xs
xsm
sm
md
lg

5 เรื่องเด่นโทรคมไทยปี 2563

เผยแพร่:



เพราะโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งสำคัญที่เข้ามาช่วยให้การดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจอยู่รอดปลอดภัย ดังนั้น ปี 2563 จึงเป็นปีที่ร้อนแรงของวงการโทรคมนาคมอย่างมาก เพราะมีหลายสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเกิดก็เปล่งประกายขึ้นมาในชั่วพริบตา

*** ประมูล 5G ส่งเงินเข้ารัฐกว่าแสนล้านบาท


ต้นปี 2563 ไม่มีใครคาดคิดว่าโควิด-19 จะระบาดและส่งผลกระทบต่อผู้คนและเศรษฐกิจทั่วโลกรุนแรงขนาดนี้ ทันทีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตัดสินใจเดินหน้านำคลื่นความถี่ที่เหมาะสมในการให้บริการ 5G ออกมาประมูลเป็นชาติแรกในอาเซียน หลายฝ่ายก็ยังกังวลว่าจะเป็นการเดินหน้าลงเหวเพราะเทคโนโลยี 5G อาจเป็นเรื่องที่เร็วเกินไปหรือไม่ ทว่า หลังการประมูลคลื่นในวันที่ 16 ก.พ.2563 เสร็จสิ้นพร้อมได้เงินส่งเข้ารัฐกว่าแสนล้านบาท คล้อยหลังไม่นาน การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยและการล็อกดาวน์ประเทศ รวมถึงการเวิร์กฟอร์มโฮมก็เกิดขึ้น เรียกได้ว่าหาก กสทช.ตัดสินใจประมูลช้ากว่านั้นสักนิด โอกาสที่รัฐจะได้รับรายได้กว่าแสนล้านบาทคงเป็นแค่ฝันหวานยามค่ำคืนเท่านั้น

เรื่องนี้ต้องยกความดีให้แก่ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” อดีตเลขาธิการคณะกรรมการ กสทช.ที่ทั้งผลักทั้งดันจนหลายฝ่ายพร้อมใจกันเข้าประมูล ได้เงินกว่าแสนล้านบาท ในการส่งเข้ารัฐ หากการตัดสินครั้งนั้นไม่เกิดขึ้น หรือ ล่าช้ากว่านี้ รับรองได้ว่าการรับมือกับโควิด-19 ของประเทศไทยอาจจะสะดุดมากกว่านี้

เพราะเงินที่ได้จากการประมูลถูกนำส่งให้รัฐ และนโยบายต่างๆ ของรัฐที่มอบให้ประชาชนในการเยียวยาประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19 ล้วนต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่เอื้อประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นโครงการเยียวยาผู้ตกงานจากพิษโควิด-19 หรือโครงการคนละครึ่ง ที่ได้รับความนิยมในขณะนี้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ความต้องการใช้แบนด์วิดท์ (ช่วงกว้างความถี่) อินเทอร์เน็ตจากความจำเป็นของการทำงานที่บ้าน หรือเวิร์กฟอร์มโฮม ทำให้เป็นข้อดีของผู้ให้บริการที่มีคลื่นความถี่เพียงพอต่อการให้บริการ รวมถึงยูสเคส 5G ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การแพทย์สาธารณสุข การเกษตร ตลอดจนการค้าขายออนไลน์ ยิ่งเด่นชัดมากขึ้นด้วยเทคโนโลยี 5G ช่วยทำให้ชีวิตผู้คนสะดวกสบายและปลอดภัยเป็นการตอบโจทย์ผู้คนได้เป็นอย่างดีว่าการมี 5G ก่อนใคร ทำให้เกิดความได้เปรียบอย่างแท้จริง และยูสเคสที่คิดว่าไกลเกินฝันนั้น ก็เกิดขึ้นให้ใช้งานได้จริงในยามวิกฤต

