xs
xsm
sm
md
lg

เทรนด์ท่องเที่ยวเปลี่ยนยุคโควิด Booking.com ชี้ 3 ปัจจัยตลาดฟื้น

เผยแพร่:



อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบของโควิด-19 ระบาดอย่างหนักทั่วโลก แม้ว่าในบางประเทศบางพื้นที่จะเริ่มดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะการเดินทางที่ยังข้ามประเทศได้ไม่เต็มที่ น่านฟ้ายังเปิดไม่ได้ทั้งระบบ ส่งผลให้การท่องเที่ยวโดยเฉพาะข้ามประเทศกันนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งระบบทั้งทางตรงและทางอ้อมก็ล้วนต้องมีการปรับตัวเพราะผลกระทบดังกล่าวต่อเนื่อง โดยที่ยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะสามารถกลับคืนสู่วันฟ้าใสได้เมื่อใด

“Booking.com” ที่เป็นแพลตฟอร์มการให้บริการจองที่พักทั่วโลกของต่างประเทศผ่านระบบเว็บไซต์รายใหญ่ของโลกก็ยังต้องเผชิญกับวิกฤตนี้เช่นกัน


โดยในระดับเอเชียแปซิฟิกนั้น Booking.com ได้ทำการปรับโครงสร้างองค์กรด้วยการปรับลดจำนวนพนักงานลงในเอเชียแปซิฟิกมากถึง 25% เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ทำองค์กรให้มีความกะทัดรัดมากขึ้น และเป็นการรับมือกับเหตุการณ์ในปีหน้า 2564 ด้วยที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร

นางมิเชล เกา ผู้จัดการประจำภูมิภาคประจำกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง Booking.com ยังกล่าวยอมรับว่า จากวิกฤตการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนักช่วงครึ่งแรกปี 2563 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อยอดจองที่พักทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มบุ๊กกิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนเมษายนตกลงมากถึง 80% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนปีที่แล้ว 

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ตัวเลขจะกลับคืนดีขึ้นมาเรื่อยๆ ตามลำดับถึงขณะนี้ประมาณ 35% แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่าจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร จะมีวิกฤตหนักรอบสองหรือไม่


ทั้งนี้ การท่องเที่ยวที่ฟื้นคืนมานั้นก็จะเป็นการท่องเที่ยวภายในประเทศแต่ละประเทศเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้เป็นตัวเลขที่มากนัก โดยในส่วนประเทศไทยนั้น จากข้อมูลของบุ๊กกิ้งดอทคอมพบว่าพื้นที่ที่คนกรุงเทพฯ นิยมเสิร์ชหาข้อมูลและจองที่พักไปท่องเที่ยวนั้นส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ และเดินทางสะดวกตัดสินใจง่ายต่อการวางแผนไปท่องเที่ยวเป็นหลัก เช่น พัทยา หัวหิน กาญจนบุรี เขาใหญ่ เท่านั้นเป็นต้น

อีกทั้งประเทศไทย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะพึ่งพารายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหลัก เหมือนเช่นประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย อินเดีย มาเลเซีย เป็นต้น ดังนั้น การที่คนในประเทศมาเที่ยวกันเองก็ยังไม่สามารถสร้างรายได้ทดแทนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้

นางมิเชลกล่าวให้ความเห็นว่า การที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกจะกลับคืนมาเหมือนเดิมได้เร็วหรือไม่น้้นน่าจะขึ้นอยู่กับ 3 องค์ประกอบหลัก คือ
1. การมีวัคซีนป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและแพร่หลาย
2. ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐบาลกับภาคเอกชนเกี่ยวกับการสร้างมาตรฐานและการเข้มงวดในการป้องกันทางด้านสุขอนามัย
3. สภาพเศรษฐกิจโดยรวมทั้งระบบที่ต้องมีความแข็งแกร่งมากเพียงพอที่จะทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นมาอย่างมีประสิทธิภาพ


*** ผลสำรวจแนวโน้มการท่องเที่ยวในอนาคต
ทั้งนี้ ทาง Booking.com ได้ทำการสำรวจแนวโน้มสำคัญเกี่ยวกับอนาคตการเดินทางท่องเที่ยวว่าเป็นอย่างไรจากผลกระทบของ COVID-19

