xs
xsm
sm
md
lg

หุ้น IPO ปี 63 ฝ่ามรสุมโควิด-19 น้องใหม่กระดาน mai เหนือจอง!

เผยแพร่:



หุ้นน้องใหม่ที่พาเหรดเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ทั้งสิ้น 25 บริษัท ใน SET และ mai ปีแห่งการฝ่าวิกฤตโควิด-19 พบหุ้นที่เทรดในกระดาน SET ล้วนต่ำจอง ขณะเทรดใน mai นั้นเหนือจอง “ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป-ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี” ราคาวิ่งชนเพดานซิลลิ่ง 200% อย่างน่าทึ่ง เพราะทั้ง 2 บริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับไอทีอย่างบริการระบบ CRM/ERP และธุรกิจออกแบบ วิจัยและพัฒนาวงจรรวม ทำให้ได้รับความสนใจในยุค New Normal 

รูดม่านปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับหุ้น IPO ในปี 2563 ซึ่งถือได้ว่าเป็นปีที่ทุกบริษัทจดทะเบียนต่างได้รับผลกระทบเหมือนๆ กันจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นับจากรัฐบาลออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อหวังควบคุมการระบาดของโควิด-19 ให้อยู่ในวงจำกัด จนเหตุการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดน้อยลง ส่งผลให้รัฐบาลเริ่มประกาศคลายล็อกดาวน์ พร้อมทั้งออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และประชาชน ตลอดจนถึงการอนุมัติโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคมเพิ่มมากขึ้น

บริษัทมหาชนหลายแห่งที่ต้องการระดมทุนด้วยการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนหลายแห่งเลื่อนและชะลอการนำหุ้นไอพีโอออกมาขาย แต่กระนั้นก็ยังมีหลายบริษัทที่เดินหน้าระดมทุนโดยไม่หวาดหวั่น ซึ่งบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใหม่ที่เข้าระดมทุนขายหุ้น IPO ในปีนี้ แบ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET จำนวน 13 บริษัท และบริษัทจดทะเบียนที่เข้าระดมทุนในตลาดหุ้น mai จำนวน 12 บริษัท โดยจากการสำรวจของ “หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 ํ ”พบว่า ในจำนวน 25 บริษัทจดทะเบียนทั้ง SET และ mai ที่เข้าระดมทุนใหม่นั้น มีบริษัทที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งจากด้านผลประกอบการของบริษัทที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และปัจจัยพื้นฐานดี โดยเข้ามาระดมทุนในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งพิจารณาจากราคาซื้อขายที่ปิดวันแรกปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยบาง บจ.นั้นมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 200% โดยทั้ง 3 บจ. IPO ที่ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นนั้น ทั้งหมดมาจากบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น mai

หุ้นโดดเด่นอันดับ 1 บริษัท ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป หรือ IIG ได้นำหุ้น IPO เข้าซื้อขายในตลาดหุ้น mai เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 เป็นวันแรกในกลุ่มเทคโนโลยี 25 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท กำหนดราคาที่ 6.60 บาท/หุ้น ซึ่งเมื่อเปิดตลาดราคาหุ้นของ IIG ปรับตัวขึ้นไปที่ 19.80 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้น 13.20 บาท หรือกว่า 200% และปิดตลาดในการซื้อขายหุ้นวันแรกที่ราคา 19.80 บาท/หุ้น หากพิจารณาจากราคาหุ้นของ IIG ที่ปรับตัวขึ้น แม้ว่าจะเป็นหุ้น IPO ตัวที่ 2 ถัดมาจากบริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี หรือ SICT ที่ระดับราคาพุ่งขึ้นสูงจนชนเพดานกว่า 200% แต่จากข้อมูลสถิติล่าสุด ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2563 ราคาหุ้นของ IIG ปิดที่ 21.60 บาท/หุ้น หรือปรับเพิ่มขึ้นกว่า +227.27% นับตั้งแต่วันที่เข้าเทรด เหตุผลหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้หุ้นของ IIG ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นมาจากจุดเด่นของบริษัทคือธุรกิจบริการระบบ CRM/ERP อยู่ในแนวโน้มขาขึ้น และบริษัทเอกชนชั้นนำต่างต้องการลงทุนโดยเฉพาะ CRM เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งประจวบเหมาะกับที่กระแส Work from Anywhere และ Work from Home ของหน่วยงานองค์กรต่างๆ ที่ต้องปรับตัวตามแนวทาง New Normal เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้กระตุ้นให้อุตสาหกรรมต่างๆ มีความต้องการใช้ระบบงาน Online System มากขึ้นทำให้เกิดความต้องการใช้งานและการลงทุนในระบบ ERP บน Cloud Computing

