยังมีเงินเดือน มีรายได้ โดยไม่ต้องปลดพนักงาน


ขายน้ำพริกออนไลน์ รับมือโควิดรอบแรก ทำรายได้หลักล้านบาท

นายวิโรจน์ เล่าหลังจากได้ร่วมออกในรายการ ร้อยจุดห้า อสมท.ระนอง ว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ครั้งแรก เลือกที่จะปิดให้บริการเองก่อนที่รัฐบาลจะประกาศให้ปิด โดยเริ่มปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 สาเหตุที่ต้องปิดกิจการในช่วงนั้น เพราะกังวลเป็นห่วงความรู้สึกของชาวบ้าน เพราะเราไม่มีความรู้ว่าสถานการณ์โควิด เป็นอย่างไร และที่พักของเรามีนักท่องเที่ยว ทั้งที่มาจากต่างจังหวัด และต่างประเทศ ชาวบ้านไม่สบายใจกลัวว่า นักท่องเที่ยวจะนำเชื้อโควิดมาแพร่กระจายในชุมชนได้ เราก็เลยเลือกที่จะปิดกิจการเพื่อความสบายใจของชาวบ้านในชุมชน ตอนนั้น ต้องยอมรับผลกระทบแบบ 100% รายได้ไม่มีเลย


อย่างไรก็ตาม ในตอนนั้นเป็นห่วงพนักงานว่าจะทำอย่างไร ถ้าจะให้พนักงานหยุดทำงานกลับบ้าน เพราะทุกคนมีภาระค่าใช้จ่าย ถ้าเราให้เขาหยุดงาน ไม่มีรายได้เขาจะทำอย่างไรกัน ไม่ได้แค่ค่าครองชีพ แต่ยังมีค่าผ่อนบัตร ผ่อนรถ ก็เลย ตัดสินใจว่าจะสู้ไปด้วยกัน โดยดูว่าจะหารายได้จากทางไหน ก็มาจบลงที่ทำน้ำพริก และทำไตปลาแห้ง ขายออนไลน์ เพราะหน้าเพจของเรามีคนติดตามอยู่ค่อนข้างมาก ประมาณ 7 แสนกว่าคน และที่สำคัญ เราก็มีวัตถุดิบในพื้นที่ของเราอยู่แล้ว ให้พนักงานบางส่วนไปทำน้ำพริก พนักงานต้อนรับมีหน้าที่รับออร์เดอร์ และในส่วนของพนักงานผู้ชาย ก็ให้ไปช่วยกันปรับปรุงสร้างที่พักเพิ่ม ซึ่งก็ลงตัวทุกอย่าง

ในส่วนของการขายน้ำพริก ก็ต้องบอกว่าดีเกินคาด สามารถขายน้ำพริกได้ เกือบ 2 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการนำมาจ่ายเงินเดือนพนักงานได้ แม้ว่าส่วนรายได้ของเราอาจจะไม่เหลือก็ตาม แค่นี้เราก็พอใจ ให้พนักงานทุกคนยังคงมีงานทำมีรายได้เราก็พอใจแล้ว ซึ่งก็ต้องขอบคุณแฟนเพจที่ช่วยกันอุดหนุน ซื้อน้ำพริก ซื้อไตปลาแห้ง และเมนูอื่นของเรา เป็นจำนวนมาก ทำให้เราผ่านวิกฤตในโควิด-19 ครั้งแรกไปได้  แม้ว่าการขายอาหารออนไลน์ในครั้งนั้น จะมีเรื่องปวดหัวให้เราต้องแก้ปัญหาอยู่บ้าง จากขั้นตอนการขนส่งสินค้าไปถึงลูกค้าล่าช้า ทำให้อาหารเสียหาย


โควิดระลอก 2 มาแบบไม่ทันตั้งตัว ส่งผปก.สาหัสกว่ารอบแรก

พอเปิดให้มีการเดินทางท่องเที่ยวได้ ภายในประเทศ เราก็เปิดให้จองห้องพัก มีคนจองเข้ามาเต็ม ซึ่งต้องบอกว่า ดีกว่าตอนก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในเดือนมกราคม 2564 ช่วงท่องเที่ยวมีคนจองมาเต็มหมดแล้ว และทุกอย่างก็ต้องถูกพับลงไปอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้ต้องบอกว่าเลวร้าย กว่าในสถานการณ์โควิด ครั้งแรก เพราะเกิดขึ้นแบบที่เราตั้งตัวไม่ทัน ลูกค้าที่จองไว้ต้องยกเลิกทั้งหมด เพราะจังหวัดระนองเป็นพื้นที่สีแดง ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด


แต่ครั้งนี้ ไม่เหมือนครั้งก่อน เพราะเรารู้สึกแย่ จากการสูญเสียแม่ไปอย่างกะทันหัน ทำให้ผมต้องทำใจระดับหนึ่ง จนคิดว่าจะให้พนักงานกลับบ้าน ไปทำมาหากินอย่างอื่น และปิดที่พัก เพื่อขอนั่งทำใจอยู่สักระยะหนึ่ง แต่สุดท้าย ผมก็ทิ้งพนักงานที่ต่อสู้กับเรามาตลอดไม่ได้ ผมจะผ่านเหตุการณ์เลวร้ายอะไร พนักงานเหล่านี้ก็อยู่ต่อสู้และเป็นกำลังใจให้กับผมมาตลอด รวมถึงเหตุการณ์สูญเสียแม่ในครั้งนั้น ผมได้พนักงานเป็นกำลังใจให้เราสู้ต่อ พอถึงวันนี้พอคิดว่าจะต้องให้เขาออกสู้ด้วยตัวเองก็ทำไม่ได้ ทำให้เราต้องเดินหน้าต่อ

