xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ดันบิ๊กโปรเจกต์ 3 แสนล้าน พัฒนาโลจิสติกส์ เปิดงบปี 65 ขึงแผน “มอเตอร์เวย์-รถไฟ-สนามบิน”

เผยแพร่:



จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งมี 11 แผนงานนั้น ในส่วนแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้จัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปี 2565 จาก 9 กระทรวงที่เกี่ยวข้องวงเงิน 330,581.63 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นหน่วยงานกลาง ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คัดกรองเบื้องต้นเหลือ 327,174.20 ล้านบาท (ลดลง 1.03%)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้เสนองบประมาณรายจ่ายบูรณาการปี 2565 วงเงิน 325,880.5786 ล้านบาท จำนวน 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงบปลัดกระทรวงคมนาคม วงเงิน 192.08 ล้านบาท กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) วงเงิน 915.89 ล้านบาท กรมการขนส่งทางราง (ขร.) วงเงิน 96.15 ล้านบาท

กรมเจ้าท่า (จท.) วงเงิน 5,370.39 ล้านบาท กรมทางหลวง (ทล.) วงเงิน 240,153.77 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท (ทช.) วงเงิน 28,170.13 ล้านบาท กรมท่าอากาศยาน (ทย.) วงเงิน 11,034.99 ล้านบาท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) วงเงิน 439.81 ล้านบาท

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วงเงิน 955.43 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วงเงิน 20,609.13 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วงเงิน 18,003.58 ล้านบาท

กรมทางหลวงเสนอ 2.4 แสนล้าน ก่อสร้าง “มอเตอร์เวย์-จุดพักรถ-ยกระดับพระราม 2”

โดยกรมทางหลวงมีวงเงินมากที่สุด จำนวน 240,153.77 ล้านบาท 1. ก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา/สายบางใหญ่-กาญจนบุรี, จ่ายค่าชดเชยอสังหาริมทรัพย์ทางหลวงสัมปทานหมายเลข 8 สายนครปฐม-ชะอำ, สำรวจออกแบบถนนวงแหวนรอบนอก กทม.รอบที่ 3 (ด้านตะวันออกและตะวันตก), มอเตอร์เวย์สายชลบุรี-หนองคาย, มอเตอร์เวย์สายชลบุรี-ตราด ตอนชลบุรี-อ.แกลง, มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครสวรรค์ วงเงินรวมทั้งสิ้น 21,968.81 ล้านบาท

2. บูรณะโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างภาค (บูรณะผิวทางเดิมที่เสียหายเกินกว่าจะบูรณะด้วยวิธีปกติ) วงเงินรวม 13,318.9 ล้านบาท 3. ก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน (ก่อสร้างสะพานทางต่างระดับ แก้ไขปัญหาจราจร ขยายทางสายประธาน จุดตัดทางรถไฟ SEZ เพิ่มไหล่ทาง เป็นต้น) วงเงินรวม 113,323.92 ล้านบาท 4. เพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยบนทางหลวง (ทางแยก ปรับทิศการจราจร ยกระดับมาตรฐานป้องกันอันตรายข้างทาง จุดกลับรถในระดับเดียวกัน ทางแยกอันตราย ป้องกันการพังทลายเชิงลาดคันทาง เพิ่มความปลอดภัยทางถนน) วงเงินรวม 82,580 ล้านบาท

5. พัฒนาจุดจอดพักรถและสถานีตรวจสอบน้ำหนัก วงเงินรวม 4,403.77 ล้านบาท 6. ก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) วงเงิน 4,558.36 ล้านบาท

ทช.ลุยถนนผังเมือง-สะพาน เพิ่มความปลอดภัย 2.8 หมื่นล้านบาท

กรมทางหลวงชนบท เสนอวงเงินรวม 28,170.13 ล้านบาท แบ่งเป็นการดำเนินโครงการพัฒนาทางและสะพาน ยกระดับชั้นทาง ก่อสร้างถนนผังเมือง แก้ปัญหาจราจร และค่าเวนคืนที่ดิน วงเงิน 23,313.01 ล้านบาท และโครงการอำนวยความปลอดภัยสนับสนุนคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ วงเงิน 4,843.11 ล้านบาท

กทพ.ตั้งค่าเวนคืนทางด่วน 3 สาย กว่า 955 ล้านบาท

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เสนอวงเงิน 955.43 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เพิ่มขึ้นตามคำพิพากษาของศาล ในโครงการทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ วงเงิน 28.38 ล้านบาท, ทางด่วนสายพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯด้านตะวันตก วงเงิน 7.05 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัด ภูเก็ต วงเงิน 920 ล้านบาท