สำหรับ IIG ดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีให้แก่ภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งธุรกิจที่ปรึกษาและให้บริการออกแบบติดตั้งระบบบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) และให้เช่าใช้ระบบซอฟต์แวร์จากทาง Salesforce 2.ธุรกิจที่ปรึกษาและให้บริการออกแบบติดตั้งระบบวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) และเป็นตัวแทนจำหน่ายระบบซอฟต์แวร์ของ Oracle 3.ธุรกิจที่ปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์-การตลาดดิจิทัล และธุรกิจให้บริการจัดหาบุคลากร ในส่วนงานสารสนเทศ

วิศรุต อังศุภากร ผู้อำนวยการสายงานวาณิชธนกิจ บล.โนมูระ พัฒนสิน ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน IIG ให้มุมมองว่า ราคาหุ้นที่เปิดมาชนเพดานกว่า 200% นั้นเนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการที่ปัจจัยพื้นฐานในประเทศได้เปลี่ยนแปลงเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น รวมทั้งการที่ IIG มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี มีฐานะทางการเงินดี มีหนี้สินต่อทุน หรือ D/E Ratio ในระดับที่ต่ำเพียง 0.4 เท่า ขณะที่ผลการดำเนินงานยังคงโตต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาหุ้นถีบตัวสูงขึ้น โดยไตรมาส 1/63 IIGมีกำไรขั้นต้น 31.84 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 10.27 ล้านบาท

หุ้นโดดเด่นอันดับ 2 บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี หรือ SICT เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai วันที่ 30 ก.ค.2563 เป็นวันแรกในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดย SICT กำหนดราคาเสนอขายประชาชนทั่วไปครั้งแรก หรือ IPO ไว้ที่หุ้นละ 1.38 บาท ซึ่งตั้งเป้าระดมทุน 100 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25% ของหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้ว โดยเมื่อเปิดการซื้อขาย ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปที่ 4.14 บาท เพิ่มขึ้น 2.76 บาท หรือ 200% และนับว่าเป็นหุ้นไอพีโอตัวแรกในรอบ 3 ปีครึ่ง ที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นชนเพดานถัดมาจากบริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) หรือ AU ที่เข้าเทรดวันที่ 23 ธ.ค.2559

SICT ประกอบธุรกิจออกแบบ วิจัยและพัฒนาวงจรรวม หรือไมโครชิป ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์ระบบระบุข้อมูลของวัตถุที่ขึ้นทะเบียนด้วยคลื่นความถี่วิทยุ ที่ถูกใช้ในอุปกรณ์เก็บข้อมูลหรือวัตถุขึ้นทะเบียนต่างๆ ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ และว่าจ้างผลิตเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า “SIC” ในหลายประเทศทั่วโลก โดยผลการดำเนินงาน 3 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2560-2562 มีรายได้รวม 310.71 ล้านบาท 377.04 ล้านบาท และ 308.80 ล้านบาท ตามลำดับ และอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยสูงกว่า 40% โดยไตรมาสแรกของปี 2563 มีรายได้ที่ 95.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 72.85 ล้านบาท ของงวดเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็น 30.7% และกำไรสุทธิ 15.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 552.7%

