xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจงัดแผนขั้นบันได โควิด-19 ตามอาละวาดปีฉลู แผนสองท่าทาง “เอาไม่อยู่”

เผยแพร่:



การตลาด - เปิดมุมมองบิ๊กบอสวงการธุรกิจ ฉายภาพทำอย่างไรฝ่าวิกฤตโควิดระลอกใหม่ปี 2564 ย้ำแผนสำรองบีไม่พอ ต้องงัดแผนสำรองขั้นบันไดรับมือตามสถานการณ์ ชี้ปัจจัยบวกน้อย ปัจจัยลบมาก

ในปี 2564 ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยรวมทั้งของทั่วโลกก็ยังคงต้องหวาดผวาและพะวงกับเรื่องสถานการณ์อันเลวร้ายของโควิด-19 ระบาดอีกอย่างแน่นอน ซึ่งมีแนวโน้มอย่างมากด้วยว่าจะมีความหนักหน่วงและรุนแรงมากกว่าปี 2563 ด้วยซ้ำไป

การทำธุรกิจในปี 2563 ที่ผ่านมามีความหนักหนาสาหัสอย่างไร คาดว่าในปี 2564 นี้จะยิ่งหนักกว่าหลายเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม ในแง่ธุรกิจก็ต้องเดินหน้าต่อไป แต่จะเป็นการเดินหน้าในลักษณะที่มีการปรับตัวและมองหน้ามองหลังอย่างถ้วนถี่ในการดำเนินกิจการ เพราะหากอยู่เฉยๆ ก็ยิ่งเท่ากับรอวันตาย รายได้หาย กำไรหด แต่หากเคลื่อนทัพในการรุกก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ด้วยแผนธุรกิจที่ต้องรอบคอบ 


ทั้งนี้ จะฉายภาพความเคลื่อนไหวเป็นตัวอย่างของผู้บริหารระดับสูงจากหลายธุรกิจอย่างคร่าวๆ ที่จะมีการเดินหน้าอย่างไรในปี 2564 นี้ในหลากหลายมุมมอง

*** ฟูดแพชชัน
นางสาวบุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการสร้างโอกาสทางการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหารฟูดแพชชัน (บาร์บีคิวพลาซ่า, จุ่มแซ่บฮัท และอื่นๆ) กล่าวให้ความเห็นว่า การทำธุรกิจจากนี้ไปควรมีแผนสำรองไว้หลายขั้นบันได หลายระดับเพื่อรับมือกับความรุนแรงของสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นระลอกใหม่อีกคร้ัง เพราะลำพังเพียงแค่แผนบีแผนสำรองคงเอาไม่อยู่แล้ว เพราะไม่มีใครรู้ว่าโควิดจะรุนแรงอีกนานแค่ไหน

“ตอนช่วงปลายปี 2562 เราทำแผนของปี 2563 แต่พอต้นปีก็เกิดระบาดของโควิด-19 ทำให้เราต้องปรับแผนกันใหม่ และเมื่อสถานการณ์เลวร้ายขึ้นเราต้องปรับแก้แบบดูเดือนต่อเดือนเลย ปี 64 นี้เราจึงต้องมีแผนหลายขั้นรองรับไว้”

ปี 2564 ปัจจัยลบก็คงเป็นโควิดเป็นตัวหลักที่ส่งผลกระทบต่อทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การระบาด มาตรการคุมเข้มที่กระทบต่อการทำธุรกิจ กำลังซื้อผู้บริโภคที่หดหาย หรือหากมีการล็อกดาวน์ก็จะเป็นตัวที่สร้างผลกระทบอย่างมากเพราะทำอะไรไม่ได้เลย อีกทั้งเงินสำรองทั้งของภาครัฐบาลหรือของผู้บริโภคก็ถูกนำมาใช้มากแล้วในปีที่ผ่านมา


อย่างไรก็ตาม ยังพอมองปัจจัยบวกได้บ้าง เช่น ข่าวการผลิตวัคซีนได้ซึ่งอาจจะนำมาใช้กับคนได้บ้าง ก็คงผ่อนคลายความตึงเครียดได้บ้างแต่ก็เป็นเรื่องของสุขอนามัย