***เวิร์กฟอร์มโฮมดันคลาวด์ภาครัฐเติบโต

ไม่เพียงแค่ภาคประชาชน หรือภาคเอกชนเท่านั้นที่ตื่นตัวเรื่องเวิร์กฟอร์มโฮม แม้แต่ภาครัฐก็ต้องปรับตัวให้ข้าราชการเวิร์กฟอร์มโฮมเช่นกัน เมื่อต้องพร้อมทำงานที่ไหนก็ได้ คลาวด์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ภาครัฐต้องรีบดำเนินการ จากเดิมที่รัฐบาลพยายามกระตุ้นให้แต่ละหน่วยงานลดการลงทุนซ้ำซ้อนในการซื้อระบบไอทีเป็นของตัวเองโดยการหันมาใช้คลาวด์ภาครัฐของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) แทน ทว่าความต้องการใช้งานกลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า

แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่แพร่กระจายรุนแรงทำให้ตอนนี้ทุกหน่วยงานต่างต่อคิวกันใช้บริการของ กสท โทรคมนาคม กันอย่างหนาแน่นจากเดิมที่ตั้งงบประมาณไว้รองรับความต้องการ 8,000 วีเอ็ม (Virtual Machines หรือ VM ระบบคอมพิวเตอร์เสมือน) แต่ความต้องการภาครัฐกระโดดไปถึงกว่า 20,000 วีเอ็ม ขณะที่ภาพรวมของคลาวด์ในประเทศไทยก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน

***ธุรกิจดาวเทียมเปล่งประกาย


เมื่อความต้องการใช้งานเทคโนโลยีและการมาของ 5G ก่อให้เกิดปริมาณข้อมูลมหาศาลรวมถึงความสามารถในการรับส่งข้อมูลต้องรวดเร็วกับบางยูสเคสที่จำเป็น เช่น การผ่าตัดทางไกล รถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น จึงทำให้อีกเทคโนโลยีดาวรุ่งอย่างดาวเทียมวงโคจรต่ำกลายเป็นเทคโนโลยีที่ใครๆ ต่างให้ความสำคัญ

สำนักงาน กสทช.เองก็มีการเปิดเสรีให้สามารถประกอบกิจการดาวเทียมวงโคจรต่ำและดาวเทียมวงโคจรประจำที่แล้ว เพียงแต่ว่ายังมีเพียงภาครัฐและภาคการศึกษาเท่านั้นที่สนใจขอใบอนุญาตในการนำดาวเทียมวงโคจรต่ำมาใช้งานด้านการศึกษาและวิจัย แต่ในเชิงพาณิชย์ยังไม่มีใครเข้ามาขอใบอนุญาตซึ่งเชื่อว่าน่าจะรอการประมูลของดาวเทียมวงโคจรประจำที่ที่ว่างอยู่จาก กสทช.มาทำธุรกิจมากกว่าเพราะช่วยย่นระยะเวลาในการประสานงานกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) และพร้อมใช้งานได้ทันที

แต่กระนั้นก็ตาม ใครจะคิดว่าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอย่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จะสนใจศึกษาธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำอย่างจริงจัง โดยร่วมมือกับบริษัท มิวสเปซ แอนด์ แอดวานซ์เทคโนโลยี จำกัดเพื่อทดลองนำเซิร์ฟเวอร์ที่พัฒนาโดยสตาร์ทอัปของทีโอทีขึ้นไปบนห้วงอวกาศโดยหวังว่าในอนาคตหากนำระบบคลาวด์ขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้าจะช่วยให้การรับส่งข้อมูลกับดาวเทียมวงโคจรต่ำเร็วขึ้น

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นการมองภาพเทรนด์ในอนาคตซึ่งหากไม่รีบศึกษาความเป็นไปได้ ทีโอทีเกรงว่าในอนาคตหากเทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรต่ำจะมาทดแทนไฟเบอร์ออปติก หรือเทคโนโลยีเคเบิลใยแก้วนำแสง ทีโอทีจะได้มีความพร้อมในการรับมือและไม่เป็นอย่างธุรกิจทุกวันนี้ที่รอวันหมดสัญญาสัมปทานกับเอกชนแล้วค่อยมาหาทางรอด