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนันสนุน SICT มาจาก 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจไมโครชิปสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 33-42% ธุรกิจไมโครชิปสำหรับระบบเข้าออกสถานที่ และระบบการอ่าน มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 27-32% ธุรกิจไมโครชิปสำหรับระบบกุญแจสำรองอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 25-38% และไมโครชิปอื่นๆ 1-2% ซึ่งแม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา และประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่บริษัทไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยยอดขายยังเติบโตต่อเนื่อง และคำสั่งซื้อก็ไม่ได้ลดลง และให้ความเชื่อมั่นว่าบริษัทไม่ได้มีปัญหาด้านการผลิต ประกอบกับสินค้าของ SICT ถือเป็นสินค้าที่หลายประเทศเริ่มนำไปใช้มากขึ้น โดยเฉพาะไมโครชิปสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ ซึ่งถือเป็นมาตรฐานที่ต้องมีรวมไปถึง Immobilizer จากการเว้นระยะห่างทางสังคมที่น่าจะส่งผลดีต่อการใช้ระบบคีย์การ์ดให้เติบโต

หุ้นโดดเด่นอันดับ 3 บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป หรือ IND เข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ mai วันที่ 22 ธ.ค.2563 ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง โดยเสนอขายหุ้น IPO 90 ล้านหุ้น หรือ 25.71% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด กำหนดราคาที่หุ้นละ 1.10 บาท ราคาพาร์ 0.50 บาท ซึ่งเมื่อเปิดการซื้อขายราคาหุ้น IND ปรับตัวขึ้นไปที่ 1.55 บาท เพิ่มขึ้น 0.45 บาท หรือ 42.72% ระหว่างวันปรับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ 3.10 บาทหุ้น และปรับตัวลดลงต่ำสุดที่ 1.55 บาท/หุ้น ก่อนจะปิดการซื้อขายวันแรกที่ 2.98 บาท/หุ้น หรือปรับตัวขึ้นกว่า 170.91% จากราคา IPO

ทั้งนี้ IND เป็นผู้ให้บริการด้านวิศวกรรมที่ปรึกษาในรูปแบบต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ งานออกแบบเบื้องต้น และออกแบบรายละเอียด งานบริหารงานโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง และงานออกแบบพร้อมก่อสร้างให้แก่ลูกค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งด้านคมนาคมขนส่ง การพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ที่ช่วยอำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพทางการขนส่งให้แก่กลุ่มลูกค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดย 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2560-2562 IND มีรายได้รวม 1,171.34 ล้านบาท 1,658.51 ล้านบาท และ 747.89 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนกำไรสุทธิ อยู่ที่ 43.21 ล้านบาท 65.06 ล้านบาท และ 13.11 ล้านบาท ตามลำดับ

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ให้มุมมองว่าจุดเด่นของ IND มีความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจเนื่องจากมีลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ IND ยังมีโอกาสที่จะได้รับงานใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นจากการลงทุนของภาครัฐที่จะเร่งขยายตัวขึ้น และการกลับมาฟื้นตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้างในภาคเอกชน นอกจากนี้ ในอนาคตแนวโน้มที่บริษัทฯ มีโอกาสจะประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ได้สำเร็จ ประมาณการว่ามีมูลค่ารวมกว่า 4.6 พันล้านบาท

แม้ว่าจะมีหุ้นใหม่ที่เข้าเทรดทำราคาปิดเทรดวันแรกไว้อย่างสวยงาม แต่ก็มีหลายบริษัทที่ราคาหุ้นไม่เป็นที่พอใจของนักลงทุนหรือคนจองไอพีโอเพราะราคาหุ้นต่ำกว่าราคาจอง