การคาดการณ์แนวโน้มการเดินทางจาก Booking.com ครั้งนี้เป็นการรวมผลสำรวจจากนักเดินทางกว่า 20,000 คนจาก 28 ประเทศและเขตการปกครองทั่วโลก กับข้อมูลเชิงลึกจากพฤติกรรมการค้นหาและการรีวิวของนักเดินทางบนแพลตฟอร์ม ตลอดจนความเชี่ยวชาญกว่า 20 ปีในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ผลสำรวจจากการคาดการณ์แนวโน้มสำคัญต่ออนาคตการเดินทางแสดงให้เห็นว่านักเดินทางชาวไทยเป็นหนึ่งในนักเดินทางที่มองโลกในแง่ดี และมีประเด็นที่น่าสนใจมากที่สุดในหลายๆ ด้านเกี่ยวกับการเดินทางเพื่อการพักผ่อน แม้ว่าภาวะสถานการณ์ในปัจจุบันจะดำเนินติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานานแล้ว


Booking.com เห็นว่านักท่องเที่ยวจะยังคงหาวิธีตอบสนองต่อความต้องการในการเดินทางท่องเที่ยวเท่าที่สามารถทำได้ตราบใดที่มีมาตรฐานความปลอดภัยที่ดี ซึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะต้องปรับตัวให้ทันความต้องการที่เปลี่ยนไปของนักเดินทาง

*** พร้อมสำหรับการเดินทางด้วยรถยนต์
โดยเฉลี่ย 58% ของนักเดินทางทั่วโลกกำลังมองหาการท่องเที่ยวในภูมิภาคใกล้เคียงหรือจุดหมายปลายทางที่เข้าถึงได้โดยรถยนต์ ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยมีตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 73% นับเป็นตัวเลขสูงสุดใน 28 ประเทศ 

ยิ่งไปกว่านั้น 85% ของนักเดินทางชาวไทยชอบการดื่มด่ำกับประสบการณ์ที่เรียบง่าย และ 80% เต็มใจที่จะแสวงหาประสบการณ์การท่องเที่ยวในต่างจังหวัดที่ไม่ค่อยมีใครไป เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึง รวมถึงกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ และที่สำคัญที่สุดคือมีนักท่องเที่ยวชาวไทยถึง 82% ต้องการเห็นเงินของพวกเขาได้กลับไปช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่น โดย 84% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยต้องการเลือกการเดินทางที่สร้างประโยชน์ มีส่วนร่วมฟื้นฟูท้องถิ่น นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในบรรดานักท่องเที่ยวทั่วโลก 


ผลสำรวจยังเผยศักยภาพในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยมีการเปิดให้เดินทางภายในประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวยังแสดงความสนใจในการไปเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวภายในท้องถิ่น สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนท้องถิ่น 

*** นักเดินทางยุคดิจิทัล
นักเดินทางชาวไทยแสดงออกอย่างชัดเจนว่าต้องการกลับมาเดินทางมากกว่านักเดินทางในประเทศอื่นๆ โดยนักเดินทางชาวไทยถึง 68% ค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวเป็นประจำราวอาทิตย์ละครั้ง เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกเพียง 38% ซึ่งช่วงที่ต้องทำงานจากบ้านหรือ Work from Home ในปีนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยเลือกทำงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้น โดย 6 ใน 10 ของนักท่องเที่ยวชาวไทยกล่าวว่าเคยมองหาการจองที่พักช่วงวันทำงานเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ หรือที่เรียกว่า Workcation นับเป็นตัวเลขที่สูงเป็นอันดับสองของโลก

นอกจากนี้ คนไทยยังเชื่อมั่นในเทคโนโลยีมากที่สุดในบรรดานักเดินทางทั่วโลก โดย 81% ยอมรับว่าเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการควบคุมความเสี่ยงด้านสุขอนามัยระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว และนักเดินทางชาวไทยจำนวนเดียวกันที่ 81% เชื่อว่านวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการเดินทางจะถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอย่างมากที่เราจะได้เห็นความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวและผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีมาช่วยกันยกระดับการให้บริการ เพื่อให้นักเดินทางได้รับความสะดวกสบายและความมั่นใจมากขึ้นเมื่อการแพร่ระบาดหยุดลง