การขยายธุรกิจคงมีไม่มากเพราะต้องดูทิศทางลมด้วย การขยายสาขาคงมีบ้างแต่น้อยเพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญในสถานการณ์เช่นนี้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ การควบคุมต้นทุนการดำเนินงานให้ดีที่สุด การทำระบบหลังบ้านให้มีความแข็งแรงและสมบูรณ์มากที่สุด โดยที่ไม่ลดคุณภาพซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

“สิ่งที่ต้องคำนึงคือ อย่ากังวลที่จะเปลี่ยนแปลง อย่ายึดติดกับความสำเร็จที่ผ่านมา เพราะตอนนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าไม่ปรับตัวหรือทำอะไรใหม่ๆ ก็ลำบาก” นางสาวบุณย์ญานุชกล่าว


*** เซ็นกรุ๊ป
นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านอาหารร้านเซ็น, อากะ, ออนเดอะเทเบิ้ล, ตำมั่ว, เขียง และอื่นๆ เปิดเผยว่า จุดต่ำสุดของธุรกิจน่าจะผ่านไปแล้วกับปี 2563 แต่ความน่ากลัวของโควิดก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ต่อการทำธุรกิจ ต่อคนทั้งโลกอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงเมื่อไร อย่างไร

ดังนั้น หากมองในเชิงธุรกิจก็ยังคงต้องระมัดระวังและต้องมีการวางแผนสำรองไว้หลายแผนตามสถานการณ์ ซึ่งแผนเรามีอยู่แล้วแต่คงต้องปรับไปตามสถานการณ์ด้วย ซึ่งโควิดมันก็เหมือนเป็นเรื่องของจิตวิทยาเหมือนกัน พอระบาดมากขึ้นคนก็กลัวไม่เดินห้างไม่เข้าร้านอาหาร เราก็ลำบาก เพราะเราทำร้านอาหาร และอยู่ในศูนย์การค้าเป็นหลัก เราจึงต้องมีแผนปรับตัวหันมาเน้นการทำดีลิเวอรีแทนมากขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วจากเดิมที่ไม่เคยทำเลย

“ช่วงนี้ที่ระบาดหนักรอบใหม่ ในส่วนที่มีการคุมเข้มหรือล็อกดาวน์บางพื้นที่ที่ใกล้และในสมุทรสาครจะกระทบยอดขาย 20% แต่ถ้ามีการล็อกดาวน์เป็นโซนมากขึ้นคงกระทบ 40% แต่ถ้าล็อกดาวน์หมดเหมือนคราวที่แล้วยอดขายหายไปเกือบ 100% แต่หลังจากที่เราปรับมาทำดีลิเวอรีและเปิดร้านนอกศูนย์การค้ามากขึ้น ก็ยังพอทำให้เรามีรายได้มาทดแทนได้” นายบุญยงกล่าว

สำหรับปัจจัยบวกปี 2564 คือ เรื่องการท่องเที่ยวหวังว่าคงจะมีเข้ามาได้บ้างจากต่างประเทศหากสถานการณ์ดีขึ้น, การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่คาดว่าต้องมีต่อเนื่องและหวังว่าไม่มีล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ส่วนปัจจัยลบคือ กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ทำให้การบริหารรายได้ของผู้ประกอบการยากมาก, การแข่งขันในธุรกิจจะรุนแรงมากขึ้น, การระบาดที่รุนแรงจะส่งผลต่อการล็อกดาวน์ ซึ่งถ้าล็อกดาวน์อีกก็กระทบอีก แต่คาดว่าคราวนี้ผู้ประกอบการคงจะปรับตัวกันได้แล้วแต่ก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีก

“สถานการณ์จากนี้ไปมีแต่ลำบากและยากมากขึ้น ต้องปรับตัวตลอดเวลา อย่าไปหวังว่ายอดขาย 100% จะกลับคืนมาในเร็วๆ นี้หรือปีนี้ ผมมองว่าอย่างน้อยคงอีก 3-4 ปี” นายบุญยงกล่าว