หุ้นต่ำจองอันดับแรกคือบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY เข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ mai วันที่ 11 พ.ย.2563 เป็นวันแรกในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจบริการ โดย SABUY เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) 157.02 ล้านหุ้น หรือ 15% ของทุนจดทะเบียน 1,050 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการระดมทุน 392,550,000 บาท ซึ่งได้กำหนดราคาหุ้นไว้ที่ 2.50 บาทต่อหุ้น เมื่อเปิดการซื้อขายราคาหุ้นกลับไม่มีการปรับตัวแต่อย่างใด ยังคงอยู่ที่ระดับ 2.50 บาทต่อหุ้น โดยระหว่างวันราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ 2.62 บาทต่อหุ้น และปรับตัวลดลงต่ำสุดที่ 1.82 บาท/หุ้น ก่อนที่จะปิดทำการซื้อขายด้วยราคา 1.87 บาท/หุ้น ลดลง 63 สตางค์ หรือลดลงกว่า -25.20% จากราคา IPO ที่เสนอขาย ปริมาณการซื้อขายเบาบางเพียง 426.57 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าซื้อขาย 947.85 ล้านบาท ไม่เพียงแค่นั้น จากข้อมูลสถิติล่าสุด ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2563 ราคาหุ้นของ SABUY ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปิดตลาดที่ 1.80 บาท/หุ้น และปรับตัวลงไปที่ -28.00%

SABUY เดิมเป็นบริษัทลูกของบริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA โดยกลุ่มนายวิชัย วชิรพงศ์ หรือเสี่ยยักษ์ นักลงทุนรายใหญ่ได้ซื้อมา และดำเนินธุรกิจเป็นผู้พัฒนาด้านเทคโนโลยีการเงินที่มี Ecosystem สำหรับธุรกิจค้าปลีกของตนเอง แบ่งการดำเนินธุรกิจหลักเป็น 4 ธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจตู้เติมเงินอัตโนมัติ ภายใต้เครื่องหมายการค้า "เติมสบายพลัส" 2.ธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ภายใต้แบรนด์ "เวนดิ้ง พลัส" และ "6.11 select" 3.ธุรกิจติดตั้งและวางระบบศูนย์อาหาร ปัจจุบันมีศูนย์อาหารที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท 213 แห่ง และ 4.ธุรกิจให้บริการการชำระเงิน ภายใต้ชื่อ "สบาย มันนี่"

สิ่งที่ทำให้นักลงทุนสงสัยและคลางแคลงใจทำให้หุ้นไม่ตอบรับดีเท่าที่ควรจะเป็น อาจเป็นเพราะเมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา “กลุ่มวชิรพงศ์” ได้ขายหุ้น 288.094 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 32.44% ของทุนจดทะเบียนให้ “กลุ่มรุจนพรพจี กลุ่มวีระประวัติ และนักลงทุนรายอื่นๆ” ซึ่งโดยปกติแล้ว ในช่วงใกล้เวลาที่บริษัทจดทะเบียนกำลังจะเข้าเทรด IPO นั้น บริษัททั่วไปมักจะไม่มีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่เสี่ยยักษ์กลับขายหุ้นให้นักลงทุนกลุ่มอื่น ทำให้ส่งผลเชิงจิตวิทยาต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าการกำหนดราคาหุ้นของ SABUY นั้นมีราคาที่เสนอขายแพงเกินไป ทำให้ไม่มีแรงดึงดูดจากนักลงทุนส่วนใหญ่ ทั้งที่เข้าเทรดในช่วงเวลาที่เอื้ออำนวยจากสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ การที่กลุ่มนายอานนท์ชัย วีระประวัติ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 สัดส่วน 28.45% ของทุนจดทะเบียน ได้ให้คำมั่นในเจตนารมณ์จะไม่เข้าร่วมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารงานบริษัท เพราะจะเป็นนักลงทุนเท่านั้น

หุ้นต่ำจองอันดับ 2 บริษัท เวล เกรด เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ WGE ได้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 เป็นวันแรกในกลุ่มอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง โดยเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไป หรือ IPO 160 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 2.30 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 368 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปิดตลาดราคาหุ้นของ WGE ปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ 2.40 บาท/หุ้น โดยระหว่างวันราคาปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 2.54 บาท/หุ้น และปรับตัวลดลงต่ำสุดโดยปิดตลาดที่ 1.98 บาท/หุ้น หรือ -13.91% ไม่เพียงแค่นั้น จากข้อมูลสถิติล่าสุด ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2563 ราคาหุ้นของ WGE ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปิดตลาดที่ 1.49 บาท/หุ้น และปรับตัวลงไปที่ -35.21%