*** ปลอดภัยไว้ก่อน
เมื่อพูดถึงมาตรการด้านสุขภาพระหว่างการเดินทาง คนไทยให้ความสำคัญต่อมาตรการด้านนี้มากที่สุดในโลก และเลือกปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านความปลอดภัยทางสุขภาพ โดยนักท่องเที่ยวชาวไทย 86% ยอมให้ตรวจสุขภาพเมื่อเดินทางถึงที่พัก อีก 87% ยอมสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ และ 86% เลือกจองเฉพาะที่พักที่ระบุข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการด้านสุขภาพและอนามัยไว้อย่างชัดเจน เนื่องจากสุขภาพและความปลอดภัยยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด 

ทั้งนี้ สองฟีเจอร์ดังกล่าวเป็นเพียงบางส่วนของมาตรการจาก Booking.com เพื่อตอบสนองต่อความเป็นจริงของการเดินทางที่เปลี่ยนไปเพื่อเชื่อมโยงนักเดินทางชาวไทยกับที่พักคู่ค้าได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น Booking.com ยังสนับสนุนและส่งเสริมการเดินทางภายในประเทศผ่านวิธีการหลากหลาย รวมถึงได้สร้างการร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรต่างๆ เช่น ShopBack, Grab, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารซิตี้แบงก์ โดยมอบข้อมูลเชิงลึกรวมถึงทรัพยากรต่างๆ แก่พันธมิตรเพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันอีกครั้ง รวมถึงยังร่วมงานกับอินฟลูเอนเซอร์ชาวไทยเพื่อสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคชาวไทยโดยตรง


นางสาวมิเชล เกา ผู้จัดการประจำภูมิภาคประจำกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงของ Booking.com กล่าวว่า “แม้ว่าปี 2563 เป็นปีที่คาดเดาไม่ได้ แต่เราก็ได้รับกำลังใจล้นหลามจากความคิดเชิงบวกและการมองโลกในแง่บวกของนักเดินทางชาวไทยที่มีต่ออนาคตของการเดินทาง นี่เป็นบทพิสูจน์ต่อความสำคัญของการเดินทางในชีวิตของพวกเราทุกคน รวมถึงช่วงเวลาแห่งความสุขและแรงบันดาลใจจากผู้คนในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้ ด้วยพันธกิจในการที่จะช่วยให้ทุกคนออกไปสัมผัสโลกกว้างได้ง่ายดายยิ่งขึ้น 

ทาง Booking.com รู้สึกยินดีที่มีส่วนร่วมในการแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้โดยเฉพาะกับพันธมิตรของเรา เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของนักเดินทางชาวไทยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ มอบประสบการณ์ที่ราบรื่นและคุ้มค่าที่สุดให้แก่ลูกค้า เพื่อให้พวกเขาสามารถเพลิดเพลินไปกับประสบการณ์สุดประทับใจที่หาได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น”

ทั้งนี้ การสำรวจข้อมูลนี้ดำเนินการโดย Booking.com โดยได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งได้เดินทางทริปธุรกิจหรือทริปพักผ่อนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และต้องมีแผนที่จะเดินทางในช่วง 12 เดือนนับจากนี้ (หาก/เมื่อมีการยกเลิกการจำกัดการเดินทาง) ผู้เข้าร่วมการสำรวจมีจำนวนทั้งหมด 20,934 คนใน 28 ประเทศ/ภูมิภาค (สหรัฐอเมริกา 999 คน แคนาดา 496 คน เม็กซิโก 497 คน โคลอมเบีย 997 คน บราซิล 999 คน อาร์เจนตินา 499 คน ออสเตรเลีย 995 คน นิวซีแลนด์ 499 คน สเปน 999 คน อิตาลี 996 คน ฝรั่งเศส 996 คน สหราชอาณาจักร 999 คน เยอรมนี 996 คน เนเธอร์แลนด์ 498 คน เดนมาร์ก 499 คน สวีเดน 499 คน โครเอเชีย 498 คน รัสเซีย 1,001 คน อิสราเอล 498 คน อินเดีย 997 คน จีน 994 คน ฮ่องกง 499 คน ไทย 497 คน สิงคโปร์ 496 คน ไต้หวัน 499 คน เกาหลีใต้ 997 คน เวียดนาม 500 คน และญี่ปุ่น 995 คน) ผู้เข้าร่วมได้ทำแบบสอบถามทางออนไลน์ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563


กำลังโหลดความคิดเห็น