xs
xsm
sm
md
lg

SCG วิเคราะห์เทรนด์ก่อสร้าง-ที่อยู่อาศัยปี 64

เผยแพร่:


วชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Living Solution Business ธุรกิจ เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง
เป็นที่ทราบกันดีว่าในปี 63 เกิดสถานการณ์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เช่น สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า จนถึงวันนี้ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทย แต่ได้กระทบไปทั่วโลก ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของผู้คน รวมไปถึงผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นตัวกำหนดเทรนด์ และเร่งพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด จนเกิด Digital Disruption รวมถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เดินทางมาเร็วกว่าปกติ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาถึงปี 64

นายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Living Solution Business ธุรกิจ เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ล่าวถึงเทรนด์การก่อสร้างและที่อยู่อาศัยในปี 64 ว่า มีปัจจัยสำคัญ 4 ข้อ คือ 1.Digital Transformation คือการนำเอาดิจิทัล เทคโนโลยีมาปรับใช้กับทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นหนึ่งตัวแปรการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากคนส่วนใหญ่ได้ให้เวลา และเรียนรู้การใช้งานเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ที่ทุกคนต้องทำไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันโปรแกรมการประชุมออนไลน์ เข้ามาอำนวยความสะดวกแทนการเดินทางมาประชุมในรูปแบบเก่า หรือการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบาย และง่าย แบบ Anywhere Anytime ของคนทุกเพศ ทุกวัย

2.ผู้คนหันมาให้ความสำคัญ ใส่ใจกับพื้นที่อยู่อาศัยมากขึ้น เทรนด์นี้เกิดขึ้นจากช่วงล็อกดาวน์ เมื่อคนอยู่บ้านกันมากกว่าที่เคย จะเห็นได้ว่ามีการปรับปรุงตกแต่งบ้านให้น่าอยู่และรองรับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ไม่ว่าโลกจะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด “ที่อยู่อาศัย” ก็ยังคงเป็นปัจจัยพื้นฐานสําคัญ และเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุด 3.Well-Being โลกกำลังตื่นตัวในเรื่องของสุขอนามัยกันมากขึ้น เทรนด์ที่กําลังอยู่ในความสนใจของผู้คนทุกเพศทุกวัย และเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่องจากวิถีการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ทำให้มองเห็นการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นเรื่องที่สำคัญและให้ความสนใจกับสิ่งรอบตัว ไปพร้อมๆ กับการที่มีบ้านที่ดี มีความปลอดภัย ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังต้องปรับตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) สอดคล้องกับพฤติกรรมการเลือกและใส่ใจกับความปลอดภัยเป็นเรื่องแรก ทั้งการอาศัยอยู่ภายในบ้าน รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมตัวเอง และสมาชิกในบ้าน สู่การเป็นผู้สูงวัยในอนาคต

4.ใส่ใจสิ่งแวดล้อม จากสถานการณ์ที่ทั่วโลกต่างรับมือกับการสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของโลก ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงานกันมากขึ้น หรือแม้แต่เรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน การหมุนเวียนเอาทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นสิ่งที่มนุษย์เราเริ่มหันมามองสิ่งรอบตัว จนเกิดคำถามที่ว่า เมื่อโลกเปลี่ยน ถึงเวลาที่ต้องหันกลับมามองที่ตัวเราเอง ว่าที่ผ่านมาดูแลโลกนี้ดีเพียงพอหรือยัง?


นายวชิระชัย กล่าวว่า “ด้วยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนผ่านได้ยกระดับความต้องการพื้นฐานทางกายภาพของมนุษย์สู่ความเป็นดิจิทัลโดยการผนวกเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกสบายในทุกมิติ ส่งผลให้ภาพของ Smart City หรือเมืองอัจฉริยะชัดเจนมากขึ้น นำไปสู่การใช้ชีวิตในรูปแบบ Smart Living ที่เชื่อมต่อทุกประสบการณ์ด้วยเทคโนโลยี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ในฐานะองค์กรต้องเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มที่เกิดขึ้น ทั้งด้านพฤติกรรม ความเป็นอยู่ การใช้ชีวิต สุขอนามัย

