xs
xsm
sm
md
lg

ปัดข่าวลือ “นายหน้าที่ดิน” สับขาหลอก คาดซีพียึดที่มั่นสถานีพัทยาเดิมเชื่อมระบบขนส่งรอง มีรัฐเวรคืนให้ ทำไมต้องย้ายสถานี?

เผยแพร่:



ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีดรามาข่าวโคมลอยเรื่องซีพีขอย้าย “สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา” ออกจากกลางเมือง ซึ่งแหล่งข่าวจาก รฟท.เผยว่า เนื่องจากพื้นที่โดยรอบสถานีพัทยาตามผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีพื้นที่ว่างสำหรับพัฒนา TOD ประมาณ 200 ไร่เท่านั้น ทำให้หลายคนไปคาดการณ์เอาเองว่าซีพีจะมีการย้ายสถานี เพราะซีพีต้องการพัฒนาพัทยาให้เป็นสถานีขนาดใหญ่ และเมื่อไปตรวจสอบราคาซื้อขายที่ดินในปัจจุบันรอบสถานีพัทยาพบว่าปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ไร่ละ 10 ล้านบาท และอยู่ในมือนายทุนท้องถิ่นรายใหญ่ไปหมดแล้ว ทำให้นายหน้าที่ดินในพื้นที่มีการปล่อยข่าวว่าจะมีการย้ายสถานีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ที่ดินที่อ้างว่าจะย้ายสถานีออกไป และเป็นการกว้านซื้อที่ดินแบบแผนซ้อนแผน

ทั้งนี้ คาดกันว่า ซีพี จะไม่ย้ายสถานี แต่จะพัฒนาสถานีพัทยาให้เป็นสถานีขนาดใหญ่ โดยมีการออกแบบการเชื่อมโยงระบบขนส่งรอง ซึ่งจะหารือกับนักลงทุนในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้ การทำระบบ feeder เชื่อมโยงจากสถานีพัทยาออกไปยังพื้นที่รอบนอกเพื่อรองรับระบบ feeder ซึ่งซีพีต้องออกค่าใช้จ่ายในการเวนคืนพื้นที่รอบนอกสำหรับระบบขนส่งรองเอง ทำให้เริ่มมีข่าวลือว่าจะย้ายสถานี ทั้งที่เป็นการหาพื้นที่วางระบบ feeder เชื่อมเมืองหลักเมืองรอง ถึงแม้จะยังไม่ระบุสถานที่ แต่ราคาที่ดินก็พุ่งไปตามข่าวลือหลายสิบเท่าจนแทบจะหาซื้อไม่ทัน แต่แน่นอนว่าอย่างไรซีพีจะใช้สถานีพัทยาเดิมเป็นหลักเพื่อลดภาระค่าเวนคืนโดยจะเป็นหน้าที่ของภาครัฐตามที่ตกลงไว้แต่แรก ดังนั้น ซีพีย่อมไม่ยอมจ่ายค่าเวนคืนเองเพราะมีรัฐรับผิดชอบให้อยู่แล้ว หากต้องการย้ายสถานีไปยังจุดอื่นก็เท่ากับหาเรื่องเพิ่มต้นทุน

แหล่งข่าวจาก รฟท.เปิดเผยว่า “ได้เริ่มกระบวนการเวนคืนไปแล้ว โดยเข้าพื้นที่รังวัด อาจจะเวนคืนเฉพาะแนวเส้นทาง เว้นตรงสถานีไว้ก่อนเพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ทัน เม.ย. 2564 หรืออย่างช้า ส.ค. แต่ไม่เกินกรอบเวลากำหนดไม่เกิน 2 ปี หรือเดือน ต.ค. เพื่อออกหนังสือให้เริ่มงานก่อสร้าง จะออกพร้อมกับพื้นที่ TOD สถานีมักกะสัน และศรีราชา”

สำหรับข่าวลือเกี่ยวกับการย้ายสถานีไฮสปีดจากพัทยาต่างส่งผลกระทบนายหน้าเก็งกำไรที่ดิน ซึ่งยอมรับว่ามีที่ดินติดอยู่ในมือไม่สามารถขายออกจำนวนมากในพัทยา ศรีราชา ตลอดจนสถานีฉะเชิงเทรา ขณะราคาที่ดินขยับสูงหลายเท่า จากราคาเพียง 2-3 ล้านบาทขยับเป็น 8-10 ล้านบาทที่รอบสถานีศรีราชา เช่นเดียวกับพัทยาที่ราคาที่ดินปรับสูง โดยเฉพาะติดชายทะเลราคาทะลุไป 2 แสนบาทต่อตารางวา

แหล่งข่าวจากวงการนายหน้าค้าที่ดินเปิดเผยว่า ขณะนี้นายทุนท้องถิ่นภาคตะวันออกกำลังตื่นตัวกับกระแสข่าวลือเรื่องการย้ายสถานีรถไฟความเร็วสูงที่พัทยาของกลุ่มซีพีที่ได้สัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยมีข่าวลือว่าจะย้ายไปบริเวณใกล้ถนนมอเตอร์เวย์สาย 7 ตอน 7 ถนนเลียบทางรถไฟ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี นั้น ขณะนี้ทราบว่ากลุ่มซีพียังไม่ย้ายสถานีพัทยาตามที่ปรากฏเป็นข่าว ทั้งนี้ แนวพื้นที่เวนคืนบริเวณสถานีพัทยา ครอบคลุมสถานีเดิม ขนาดประมาณ 100 X 600 เมตร หรือประมาณ 30 ไร่

ก่อนหน้านี้ นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเล็กเมืองพัทยา ได้ออกมาเปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พบว่าในสัญญาระหว่างผู้ที่ได้รับสัมปทานกับรัฐบาลมีการเปิดช่องสำหรับการเสนอปรับเปลี่ยนและย้ายสถานีจอดได้ ซึ่งเมืองพัทยาได้มีการติดตามเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และได้เตรียมความพร้อมในกรณีที่จะมีการย้ายสถานีจอดรถไฟความเร็วสูงในเบื้องต้นไว้แล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะส่งผลดีต่อเมืองพัทยาอย่างแน่นอน เพียงแค่เมืองพัทยาจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงการรถไฟรางเบาเพื่อให้สอดรับต่อการพัฒนาในอนาคตเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น