***เดินหน้าควบรวมทีโอที-กสท โทรคมนาคม



ความพยายามในการแก้ปัญหาการดำเนินกิจการของ 2 รัฐวิสาหกิจ คือ กสท โทรคมนาคม และทีโอที หลังผ่านการวิเคราะห์มาหลายรูปแบบทั้งการลดต้นทุน เพิ่มรายได้ หาพันธมิตร แตกบริษัทลูก เพื่อหาทางรอดเพราะหากล่วงเลยไปถึงจนปี 2568 รายได้หลักจากสัญญาต่างๆ ที่ทั้ง 2 บริษัทมีกับเอกชนจะสิ้นสุดลง อาจส่งผลเหมือนกับอดีตรัฐวิสาหกิจชั้นนำอย่างการบินไทยที่เจอหนี้สินล้นพ้นตัวต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ ทางออกสุดท้ายคือ การควบรวมกิจการที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ กำลังกลายเป็นจริงสู่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที ที่มีสินทรัพย์หลักเป็นโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมหลักแสนล้านบาท

เหตุเพราะโควิด-19 ทำให้หลายองค์กรที่ไม่เคยปรับตัว หรือปรับตัวไม่ทัน ต้องเลิกกิจการก่อนเวลา มีการเลิกจ้างงาน อย่างการบินไทย ตัวอย่างที่ชัดเจนและรุนแรงขนาดนี้ จึงทำให้ความพยายามในการแจ้งเกิดเอ็นที จึงไม่ค่อยมีแรงต้านจากพนักงานอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต

เมื่อกลายเป็นเอ็นทีแล้ว เอ็นทีจะกลายเป็นบริษัทที่มีทรัพย์สินกว่า 3 แสนล้านบาทประกอบด้วย 1.เสาโทรคมนาคมรวมกันกว่า 25,000 ต้นทั่วประเทศ 2.เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ (ซับมารีน เคเบิล) 9 ระบบ 14 POP เชื่อมต่อไปยังทุกทวีป 3.ถือครองคลื่นความถี่หลักเพื่อให้บริการรวม 6 ย่านมีปริมาณ 600 MHz 4.ท่อร้อยสายใต้ดินมีระยะทางรวม 4,000 กิโลเมตร 5.สายเคเบิลใยแก้วนำแสง 4 ล้านคอร์กิโลเมตร 6.ดาต้า เซ็นเตอร์ 13 แห่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และ 7.ระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เข้าถึงได้จากทุกเลขหมายในโลก

***สรรหาบอร์ด กสทช.ชุดใหม่

สิ่งที่น่าผิดหวังคือฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนหลายๆ สิ่งที่สำคัญของประเทศ เช่น การประมูลคลื่นทั้งโทรศัพท์มือถือและดาวเทียม การผลักดันยูสเคส 5G รวมถึงการกำกับดูแลการใช้งานของผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.ต้องเกิดการสะดุด เพราะแม้ว่าจะมีการสรรหาคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาขับเคลื่อนแทน กสทช.ชุดเก่าที่มีเหมือนไม่มี แต่ดูเหมือนกระบวนการสรรหาจะล่าช้าทำให้หลายเรื่องที่ต้องใช้อำนาจในการตัดสินใจจากบอร์ด กสทช.ต้องชะงักลง เมื่อไม่สามารถรอการแก้ไขที่ล่าช้าของพ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ได้ จึงต้องมีการสรรหาตาม พ.ร.บ.เดิมก่อนเพื่อทำหน้าที่รักษาการไปก่อนจนกว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะแก้เสร็จสมบูรณ์

ทั้งนี้ ตามกระบวนการแล้วคาดว่าภายในกลางเดือน ม.ค.2564 จะมีการคัดคุณสมบัติและเรียกผู้สมัครจำนวน 80 คน เข้ามาแสดงวิสัยทัศน์เพื่อให้ได้ กสทช.ชุดใหม่ตาม พ.ร.บ.กสทช.เดิมก่อนสิ้นเดือน ก.พ.2564 ส่วน พ.ร.บ.ฉบับใหม่คาดว่าจะยังไม่เสร็จภายในปี 2564 ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า กสทช.ชุดที่กำลังสรรหาจะกลายเป็นชุดรักษาการไปเป็นปีและมีโอกาสจะนั่งยาวเมื่อ พ.ร.บ.ฉบับใหม่แก้เสร็จ

นี่เป็นเพียงปรากฏการณ์เด่นๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2563 ปีที่เกิดโควิด-19 ระลอกแรก แต่ในปี 2564 กับโควิด-19 ระลอกใหม่อาจได้เห็นสิ่งร้อนแรงยิ่งขึ้นแบบที่คาดไม่ถึงอีกก็เป็นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น