*** เถ้าแก่น้อย
นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2564 คงยังเป็นปีที่ต้องระมัดระวังในเรื่องของการลงทุนและการทำธุรกิจมากกว่าปี 2563 ที่ผ่านมา เนื่องจากวิกฤตจากโควิด-19 ยังมีความรุนแรงและยังไม่จบลงง่ายๆ ยังเป็นปัจจัยลบที่สำคัญประการหนึ่งของปีนี้

อย่างไรก็ตาม บริษัทเถ้าแก่น้อยก็ยังคงเดินหน้าขยายตัวขยายตลาด แต่ต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบและระมัดระวังมากขึ้น ด้วยการหันมาเน้นตลาดในประเทศมากขึ้น เนื่องจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจีน ยังไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศมาท่องเที่ยวและมาจับจ่ายในไทยได้ ซึ่งเดิมปลายปี 2563 สถานการณ์ก็ดูเหมือนจะดีขึ้นแล้ว แต่มาเกิดกรณีที่มหาชัยจึงทำให้สถานการณ์กลับไปน่าห่วงขึ้นอีก

ปี 2564 นี้เถ้าแก่น้อยคงมุ่งเน้นในสินค้าใหม่ที่เปิดตัวปลายปีที่แล้ว คือ ชานมไต้หวันจัสท์ดริ้งค์ ที่ต้องปลุกปั้นให้ติดตลาดให้ได้ ถือเป็นความท้าทายอย่างมากในสถานการณ์เช่นนี้ที่จะผลักดันสินค้าใหม่ๆ แบรนด์ใหม่ๆ เข้าตลาด ขณะที่สินค้าสาหร่ายก็จะต้องทำโปรโมชันและแคมเปญใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นตลาดเช่นกัน เพราะเราเป็นผู้นำตลาดหากไม่ทำอะไรตลาดรวมก็จะยิ่งนิ่งหรือไม่ก็ตกลงมากกว่านี้


*** ซิซซ์เล่อร์
นายกรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด ในเครือเดอะไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการร้านซิซซ์เล่อร์ กล่าวว่าการทำธุรกิจในปี 2564 คาดว่าคงต้องมีการปรับตัวรองรับสถานการณ์โควิดอีกแน่นอน เพราะโควิดยังคงอยู่กับเราอีกนานและเราก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ 

ยิ่งขณะนี้มีการระบาดระลอกใหม่ขึ้นมาอีกแล้ว ดังนั้นต้องมีแผนสำรองเตรียมไว้มากๆ หลายระดับขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเพียงแค่มีแผนสองสำรองไว้เท่านั้นคงไม่พอแล้ว ซึ่งในส่วนของบริษัทฯ เองก็มีแผนหลายระดับรองรับไว้แล้ว

ดังนั้น หากมีการระบาดหนักอีกครั้งในปี 2564 ถึงขั้นที่จะต้องมีการล็อกดาวน์หรือการออกมาตรการคุมเข้มอะไรออกมาจากภาครัฐบาลอีกก็คาดว่าผู้ประกอบการคงจะไม่ตกใจและปรับตัวได้ทันเพราะมีประสบการณ์กันมาแล้ว ไม่เกิดอาการช็อกเหมือนปีที่แล้วที่เกิดครั้งแรก การนำมาตรการมาใช้ก็เพียงแค่ปรับใหม่ให้มันสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ระบาด


*** แฟลชเอ็กซ์เพรส
นายคมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ผู้ให้บริการขนส่งด่วนเอ็กซ์เพรส มองว่า ในปี 2564 ตลาดขนส่งพัสดุยังมีความท้าทายอีกมาก โดยเฉพาะความท้าทายด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่ค่อยดีมากตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิดเข้ามา ดังนั้น ในปี 2564 หากเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นไปกว่าปัจจุบันผลกระทบที่ตามมาคือการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนจะมีการใช้จ่ายที่น้อยกว่าในตอนนี้อย่างแน่นอน 