ทั้งนี้ WGE ประกอบธุรกิจให้บริการรับเหมาก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งงานภาครัฐและเอกชน ครอบคลุมถึงงานวิศวกรรมโยธา งานระบบวิศวกรรมอาคาร งานภูมิสถาปัตย์ รวมไปถึงงานก่อสร้างงานระบบสาธารณูปโภคตามแบบที่ลูกค้ากำหนด โดยรายได้ในปี 2560-2562 แม้ว่าจะมีการเติบโตดีถึงกว่า 22% CAGR สู่ระดับ 1,507 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิที่เติบโต 34% CAGR สู่ระดับ 115 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 29.12 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันปี 62 จำนวน 12.46 ล้านบาท หรือลดลง 29.97% มี เหตุผลสำคัญมาจากรายได้ที่ลดลงจากการชะลอแผนงานการก่อสร้างของลูกค้าบางราย และสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้ฐานลูกค้าหลักของกลุ่มบริษัท โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ชะลอเปิดตัวโครงการใหม่

หุ้นต่ำจองอันดับ 3 บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ RT เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2563 เป็นวันแรกในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง โดย RT เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก หรือ IPO 300 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 27.27% ของหุ้นทั้งหมด โดยกำหนดราคาที่หุ้นละ 1.92 บาท ซึ่งเมื่อเปิดตลาดทำการซื้อขาย ราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ 1.75 บาท หรือลดลง 0.17 บาท คิดเป็น -8.85% จากราคาขาย IPO ที่ 1.92 บาท และปิดเทรดช่วงเช้าที่ 1.73 บาท ลดลง -0.19 บาท หรือ -9.90% จากราคาขาย IPO ที่ 1.92 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 363.10 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ระหว่างวันราคาหุ้นปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 1.82 บาท ต่ำสุดที่ 1.66 บาท โดยเมื่อปิดตลาดราคาหุ้นลดลงไปอยู่ที่ 1.80 บาท ลดลง -0.12 บาท หรือคิดเป็น -6.25% มูลค่าซื้อขาย 727.75 ล้านบาท

ทั้งนี้ RT และบริษัทย่อย ประกอบธุรกิจให้บริการรับเหมาก่อสร้างด้านงานวิศวกรรมโยธา และธรณีเทคนิค ได้แก่ งานก่อสร้างอุโมงค์ งานระเบิดหิน งานขุดเจาะโดยไม่ใช้ระเบิด งานพัฒนาเหมือง งานเจาะสำรวจ งานคอนกรีตโครงสร้าง งานวิศวกรรมโยธาทั่วไปและงานด้านธรณีวิทยา

ชวลิต ถนอมถิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RT กล่าวถึงราคาที่เปิดเทรดวันแรกว่าถึง แม้ราคาหุ้นจะต่ำจอง ไม่ตอบสนองต่อภาวะตลาด แม้ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าพอใจเป็นอย่างดี แต่ส่วนตัวนั้นไม่มีความกังวล และยังคงมั่นใจในศักยภาพพื้นฐานและการทำกำไรของบริษัทชชที่จะสามารถรักษาระดับการทำกำไรได้ต่อเนื่อง โดยช่วง 9 เดือนปีนี้สามารถทำกำไรโตกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 205% และคาดว่าปี 2563 จะเป็นปีที่บริษัทเติบโตสูงสุดในรอบ 20 ปี พร้อมรักษาการเติบโตของรายได้อยู่ที่ระดับ 10-15% ต่อปี และอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ระดับ 22-24% และอัตรากำไรสุทธิ 9-10%

โดยสรุป การเดินทางของหุ้นน้องใหม่ 63 เส้นทางไม่ได้สวยหรูปูพรม เพราะหลายปัจจัยที่ทำให้สภาวะตลาดผันผวน ทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์คาดเดายากยิ่ง ทำให้หุ้นน้องใหม่อีกหลายตัวเบรกแผนระดมทุน และรอจังหวะตลาดสดใสเพื่อรอเข้าเทรดในโอกาสเหมาะสมในปีถัดไป




กำลังโหลดความคิดเห็น