xs
xsm
sm
md
lg

BGRIM รุกตลาด IPS เน้นห้างสรรพสินค้า-มิกซ์ยูส

เผยแพร่:



บี.กริม เพาเวอร์เล็งเจาะตลาด IPS กลุ่มอาคาร ห้างสรรพสินค้า และโครงการมิกซ์ยูสที่มีความต้องการลดต้นทุนค่าพลังงานลง แย้มอยู่ระหว่างการเจรจา 5-6 โครงการชัดเจนปีนี้

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมรุกตลาดผลิตไฟฟ้าโดยเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองหรือจำหน่ายให้ลูกค้าตรงโดยไม่ขายเข้าระบบของการไฟฟ้า (Independent Power Supply : IPS) เน้นลูกค้ากลุ่มอาคาร หรือศูนย์การค้า ซึ่งจะเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ นอกเหนือจากตลาด IPS กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่ซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และกลุ่มลูกค้าโซลาร์รูฟท็อปที่บริษัทให้บริการติดตั้งและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทอยู่แล้ว

การรุกตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ของ IPS ดังกล่าวเนื่องจากมองเห็นโอกาสการเติบโตที่ดี มีการเปิดโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่หลายโครงการ ซึ่งโครงการเหล่านี้จะมีต้นทุนการใช้พลังงานที่ค่อนข้างสูงทำให้มีความต้องการที่จะลดการใช้พลังงาน ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ 5-6 โครงการ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ให้ความสนใจ เบื้องต้นคาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้

ปัจจุบันบริษัทมีใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) สำหรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งเบื้องต้นเป็นการนำเข้ามาเพื่อใช้สำหรับโรงไฟฟ้าของบริษัทในส่วนที่เกินจากสัญญารับซื้อก๊าซธรรมชาติกับ บมจ.ปตท. แต่ในอนาคตมองโอกาสที่จะนำเข้าเพื่อมาใช้ผลิตไฟฟ้าป้อนกลุ่ม IPS โครงการใหม่ๆ รวมถึงการขายให้ภาคอุตสาหกรรมด้วย ดังนั้น บริษัทจึงทำเรื่องขอนำเข้า LNG เพิ่มเติมจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นอกเหนือจากการนำเข้า LNG มาใช้ผลิตไฟฟ้าเอง นับเป็นการต่อยอดของธุรกิจ LNG ด้วย

รวมทั้งยังเป็นการ Synergy ธุรกิจในกลุ่ม บี.กริม ซึ่งมีธุรกิจและมีความเชี่ยวชาญครอบคลุมในงานภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งด้านอุปกรณ์พลังงาน, เครื่องปรับอากาศ, ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เป็นต้น โดยจะมีเสนอการให้บริการโซลูชันขึ้นอยู่ความต้องการของลูกค้า

นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส-การเงินและบัญชี ของ BGRIM กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนการดำเนินงานสำหรับตลาด IPS กลุ่มอาคารลดต่ำลงจากการพัฒนาเทคโนโลยี ที่สามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กราว 20-30 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อใช้เฉพาะพื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็นโรงงานเดียว หรือกลุ่มโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม หรือกลุ่มอาคารมิกซ์ยูส ทำให้มีต้นทุนการก่อสร้างต่ำ รวมถึงต้นทุนก๊าซฯ ที่ลดลงหากมีการนำเข้า LNG ได้เอง

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาโครงการระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น พื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการให้กองทัพเรือนั้นก็นับเป็นหนึ่งในรูปแบบของ IPS ใหม่ด้วย โดยเป็นการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน (Hybrid Power Plant) ระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Co-Generation Power Plant) โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (PV Solar Farm) ขนาดกำลังการผลิตรวม 95 เมกะวัตต์ พร้อมด้วยระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ (Energy Storage : ESS) ขนาด 50 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) สำหรับโครงการดังกล่าวตามแผนจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างสมบูรณ์ในปี 2567
กำลังโหลดความคิดเห็น