xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) ลูกชาวนาเมืองสุรินทร์ เจอพิษโควิด หันทำคลิป “กะเทยขายข้าว” รับออร์เดอร์หลายพันกิโลต่อวัน

เผยแพร่:



ชาวนาไทยในยุค 4.0 นอกจากพัฒนาการปลูกข้าว ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพแล้ว การเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่ชาวนาต้องเรียนรู้ เพื่อจะได้เพิ่มเงินในกระเป๋า การเดินทางกลับบ้านของ คนรุ่นใหม่ ในช่วงสถานการณ์โควิด เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเกษตรกร ในการนำเทคโนโลยี เข้ามาช่วยพัฒนาช่องทางการขายผ่านออนไลน์


ที่ผ่านมา เราได้เห็น คลิปขายข้าว ที่ชื่อว่า “กะเทยขายข้าว” ของ โอวา “ธนาวัฒน์ จันนิม” โด่งดังและมีการพูดถึงอย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ พร้อมกับออร์เดอร์หลายพันกิโลกรัมต่อวัน วันนี้ เราจะมาแนะนำให้รู้จัก กับเจ้าของเพจ โอวาขายข้าวหอมมะลิ ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน สำหรับพื้นเพ “โอวา” ป็นคนจังหวัดสุรินทร์ เรียนจบจาก คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าทำงานเป็นพนักงานประจำที่บริษัทแห่งหนึ่งมาได้ 10 กว่าปี อยากขยับขยายหน้าที่การงาน จึงดูงานไว้ 2 แห่ง ที่ให้เงินเดือนและตำแหน่งสูงกว่า ประกอบกับเกิดความรู้สึกอยากพัก จึงตัดสินใจลาออกกลับไปพักผ่อนที่บ้านเกิด

“ต้องบอกก่อนว่าที่บ้านมีอาชีพทำนา เราก็เลยเป็นชาวนามาตั้งแต่จำความได้แล้ว พอเข้าไปเรียนกรุงเทพฯ จบมาก็ทำงานที่นั่นเลย ตั้งแต่จบมาได้ 10 กว่าปี เราก็เข้าทำงานเลย มันเหมือนไม่มีเวลาพัก เลยตัดสินใจลาออกกลับมาพักผ่อนอยู่บ้านสักเดือนสองเดือน แล้วค่อยกลับไปหางานทำใหม่ ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงที่โควิดระบาดพอดี เลยเหมือนเราถูกดองถูกแช่ไว้อย่างนั้น สักพักมันทำให้รู้สึกว่า ตัวเองเป็นพวกว่างงาน แล้วจะว่างเพื่ออะไร พอมองไปในยุ้งฉางบ้าน ก็เห็นข้าว เลยหันไปถามแม่ว่า ข้าวในยุ้งฉางนี้ จำนำธนาคารไว้เท่าไหร่ แม่บอก 7 หมื่น เราก็เลยถามแม่ว่า ขอซื้อต่อได้ไหม เดี๋ยวจะทำให้มันมีราคามากกว่านี้”


จุดเริ่มต้น ของการเปิดเพจ โอวาขายข้าวหอมมะลิสุรินทร์

นายธนาวัฒน์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า มาจาก “โอวา” เดินทางกลับมาอยู่บ้าน ในช่วงก่อนโควิด พอในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โอวาก็ไปไหนไม่ได้ เงินเก็บที่มีอยู่เริ่มหมดไป ก็เลยหาอะไรที่ทำให้ได้เงิน ที่บ้านมีข้าวอยู่ก็เลยโพสต์ขายข้าวซะเลย ที่นี่ตอนเราขาย เราก็อยากมีสิ่งที่จะช่วยเรียกความสนใจ ก็เลยทำคลิป กะเทยขายข้าว ลงเพจ “ธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” ซึ่งผลตอบรับออกมาดีมาก ข้อความเข้ามาเยอะมาก เยอะขนาดไหน ก็เยอะขนาดเราโดนเฟซบุ๊กบล็อก คิดว่าเป็นสแปม

หลังจากโดนเฟซบุ๊กบล็อก ก็ทำอะไรไม่ได้ ลูกค้าติดต่อซื้อข้าวเราไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องมาเปิดเพจชื่อว่า “โอวาข้าวหอมมะลิสุรินทร์ 100%” เริ่มเปิดเพจก็ช่วงมีสถานการณ์โควิดพอดี พอเปิดเพจทำให้เรามีช่องทางในการสื่อสารกับลูกค้ามากขึ้น