จากแนวโน้มดังกล่าว “เอสซีจี” ได้พัฒนาสินค้าและบริการ พร้อมพัฒนากลยุทธ์รอบด้านเพื่อตอบโจทย์ด้วยโซลูชัน เพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการและพฤติกรรมที่หลากหลายของผู้บริโภค ตลอดจนด้านการผลิตทั้ง Supply Chain ได้พัฒนาเรื่องพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน Smart City รวมไปถึงการนำระบบ  IoT (Internet of Things) เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการและแก้ปัญหา โดยการนำเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาอาคารตามมาตรฐานอาคารระดับโลก ด้วยการให้บริการตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้าง รวมไปถึงการรับรองอาคาร สิ่งปลูกสร้างตามแนวทางการดำเนินธุรกิจของ SCG Building and Living Care Consulting ให้เป็นไปตามมาตรฐานอาคารเขียว (Green Building Certification) เพื่อได้รับรองจาก LEED และ TREES รวมไปถึงอาคารที่ได้มาตรฐานอาคารเพื่อสุขภาวะที่ดี (Well-Being Building) ตามมาตรฐาน WELL และ  fitwel โดยเป็นการวัดค่าความเป็นมิตรต่อคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานอาคาร ทั้งในด้านสภาวะแวดล้อมที่มีการควบคุมคุณภาพน้ำและอากาศ รวมถึงให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุ โดยออกแบบอาคารตามหลัก Universal Design (UD) เพื่อรองรับคนได้ทุกช่วงวัย

สำหรับการอยู่อาศัยในสภาวะที่ดีภายในอาคารเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในปัจจุบัน SCG Smart Building Solution ได้นำเอาโซลูชันและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยยกระดับการใช้งานอาคาร ทั้งในด้านการประหยัดพลังงาน ความสะดวกสบาย ความสะอาดและความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น Energy WELL Series ระบบที่ช่วยลดการใช้พลังงานในระบบระบายอากาศ ด้วยระบบดูดซับสารพิษในอากาศ ช่วยควบคุมคุณภาพอากาศภายในอาคารให้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้ลดการใช้พลังงานภายในอาคารได้ถึง 20-40% ต่อปี และ HYGIENE Series การปรับปรุงและยกระดับคุณภาพอากาศภายในอาคารให้สะอาดจากเชื้อโรค โดยการใช้เทคโนโลยี Bi-polar Ionization System ปล่อยประจุบวกและลบที่มีคุณสมบัติลดสิ่งเจือปนในอากาศ อย่างเช่น ไวรัส แบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของโรคติดต่อชนิดต่างๆ รวมไปถึงเชื้อราในอากาศได้มากถึง 99%

ทั้งนี้ การอยู่อาศัยภายในบ้านก็เป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ เทคโนโลยีที่รองรับสำหรับบ้าน ที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดพลังงาน อย่าง SCG Solar Roof Solution หลังคาโซลาร์เพื่อบ้านประหยัดพลังงาน ช่วยประหยัดค่าไฟได้สูงสุดถึง 60% หรือ ระบบ Active AIRflow™ System นวัตกรรมถ่ายเทอากาศที่ช่วยลดอุณหภูมิ 2-5 องศาในบ้าน ลดการสะสมเชื้อโรค ความอับชื้นภายในบ้าน และลดอาการภูมิแพ้ ส่วนเรื่องของสุขอนามัยภายในบ้าน อย่างสุขภัณฑ์และก๊อกน้ำอัตโนมัติ จากความกังวลเกี่ยวกับความสะอาด โดยเฉพาะห้องน้ำ ซึ่งต้องการที่จะลดการสัมผัสให้ได้มากที่สุด กระเบื้องกลุ่ม Hygienic Tile และ Health and Clean Tile นวัตกรรมที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียภายในบ้าน รวมถึง DoCare เทคโนโลยีเพื่อการดูแลผู้สูงอายุภายในบ้านให้มีความปลอดภัยโดยเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน เป็นต้น

จากแนวคิดเมืองฉลาดรู้ที่เชื่อมต่อกับความเป็นอยู่สู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งอีกไม่นานคงจะได้เห็นถึงการผนึกกำลังกันของภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบ ร่วมสร้างเมืองให้เป็น Smart City ที่ครอบคลุมไปถึงการก่อสร้างตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพื่อให้เกิด Ecosystem เชื่อมโยงและสัมพันธ์กันอย่างกลมกลืนและยั่งยืน