รฟท.เดินหน้าทางคู่ไฮสปีด “ไทย-จีน”

ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสนองบประมาณรายจ่ายบูรณาการปี 2565 วงเงิน 18,003.58 ล้านบาท สำหรับ 15 โครงการ ได้แก่ 1. ติดตั้งรั้วสองข้างทางตามแนวเขตทางรถไฟ 506.58 ล้านบาท 2. ปรับปรุงทางรถไฟ 492.96 ล้านบาท 3. ปรับปรุงสะพานและช่องน้ำ 883.8 ล้านบาท 4. จัดหาและติดตั้งป้ายหยุดสะท้อนแสง พร้อมป้ายเตือนกะพริบแสง 16.5 ล้านบาท 
 
5. ก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง (สำรวจและออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) 44.82 ล้านบาท 6. ก่อสร้างทางเชื่อมต่อทางเชื่อม Sky Walk ระหว่างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์กับสถานีหลักสี่ ตามพระดำริ 4.09 ล้านบาท 7. ก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ (ค่าเวนคืน) 13,705.88 ล้านบาท 
 
8. ก่อสร้างทางรถไฟสาย บ่านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม (ค่าเวนคืน) วงเงิน 9,912.5 ล้านบาท 9. รถไฟความเร็วสูงความร่วมมือไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา (ค่าเวนคืน) วงเงิน 34,192.49 ล้านบาท 10. รถไฟความเร็วสูงความร่วมมือไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย (ค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบ) วงเงิน 51.1 ล้านบาท 11. ก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ (ค่าเวนคืน)วงเงิน 8,010.23 ล้านบาท 12. ก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ (ค่าเวนคืนและค่าจ้างที่ปรึกษา) วงเงิน 6,747.84 ล้านบาท 
 
13. ปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณไฟสีทั่วประเทศ วงเงิน 496.52 ล้านบาท 14. ก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย (ค่าจ้างที่ปรึกษาเตรียมเอกสารประกวดราคา/ค่าเวนคืนอสังหาริมทรัพย์) วงเงิน 2,646.89 ล้านบาท 
 
15 .จ้างที่ปรึกษาเพื่อเตรียมดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทั่วประเทศ วงเงิน 641.18 ล้านบาท ประกอบด้วย ศึกษาความเหมาะสม สำรวจออกแบบทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี /ศึกษาเพื่อเตรียมดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ (ยกระดับทางรถไฟในเขตเมืองสระบุรี, ก่อสร้างทางคู่สายนครสวรรค์-บ้านไผ่, ติดตั้งระบบจ่ายไฟเหนือหัว (OCS) ในพื้นที่โครงการถไฟสายสีแดง สำหรับรถไฟทางไกล)

รฟม.ตั้งกรอบ 2 หมื่นล้าน จ่ายค่าเวนคืนรถไฟฟ้า-ค่าจ้างเดินรถสายสีม่วง 
 
รฟม.เสนอ 20,609.13 ล้านบาท สำหรับค่าเวนคืนรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน, สีเขียว สีชมพู สีเหลือง สีส้ม สีม่วง นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายเดินรถไฟฟ้าสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ และค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์และค่าเวนคืน โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะ และระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ อีกด้วย
กรมขนส่งทางบก เสนอ 818.33 ล้านบาท พัฒนาศูนย์ขนส่งชายแดน จ.นครพนม, โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย, โครงการสถานขนส่งสินค้า, โครงการพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสาร

ทุ่ม 1.1 หมื่นล้านบาทขยายศักยภาพสนามบินภูมิภาค 
 
กรมท่าอากาศยาน เสนอแผนพัฒนาศักยภาพสนามบินภูมิภาค วงเงิน 11,034.99 ล้านบาท โดยเป็นการพัฒนาศักยภาพสนามบินเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคม 19 แห่ง วงเงิน 8,897.93 ล้านบาท เช่น ซ่อมผิวทาง ขยายรันเวย์ ก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร และโครงการเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของสนามบิน 27 แห่ง วงเงิน 2,137.06 ล้านบาท เช่น จัดซื้อเครื่องรับส่งวิทยุ ติดตั้งระบบไฟฟ้าสนามบิน ติดตั้งสายพานลำเลียง สัญญาณไฟเตือนทางวิ่ง 
 
นอกจากนี้ยังมีกรมเจ้าท่าเสนอวงเงิน 5,309.57 ล้านบาท โดยมีแผนงาน 44 โครงการ เช่น โครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล, โครงการศึกษาความเหมาะสม การขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำ, โครงการปรับปรุงและขยายท่าเรือสินค้า จ.นครพนม, ปรับปรุงท่าเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา, ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในแม่น้ำป่าสัก เป็นต้น