“ต้องรับว่าช่วงแรก ที่เปิดช่องทางขายทางเพจส่วนตัวที่ยังไม่ได้ทำคลิป ก็ขายไม่ได้เท่าไหร่ เป็นเหตุผลที่เราต้องหาวิธีการขายใหม่ โดยการทำคลิป และฝากร้านกับเพจอื่นๆ พอทำคลิปทุกกอย่างเปลี่ยนไป ออร์เดอร์เข้ามาเยอะมาก วันหนึ่งขายได้ 3,000-4,000 กิโลกรัม จากวันนั้นที่เริ่มทำคลิป และทำมาเรื่อยผ่านมาเกือบ 1 ปี ที่เปิดขายออนไลน์ มีลูกค้าซื้อข้าวไปแล้วกว่า 20,000 กิโลกรัม

ถ้าถามว่า ครั้งนี้ ประสบความสำเร็จหรือยัง ซึ่งก็บอกยากนะ เพราะถ้าดูจากยอดขาย เรายังไม่ได้เยอะมากขนาดเรียกว่าประสบความสำเร็จ แต่ถ้าถามว่า พอใจกับการทำเพจครั้งนี้ไหม ก็ต้องบอกว่า พอใจมากเพราะFeedback จากคลิป ช่วยทำให้คนรู้จักเราเยอะขึ้น ช่วยยกระดับราคาข้าวจากปกติ หรือ ยอดไลค์ หรือ คอมเมนท์ที่ชม หรือ คำบอกเล่าที่ทำให้ทุกคนอารมณ์ดีขึ้น ตรงนี้ต่างหากที่เป็นแรงขับเคลื่อนทำให้เรามีกำลังใจที่จะคลิปดีแบบนี้ต่อไป ส่วนยอดขายข้าวเป็นผลพลอยได้ที่มาจากการทุ่มเทและตั้งใจที่จะทำคลิปดีดี


ขายข้าวออนไลน์ เหมือนสินค้าอื่นๆ คุณภาพต้องมาก่อน

สำหรับที่มาของข้าวหอมสุรินทร์ ที่ “โอวา” นำมาขายในครั้งนี้ มาจากในตอนแรก เรามองหาสิ่งที่ใกล้ตัวเรา และนำมาขาย เพราะเรารู้สึกว่า ถ้าล้มเหลวก็ไม่เจ็บตัวมากนัก ก็เลยเป็นข้าวที่มาจากนาของโอวาเอง เพราะเรากินมาตั้งเด็กจนโต เราค่อนข้างมั่นใจว่า ข้าวเรามีคุณภาพเราถึงกล้าขายและบอกต่อ จริงๆ "โอวา" ว่า ไม่ได้เฉพาะข้าวของเราหรอก ไม่ว่าเราจะขายอะไร เราก็ต้องเชื่อมั่น และมั่นใจในคุณภาพของสินค้าของเราก่อนที่ตัดสินใจนำมาขายและบอกต่อ

ส่วนข้าวหอมมะลิของเรา เป็นข้าวที่ปลูกแบบไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ได้ใส่สารเคมีที่เป็นอันตราย และที่บ้านของเราก็มีเครื่องสีข้าวเล็กๆ ที่เราสามารถที่จะสีข้าวตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งเท่านั้น พอสีเสร็จแพคเลย ไม่มีการอบมอด ทำให้ปลอดภัย ปลอดสาร ส่งตรงจากเกษตรกร ถึงผู้บริโภคโดยตรง

ในส่วนการตั้งราคา และแพจเกจจิ้ง “โอวา” บอกว่า สิ่งแรกที่เราคิดได้คือ ตรงไปยังห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ตก่อนเลย ไปไล่ดูสินค้า คู่แข่ง และราคาที่เป็นไปได้ เลยมาลงตัวที่ราคากิโลกรัมละ 50 บาท แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ราคา เพราะเราตั้งราคาที่สมเหตุสมผล แต่ปัญหาที่ทำให้หลายคนมองว่าข้าวเราแพง เพราะค่าขนส่ง ต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 35 บาท ซึ่งเป็นปัญหาที่เราต้องกลับมาทำการบ้านและแก้ไขกันต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้สามารถแก้ปัญหาราคาค่าขนส่งที่ทำให้ต้นทุนข้าวของเราแพงกว่า ในซุปเปอร์มาร์เก็ตให้ได้