อย่างไรก็ตามการเดินต่อครั้งนี้ อาจจะยากกว่า ครั้งแรก เพราะครั้งแรกรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ มีเงินประกันสังคมช่วยพนักงาน มีการพักชำระหนี้ แต่ครั้งนี้ ไม่มีการล็อกดาวน์ ไม่มีการช่วยเหลือจากภาครัฐ หรือ การพักชำระหนี้ แม้ว่าจะให้มีคนแนะนำให้เราขายจองที่พักล่วงหน้า แต่เราก็ไม่ยากทำเหมือนเป็นการนำเงินอนาคตมาใช้ ที่ผ่านมาไม่เคยกู้ยืมเงินมาทำธุรกิจแต่อย่างใด ครั้งนี้ ก็เช่นกันถึงจะต้องเผชิญกับวิกฤต ต้องผ่านไปให้ได้


ออกแบบรถพุ่มพวง รับมือโควิดรอบ 2


นายวิโรจน์ ได้โพสต์ผ่านหน้าเพจ ว่า หลายๆ คน บอกว่า ทำไม ไม่ขายน้ำพริกออนไลน์ เหมือนรอบที่แล้ว ได้เงินเป็นล้านเลย เพราะช่วงที่ขายน้ำพริกออนไลน์กัน ด้วยความที่ยังไม่มีประสบการณ์ เราผิดพลาดเยอะมากครับ อีกทั้งตัวแปรในการส่งของถึงมือลูกค้า ก็คือ ขนส่ง ที่ช้า ที่พลาด ทำให้ของเสียหาย เน่า บูด ถุงที่วาดอย่างตั้งใจขาด ฯลฯ ทำให้ลูกค้าบางคนผิดหวังต่อว่า เข้ามา รวมถึงเสียความรู้สึก เพราะเค้าก็รอนาน ทางเบสท์เอง ก็เครียดมาก ไม่มีความสุขเลย อ่านไลน์แอดทั้งคืน และต่างๆ อีกมากมาย

“พอถึงวันนี้ เลยตอบตัวเองได้ว่า เงินที่ได้มามากกว่า มันไม่ใช่คำตอบ หากไม่มีความสุข ไม่ใช่ ไม่อยากขายออนไลน์ แต่ถ้าทำอีกครั้ง ต้องจัดการและวางระบบให้ดี กว่านี้ก่อน แม้สถานการณ์โควิดรอบนี้ เรายังเปิดให้บริการแต่รายได้น้อยลง ก็อยากลองทำอะไรง่ายๆ ที่มีความสุขแบบนี้ไปก่อน ได้ไม่ได้ค่อยว่ากัน อีกที โดยจัดโปรโมทชั่นให้คนในพื้นที่ จังหวัดระนองได้เข้าพักในราคาโปรโมทชั่นลด 50%"


โดยสถานการณ์ โควิด-19 ครั้งนี้ ไม่โดนสั่งให้ปิดกิจการ ก็เหมือนปิด แต่เราก็ขอเลือกที่สู้ด้วยวิธี นี้ไปก่อน และคำตอบของพนักงานเกือบทุกคนในตอนประชุม คือ ยังไม่อยากทำน้ำพริก ขายของส่งออนไลน์ เหมือนครั้งที่แล้ว รวมถึงตัวผมเอง ที่ยังไม่อยากขายวอชเชอร์ นำเงินค่าที่พักล่วงหน้าในอนาคตของลูกค้ามาใช้ เลือกที่จะลดราคาลงมา 50% และขายผักพื้นบ้านที่ปลูกในฟาร์ม โดยการได้นำรถสองแถวไม้ที่มีอยู่ มาดัดแปลง ทำเป็นรถพุ่มพวง ให้คนในพื้นที่จังหวัดระนอง ได้กินและเข้ามาใช้บริการบ้านไร่ของเรา ไม่ได้หวังกำไร อะไร ขอแค่มีรายได้ดูแลพนักงานทุกคน ให้ทุกคนยังได้ทำงาน มีรายได้ และยังคง มีความสุข ที่ได้ลงมือทำสิ่งนี้ ร่วมกัน

ทั้งนี้ ขอบคุณทุกคนที่ช่วยอุดหนุน และทุกกำลังใจที่ส่งเข้ามา และรถสองแถวไม้ ที่นำพาผักสดจากฟาร์มของเราไปถึงลูกค้า ในตัวเมือง และในอำเภอต่างๆ ในจังหวัดระนอง โดยจะนำออกขายเพียงสัปดาห์ละ 1 วัน

สำหรับไอเดีย การนำรถสองแถวไม้ มาเป็นรถพุ่มพวงขายผักของบ้านไร่ ไออรุณเสน่ห์ไม่ได้อยู่แค่ รถสองแถวไม้แนววินเทจเท่านั้น แต่การนำตระกร้าจักสาน ผลิตภัณฑ์ที่ขายที่ บ้านไร่ไออรุณมาใส่ผัก ก็นำมาขายด้วย ทำให้รถพุ่มพวงคันนี้ ขับไปตรงไหนก็สะดุดตากับผู้พบเห็น และมีคนมาอุดหนุนจำนวนมาก เพราะผักที่สด และใหม่ ราคาไม่แพง ไม่เฉพาะผักสดที่ฟาร์ม เกษตรกรคนในพื้นที่ก็นำผักมาฝากไปขายกับรถพุ่มพวง ของบ้านไร่ไออรุณ คันนี้ได้เช่นกัน


สนใจ โทร.09-6938-2981




* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager





กำลังโหลดความคิดเห็น