สนข.เสนอวงเงิน 439.81 ล้านบาท มีโครงการสำคัญ ได้แก่ การศึกษาพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงการเดินทางเข้าถึงสถานีรถไฟและสนามบิน, จัดทำแผนโลจิสติกส์เพิ่มประสิทธิภาพเชื่อมโยงฐานการผลิตในพื้นที่ EEC, ศึกษาสำรวจการเดินทางในเขต กทม.และปริมณฑล, ศึกษาการลดใช้พลังงานในภาคคมนาคมขนส่งทางบก

ล็อกโครงการเท่าเดิม เสนอสำนักงบฯ ลดงบผูกพันปีแรกเหลือ 10-15% 
 
“ศักดิ์สยาม” กล่าวว่า ทุกโครงการของกระทรวงคมนาคมที่เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณในปี 2565 มีความจำเป็นทั้งสิ้น แต่หากมีข้อจำกัดในการจัดสรรงบประมาณ ได้เสนอว่า ขอให้คงจำนวนโครงการไว้เท่าเดิม และให้ปรับลดวงเงินแต่ละโครงการลง เช่น โครงการผูกพัน ปกติในปีแรกจะกำหนดสัดส่วน 20% อาจจะปรับเหลือ 10-15% เพื่อให้จัดงบให้ตามจำนวนโครงการที่เสนอ ไม่ต้องตัดออก เพราะจะเป็นการสะท้อนให้เห็นว่ามีการดำเนินโครงการเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างทั่วถึง ไม่มีการตัดหรือชะลอ ซึ่งสำนักงบประมาณรับความเห็นนี้ไปพิจารณา และจะต้องเสนอ ครม.อนุมัติ เรื่องก่อหนี้ผูกพัน 
 
“นอกจากนี้จะมีการพิจารณาหาแหล่งเงินนอกเหนือจากงบประมาณปกติ เช่น กองทุนมอเตอร์เวย์ หรือการลงทุนร่วมเอกชน (PPP) มาช่วยขับเคลื่อนโครงการ การดำเนินโครงการภายใต้แผนงานพัฒนาเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และประหยัดเวลา เชื่อมการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ และการบริหารจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า กำหนดเป้าหมายในปี 2565 ลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ หรือต่อ GDP เป็น 12% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 12.9-13.4% และขยับดัชนีประสิทธิภาพโลจิสติกส์ (LPI) สูงขึ้น 5 อันดับ หรือเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน ในปี 2565

โดยมีตัวชี้วัดได้แก่ 1. เพิ่มสัดส่วนผู้ใช้ระบบรถไฟฟ้าเพิ่มเป็น 15% ต่อปริมาณการเดินทางในเขตกทม.และปริมณฑล (จาก 1.1427 ล้านคน-เที่ยว/วัน ในปี 2562 เป็น 5.265 ล้านคน-เที่ยว/วัน) 2. เพิ่มสัดส่วนปริมาณการขนส่งทางรางเป็น 4% ต่อปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมด (จาก 10.217 ล้านตันในปี 2562 เป็น 34.77 ล้านตัน)
3.สัดส่วนต้นทุนค่าขนส่งสินค้าต่ำกว่า 7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ 4. เพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางน้ำเป็น 15% ต่อปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมด (จาก 117.537 ล้านตันในปี 2562 เป็น 130.37 ล้านตัน) 5. เพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานในภูมิภาคเป็น 55 ล้านคน 6. ดัชนีประสิทธิภาพโลจิสติกส์ (LPI) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน สูงขึ้น 5 อันดับ หรือเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน ในปี 2565

โดยแต่ละปีที่ผ่านมา คำของบประมาณจะถูกตัดลงกว่า 50% โดยในปี 2564 คำขอ 2.64 แสนล้านบาท ได้รับจัดสรรเพียง 1.06 แสนล้านบาท ...ต้องลุ้นคำขอกว่า 3.2 แสนล้านบาท ปี 2565 จะถูกตัดลดลงเท่าไหร่ หากรัฐไม่มีงบ การผลักดันโครงการคงต้องหันไปพึ่งพากองทุนต่างๆ รวมถึงเปิด PPP ดึงเอกชนมาลงทน แต่ทว่า! วิกฤตเศรษฐกิจที่ตกต่ำสุดขีดจากการระบาดของโควิด-19 คงจะยากที่จะดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติได้เหมือนเดิม!!





นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม




กำลังโหลดความคิดเห็น