xs
xsm
sm
md
lg

กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ย้ำสถานการณ์โควิด-19 ยังควบคุมได้

เผยแพร่:



กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% หนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ระบุสถานการณ์ COVID-19 ปัจจุบันยังควบคุมได้ จากมาตรการที่ออกมารองรับสถานการณ์ได้ 1-2 เดือน เตรียมมาตรการล่วงหน้าไว้บ้างแล้ว พร้อมประเมินเศรษฐกิจปีนี้หดตัว 6.6% น้อยกว่าคาด และปี 64 ขยายตัว 3.2% ปี 65 ขยายตัว 4.8%

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า การประชุม กนง.วันที่ 23 ธันวาคม 2563 มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงกับสถานการณ์ COVID-19 ระลอกใหม่ จึงยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

"ปัจจุบันสถานการณ์โรคระบาดยังควบคุมได้ กนง.ได้มีการประเมินรองรับไว้ประมาณ 1-2 เดือน และการประชุมครั้งนี้ได้หารือถึงมาตรการต่างๆ ไว้บ้างแล้วหากสถานการณ์ปานปลาย ซึ่งระยะต่อไปจะต้องติดตามและประเมินผลกระทบอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาได้เร็วและตรงจุดมากที่สุด" เลขานุการ กนง.กล่าว

สภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจและครัวเรือนบางส่วนที่ต้องการสภาพคล่องยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวนสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเร็วจากสภาวะเปิดรับความเสี่ยงของนักลงทุน (risk-on sentiment) และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. จึงเห็นควรให้ติดตามอย่างใกล้ชิดและพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง

สำหรับเศรษฐกิจไทยจะหดตัว 6.6% ในปี 2563 ดีกว่าที่ประเมินไว้เดิมจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวดีขึ้น และกลับมาขยายตัว 3.2% และ 4.8% ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยในระยะสั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ขณะที่ในระยะถัดไปขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 และพัฒนาการของตลาดแรงงานซึ่งยังมีจำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ การฟื้นตัวที่แตกต่างกันของแต่ละภาคเศรษฐกิจจะส่งผลต่อความยั่งยืนของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพ แต่ยังคงมีความเปราะบางในภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.2% ลดลงจากการประเมินครั้งก่อน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ 5.5 ล้านคน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในต่างประเทศที่ยืดเยื้อและรุนแรงกว่าที่คาด ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เปิดรับได้จะจำกัดกว่าที่ประเมินไว้ อีกทั้งการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในไทยที่น่าจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของเศรษฐกิจในระยะถัดไปยังมีความไม่แน่นอนสูง ที่สำคัญได้แก่ สถานการณ์โรค COVID-19 ในไทยที่อาจรุนแรงขึ้นและลุกลามกว่าที่คาด รวมถึงความไม่แน่นอนของประสิทธิภาพและการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 ดังนั้น มาตรการภาครัฐจำเป็นต้องมีความต่อเนื่อง และต้องมีการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงาน เพื่อประคับประคองให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น