xs
xsm
sm
md
lg

ของต้องมีปี2021 “พาสปอร์ตวัคซีน”

เผยแพร่:


หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ประชาชน และบริษัทต่างๆ กำลังพัฒนาแอปพลิเคชันรับรองการฉีดวัคซีนด้วยความหวังว่า จะช่วยให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น
ขณะที่หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาให้ประชาชน คนมากมายเริ่มฝันถึงวันที่จะได้กลับไปเดินทาง ช้อปปิ้ง ดูหนังเหมือนเดิมอีกครั้ง แต่เพื่อให้ฝันเป็นจริงเร็วขึ้น อาจต้องมีบางสิ่งนอกเหนือจากวัคซีน และนั่นคือพาสปอร์ตวัคซีน

บริษัทและกลุ่มเทคโนโลยีมากมายเริ่มพัฒนาแอปบนสมาร์ทโฟนหรือระบบที่ผู้ใช้สามารถอัพโหลดรายละเอียดผลการตรวจโควิดและการฉีดวัคซีนป้องกัน การสร้างหนังสือรับรองดิจิตอลที่ใช้แสดงเพื่อเข้างานคอนเสิร์ต สนามกีฬา โรงหนัง ออฟฟิศ หรือแม้กระทั่งการเดินทางเข้าประเทศต่างๆ

เดอะ คอมมอน ทรัสต์ เน็ตเวิร์ก โครงการริเริ่มของเดอะ คอมมอนส์ โปรเจ็กต์ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในเจนีวา และเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัม (WEF) ร่วมกับสายการบินหลายแห่ง อาทิ คาเธ่ย์ แปซิฟิก, เจ็ตบลู, ลุฟท์ฮันซา, สวิส แอร์ไลนส์, ยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ และเวอร์จิน แอตแลนติก ตลอดจนถึงระบบดูแลสุขภาพนับร้อยแห่งในอเมริกาและรัฐบาลอารูบา

แอปคอมมอนพาสส์ที่กลุ่มนี้พัฒนาขึ้นมาจะช่วยให้ผู้ใช้อัพโหลดข้อมูลทางการแพทย์ เช่น ผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ใบรับรองการฉีดวัคซีนจากโรงพยาบาลหรือแพทย์ การสร้างใบรับรองสุขภาพในรูปแบบคิวอาร์โค้ดที่แสดงต่อเจ้าหน้าที่โดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลอ่อนไหวอื่นๆ สำหรับการเดินทาง แอปนี้จะแสดงหลักฐานการผ่านข้อกำหนดด้านสุขภาพก่อนออกเดินทางและเมื่อถึงจุดหมายปลายทาง

โธมัส แครมป์ตัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและการสื่อสารของเดอะ คอมมอนส์ โปรเจ็กต์ เปิดเผยกับซีเอ็นเอ็น บิสเนส ว่า เราตรวจโควิดได้ทุกครั้งที่จะเดินทางไปต่างประเทศ แต่คงไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ทุกครั้ง ดังนั้น ชุดใบรับรองที่ถ่ายโอนได้อย่างง่ายดายหรือ “บัตรเหลืองดิจิตอล” ที่ใช้แทนเอกสารกระดาษรับรองการฉีดวัคซีนจึงมีความจำเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) กำลังให้การสนับสนุนพาสปอร์ตวัคซีนที่ชื่อว่า ไออาตา ทราเวล พาสส์ หรือแพลตฟอร์มดิจิตอลที่จะแจ้งผู้โดยสารเกี่ยวกับข้อกำหนดในการตรวจโรคและการฉีดวัคซีน และมาตรการอื่นๆ ที่จำเป็นก่อนการเดินทาง โดยผู้ใช้สามารถแชร์ผลการตรวจและการฉีดวัคซีนที่ตรวจยืนยันได้ด้วยวิธีที่ปลอดภัยและปกป้องความเป็นส่วนตัว อย่างไรก็ดี ระบบนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา

ยักษ์ใหญ่ไฮเทคตื่นตัวเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ไอบีเอ็ม ที่พัฒนาแอปดิจิตอล เฮลธ์ พาสส์ ที่ช่วยให้บริษัทและสถานที่ต่างๆ ปรับตัวบ่งชี้เองเพื่อกำหนดเงื่อนไขในการผ่านเข้าสถานที่ เช่น การตรวจหาโควิด การวัดอุณหภูมิ บันทึกการฉีดวัคซีน และจัดเก็บใบรับรองเกี่ยวกับข้อบ่งชี้เหล่านี้ในโมบายวอลเล็ต

เพื่อจัดการความท้าทายเกี่ยวกับการพยายามกลับคืนสู่สภาวะปกติหลังมีการฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวาง บรรดาผู้พัฒนาแอปต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่ปัญหาความเป็นส่วนตัวไปจนถึงการแสดงประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละตัว แต่ที่ท้าทายที่สุดอาจเป็นการหลีกเลี่ยงการปรับใช้ที่ไม่ต่อเนื่องและความสำเร็จครึ่งๆ กลางๆ ของบริษัทไฮเทคในการรับมือวิกฤตสาธารณสุขก่อนหน้านี้ ซึ่งหมายถึงแอปติดตามผู้สัมผัสโรค