ความยาก ง่าย กว่าจะได้คลิป กะเทยขายข้าว

ทั้งนี้ การที่เรารุกขึ้นมาทำคลิปกะเทยขายข้าว ครั้งนี้ "โอวา"  ไม่ได้มองถึงความยากง่ายอะไร เพราะต้นทุนทุกอย่างมันคือตัวเรา แค่เราดึงเอาบุคลิกส่วนตัวของเราที่ชอบความสนุกสนาน เราก็เอาความเป็นตัวตนของเราออกมาใช้ ทำคลิป ซึ่งตอนทำคลิปแรก เราไม่ได้เน้นขายข้าวเลยนะ แต่เน้นขายตัวเองมากกว่า เพราะต้องการสื่อสารให้คนรับรู้ว่า เราเป็นคนสุรินทร์ จริงๆ สามารถพูดภาษาเขมรได้ เราเป็นลูกชาวนาตัวจริงไม่ใช่ปลอมตัวมาเพื่อขายข้าว พอคนรู้ แบล็กกราวด์ของเรา เขาจะเชื่อแล้วว่า ข้าวจากสุรินทร์ และเป็นเกษตรกรตัวจริง ทำให้เราสื่อสารได้ง่ายขึ้น

ในส่วนเทคนิคการทำคลิป ก็ไม่มีอะไร เรามองหาว่า เราจะสื่อสารอะไร เพื่อให้มันเข้ากันกับสิ่งที่เราจะนำเสนอ และเป็นประสบการณ์ร่วมกัน นั่น คือ ทุ่งนา และเพลงลูกทุ่ง และช่วง 40-50 ปี ที่ผ่านมา เราเคยดูมนต์รักลูกทุ่ง พี่คล้าวและทองกวาว ก็หยิบเอาเรื่องราวของพี่คล้าวและทองกวาว มานำเสนอ ดังนั้น เวลาสื่อสารอะไรอออกไป เราเลือกนำสิ่งที่หลายคนเคยมีประสบการณ์ร่วมมานำเสนอ ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้มากกว่า โดยแต่ละคลิป เราใช้ความเรียลเป็นที่ตั้ง ในช่วงที่เขามีการเกี่ยวข้าว มีคลิปกะเทยเกี่ยวข้าว หน้าแล้งเป็นคลิปกะเทยหาปู หาปลา ในทุ่งนา และนำมาตัดต่อ ใช้เวลาไม่เกิน 1 วันก็ตัดต่อเสร็จ เพียงแค่คิดพร็อตเรื่องมาก่อนแค่นั้นเอง ส่วนคนถ่ายก็ใช้คนในครอบครัว ไม่หลานก็เป็นแม่ ช่วยกันในครอบครัว




คำสบประมาท เรียนจบยังกลับบ้านมาทำนา ขายข้าว

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า เส้นทางการยึดอาชีพ ขายข้าวออนไลน์ ไม่ได้สวยเหมือนอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะ "โอวา" ต้องสู้กับคำสบประมาทจากคนรอบข้าง และคนในครอบครัว ว่า เรียนจบมาก็สูงทำไมต้องกลับมาทำนา และมาขายข้าว “โอวา” บอกว่า คำสบประมาทตรงนี้มีเยอะมากในสายตาของคนต่างจังหวัด เขาให้ความสำเร็จกับลูกหลานต้องไปทำกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด และ แล้วส่งเงินกลับมาให้พ่อแม่ หรือไม่ก็เป็นข้าราชการ และยิ่งเราจบมหาวิทยาลัยดัง ความกดดันมันก็ยิ่งเยอะ

“ตอนทำแรกๆ คือกดดันมากนะ ทั้งจากพ่อแม่และชาวบ้าน เพราะภาพลักษณ์ของการทำงานอยู่บ้าน คือ พวกเกาะพ่อแม่กิน ทั้งๆ ที่รายได้มันมากกว่าการทำงานประจำอีก แต่ส่วนตัว เราไม่สนคำชาวบ้าน ทำของเราไป จนตอนนี้ก็มีหลายคน ที่หันมาขายข้าวตามเรา และก็มีมาถาม ว่า สีข้าวที่ไหน แพ็กข้าวยังไง ซื้อถุงแพ็กข้าวที่ไหน ส่งของอย่างไร เราก็บอกไปหมด ตอนแรกก็ถาม ก็พูดแบบนั้นแบบนี้ พอเห็นเราขายทุกวัน และขายได้ทั้งปี เขาเลยคิดว่ามันเป็นไปได้ มันมีลู่ทาง มีตลาดที่ทำให้เขาได้เงินมากกว่า ก็เริ่มมีคนทำตาม ซึ่งเราก็โอเคร เพราะเราต้องการเห็นชาวนาเมืองสุรินทร์ หรือ ชาวนาจากทั่วประเทศขายข้าวในราคาที่สูงขึ้นและมีรายได้มากขึ้น”

ติดต่อ FB: โอวา ข้าวหอมมะลิแท้สุรินทร์ 100%


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager







* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *www.facebook.com/SMEs.manager" data-small-header="false" data-adapt-container-width="true" data-hide-cover="false" data-show-facepile="true" data-show-posts="false">
SMEs manager

กำลังโหลดความคิดเห็น