ชูโชค ศิวะคุณากร Managing Director บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด
นายชูโชค ศิวะคุณากร Managing Director บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่าง คือ การขาดแคลนแรงงาน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในสายงานก่อสร้าง และขาดแคลนในเชิงของคุณภาพและทักษะของงานก่อสร้างที่มีความหลากหลาย ซึ่งต้องเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาต้าควบคู่ อย่างเช่นการพัฒนาแรงงานฝีมือช่าง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอีกด้านหนึ่ง โดยเมื่อก่อนนี้นึกถึงแค่งานโครงสร้างอาคาร แต่ปัจจุบันมันต้องมองทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ปัญหาเรื่องฝุ่นละออง เรื่องการจัดการน้ำ ซึ่งมันจะเชื่อมโยงในภาคการอุปโภคบริโภค ทั้งในเชิงของการเกษตร และอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ตัวกำหนดทิศทางสำคัญในการขับเคลื่อนแวดวงการก่อสร้าง คือ ความเบ็ดเสร็จ ครบวงจร และรวดเร็ว ทั้งรูปแบบการใช้งานตัวอาคารและโครงสร้าง ทั้งการเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานบนโครงสร้างเดิม ให้มีความหลากหลายหรือเป็นการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของการใช้งานโครงสร้างเดิมให้ต่างออกไป รวมถึงการรีโนเวตปรับปรุงอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ไปสู่การพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันเพื่อตอบโจทย์สูงสุด ซึ่งอีกหนึ่งเทคโนโลยีทันสมัยที่จะมีบทบาทมากขึ้นในวงการก่อสร้างไทย อย่าง CPAC BIM คือ การนำเทคโนโลยี Building Information Modeling (BIM) มาใช้ในการสร้างหรือปรับปรุงอาคาร ตั้งแต่การวางแผนการก่อสร้าง การออกแบบและเลือกวัสดุ คำนวณการใช้พลังงาน การจัดการเรื่องเวลา ตลอดจนการสำรวจหน้างานแบบเสมือนจริง โดยใช้ VR Walk Through และการทำงานบน Collaboration Platform เพื่อช่วยการสื่อสารให้เห็นภาพเดียวกัน ทั้งผู้ออกแบบ สถาปนิก วิศวกร และผู้รับเหมา รวมทั้งตัวเจ้าของงาน ทำให้เกิดการบริหารจัดการอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ

จากความต้องการความเบ็ดเสร็จและรวดเร็วทำให้เกิดแนวทางการก่อสร้างแนวใหม่ คือ Smart Construction ซึ่งจะช่วยจัดการกับการออกแบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีที่ล้าสมัย และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังปรับให้สอดคล้องต่อพฤติกรรมของผู้ใช้งานให้มีความเป็น Smart Building มากยิ่งขึ้น ด้วยระบบการทำงานมาตรฐาน CPAC BIM เทคโนโลยีที่ช่วยสร้างความแม่นยำในการออกแบบ และควบคุมคุณภาพในงานก่อสร้าง ประกอบกับระบบการก่อสร้างยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแบบ Prefabrication เป็นเทคนิคการก่อสร้างอาคารจากชิ้นส่วนสำเร็จ และนำมาประกอบที่ตัวอาคาร หรือการใช้แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast) เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและลดการเกิดของเสีย ณ จุดก่อสร้าง ยังรวมไปถึงการสร้างโรงงาน โรงเรือนฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ก็มีโซลูชันเข้ามาช่วยวางแผน และ Lifetime Solution ที่ช่วยสำรวจความแข็งแรง ตรวจประเมินสภาพความเสียหายของโครงสร้าง และทำการซ่อมแซม ต่อเติม ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง โดยเสริมกำลังโครงสร้างด้วยคาร์บอนไฟเบอร์และวิธีการที่หลากหลาย เพื่อยืดอายุการใช้งานโครงสร้างและช่วยประหยัดทรัพยากรอีกด้วย

“ความน่าสนใจอีกข้อที่ก่อตัวขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง คือ Networking การสร้างเครือข่ายขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดการแชร์ข้อมูลร่วมกัน แชร์ Resource หรือแม้แต่ Knowledge แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ทั้งกลุ่มเจ้าของโครงการและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในแวดวงการก่อสร้าง ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจและภาพรวม เพิ่มทักษะงานก่อสร้าง ภายใต้ Ecosystem เดียวกัน ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น” นายชูโชค กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น