ช่วงแรกๆ ที่โควิดระบาด แอปเปิลและกูเกิลได้วางความเป็นคู่แข่งในตลาดสมาร์ทโฟนชั่วคราว และร่วมกันพัฒนาระบบที่ทำงานบนบลูทูธเพื่อแจ้งเตือนเมื่อผู้ใช้เข้าใกล้หรือสัมผัสผู้ติดเชื้อ หลายประเทศทั่วโลกพัฒนาและใช้แอปลักษณะนี้เช่นเดียวกัน

เจนนี แวนเกอร์ แกนนำโครงการริเริ่มเพื่อแจ้งเตือนการสัมผัสโรคของลีนุกซ์ ฟาวน์เดชัน เฮลธ์ พับลิก องค์กรที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้หน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกสู้กับโควิด มองว่า ปัญหาของแอปเหล่านั้นอยู่ที่ตัวเลือกในการปรับใช้ที่มีอยู่มากมาย และสำหรับอเมริกาคือการที่รัฐบาลกลางไม่เข้าไปดูแลเป็นเจ้าภาพ ปล่อยให้แต่ละรัฐจัดการกันเอง

เพื่อกำจัดจุดอ่อนดังกล่าว ลีนุกซ์ ฟาวน์เดชันจึงจับมือกับโควิด-19 ครีเดนเชียลส์ อินิเชียทีฟ ที่มีสมาชิกกว่า 300 คนจากหลายสิบองค์กรใน 5 ทวีป และกำลังร่วมกับ ไอบีเอ็ม และคอมมอนพาสส์พัฒนาชุดมาตรฐานสากลสำหรับแอปรับรองการฉีดวัคซีน

ไบรอัน เบห์เลนดอร์ฟ กรรมการบริหารลีนุกซ์ ฟาวน์เดชัน บอกว่า ถ้าโปรเจ็กต์นี้ประสบความสำเร็จจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเดินทางเข้าประเทศต่างๆ เข้าชมคอนเสิร์ตที่จัดภายในฮอลล์และจำกัดผู้เข้าร่วมเฉพาะผู้ที่แสดงพาสปอร์ตวัคซีนโดยโชว์ใบรับรองบนมือถือให้ดูเท่านั้น และเสริมว่า แอปพาสปอร์ตวัคซีนของแต่ละค่ายควรทำงานร่วมกันได้แบบเดียวกับอีเมลและเว็บ

ส่วนหนึ่งในการทำให้แน่ใจว่า จะมีการใช้พาสปอร์ตวัคซีนในวงกว้างคือการเข้าถึงประชากรโลก ซึ่งรวมถึงผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนหรืออินเทอร์เน็ตที่เสถียร โดยบริษัทบางแห่งในโควิด-19 ครีเดนเชียลส์ อินิเชียทีฟ กำลังพัฒนาสมาร์ทการ์ดที่อยู่กึ่งกลางระหว่างใบรับรองการฉีดวัคซีนที่เป็นกระดาษกับเวอร์ชันออนไลน์ที่จัดเก็บและใช้ง่ายขึ้น รวมถึงปกป้องข้อมูลส่วนตัวทางการแพทย์ด้วย

คอมมอนพาสส์, ไอบีเอ็ม และลีนุกซ์ ฟาวน์เดชัน ย้ำว่า ความเป็นส่วนตัวคือหัวใจสำคัญของโครงการริเริ่มนี้

ไอบีเอ็มสำทับว่า ความไว้วางใจและความโปร่งใสเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในการพัฒนาแพลตฟอร์มอย่างเช่นพาสปอร์ตสุขภาพดิจิตอลหรือโซลูชันที่จัดการข้อมูลส่วนตัวที่มีความอ่อนไหว ดังนั้น บริษัทจึงดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้ควบคุมและให้ความยินยอมในการใช้ข้อมูลสุขภาพของตน นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถเลือกระดับรายละเอียดที่ต้องการเปิดเผยต่อเจ้าหน้าที่ได้ด้วย

ขณะเดียวกัน การที่บริษัทมากมายจากทั่วโลกต่างแข่งขันพัฒนาวัคซีนโดยมีความคืบหน้าแตกต่างกันไป ทำให้ผู้พัฒนาแอปพาสปอร์ตวัคซีนมีตัวแปรที่ต้องพิจารณาจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่นประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโคโรนาของวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคที่สูงถึงราว 95% ขณะที่วัคซีนของชิโนฟาร์มของจีนมีประสิทธิภาพประมาณ 79%

ดร.จูลี พาร์ซันเน็ต ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของอเมริกา ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพในการหยุดยั้งการระบาดได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้น แม้พาสปอร์ตรับรองว่า ผู้ใช้ฉีดวัคซีนแล้วแต่ไม่ได้รับประกันว่า ปลอดภัย 100% และไม่สามารถแพร่กระจายไวรัสได้ ซึ่งเท่ากับรับประกันไม่ได้ว่า พาสปอร์ตวัคซีนมีประสิทธิภาพจริง

อย่างไรก็ตาม เบห์เลนดอร์ฟเชื่อว่า การเปิดตัวและการยอมรับพาสปอร์ตวัคซีนจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากทุกอย่างลงตัว และจะมีแอปออกมามากมายที่สามารถทำงานร่วมกันได้เพื่อให้พร้อมใช้งานอย่างกว้างขวางภายในกลางปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น