ความท้าทายอีกหนึ่งปัจจัยคือ ผู้ให้บริการมีการปรับตัวมากขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด และการแข่งขันที่ผ่านมา เช่นเดียวกับแฟลช เอ็กซ์เพรส ในปี 2564 จะมีการปรับปรุง และพัฒนาการให้บริการใหม่ๆ ให้แก่ผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ในปี 2564 บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะขยายไปตลาดต่างประเทศอีก 4 ประเทศ

ทั้งนี้ ในส่วนการให้บริการในจังหวัดที่เป็นพื้นที่ล็อกดาวน์ ขณะนี้บริษัทฯ ยังคงให้บริการรับส่งพัสดุทุกพื้นที่ในทุกจังหวัดตามปกติ ซึ่งได้มีการเน้นย้ำกับพนักงานของแต่ละจังหวัดในเรื่องกฎเกณฑ์การปฏิบัติตัวด้านเวลา และจะต้องเคร่งครัดตามที่ภาครัฐกำหนด โดยจะไม่กระทบต่อการให้บริการขนส่งพัสดุอย่างแน่นอน ซึ่งในส่วนของลูกค้าผู้ใช้บริการยังคงสามารถเรียกให้แฟลช เอ็กซ์เพรส เข้ารับพัสดุฟรีถึงที่โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด


*** เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์
นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) มองว่า การทำธุรกิจปี 2564 ก็คงต้องเหนื่อยและหนักไม่แพ้ปี 2563 ที่ผ่านมา แต่หวังว่าคงจะไม่มีอะไรที่หนักมากกว่านี้อีกแล้วเพราะที่ผ่านมาก็เรียกได้ว่าจะสุดๆ แล้ว ธุรกิจโรงหนังก็แย่เหมือนกันช่วงที่ถูกล็อกดาวน์ ต้องปรับตัวหารายได้อื่นมาเสริมแทน ซึ่งทำให้เรามีประสบการณ์มาบ้างแล้ว 

“แต่หวังว่าปี 2564 ถ้าไม่มีอะไรรุนแรงตลาดโรงหนังน่าจะดีขึ้นเพราะมีหนังใหญ่จ่อคิวเข้าฉายจำนวนมากท้้งที่เลื่อนมาจากปีที่แล้วและหนังปีนี้ ซึ่งเมเจอร์เองก็มีมาตรการคุมเข้มป้องกันโควิดอย่างเต็มที่

ส่วนการลงทุนในปี 2564 จะไม่มากเหมือนปกติเพราะต้องดูสภาพการณ์ด้วย อาจจะขยายไม่ต่ำกว่า 20-25โ รง หรือใช้งบรวมกว่า 200 ล้านบาท รวมแล้วปีหน้า (2564) ใช้งบลงทุนร่วม 1,200 ล้านบาท หลักๆ ลงทุนในส่วนของการร่วมทุนทำหนัง มั่นใจว่าจะช่วยให้เมเจอร์ฯ กลับมามีรายได้เทียบเคียงปี 2562 ได้ หรือมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทอีกครั้ง

เมเจอร์เองก็มีแผนในการรับมือโควิด เช่น การร่วมพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ด้วยการนำเทคโนโลยีไร้สัมผัส (Contactless Technology) มาใช้กับการซื้อตั๋วหนังผ่านตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ E-Ticket ซึ่งในปี 2564 จะเพิ่มสัดส่วนการซื้อตั๋วภาพยนตร์ผ่านโมบายล์แอปฯ เป็น 20% จากเดิมมี 10% โดยจะปรับปรุงแอปพลิเคชัน Major App ใหม่ เป็นต้น นอกนั้นจะรุกตลาดค้าปลีก โดยขายป็อปคอร์นผ่านดีลิเวอรี และเพิ่มสินค้าใหม่เพื่อรับประทานที่บ้านมากขึ้น เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น