xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด ปตท.อนุมัติซื้อบริษัทย่อย GPSC 50% รุกธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ตปท.

เผยแพร่:



บอร์ด ปตท.อนุมัติซื้อหุ้น 50% ของ GRP ซึ่งเป็นบริษัทย่อย GPSC เพื่อรองรับการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ พร้อมทั้งจัดตั้งบริษัทอินโนบิก (เอเซีย) เพื่อรุกธุรกิจ New S-Curve : Life Science ทั้งธุรกิจยา อุปกรณ์การแพทย์ และธุรกิจ Nutrition

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ได้อนุมัติการลงทุนในบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) (บริษัทย่อย GPSC) และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบเงินกู้ยืมแก่ GRP โดยอนุมัติให้บริษัท ปตท. โกลบอล แมนเนจเมนท์ จำกัด (PTTGM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.เข้าซื้อหุ้นสามัญของ GRP เป็นจำนวน 4,655,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท รวมมูลค่าการซื้อหุ้นทั้งสิ้นประมาณ 693 ล้านบาท

ภายหลังการซื้อหุ้นดังกล่าวทำให้ ปตท.ถือหุ้นใน GRP ในสัดส่วน 50% ของทุนจดทะเบียนผ่าน PTTGM และ GPSC ถือหุ้นในสัดส่วน 50% ของทุนจดทะเบียน ภายหลังจากการเข้าทำธุรกรรมการซื้อหุ้นเสร็จสิ้น GRP จะคงสถานะเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.

วัตถุประสงค์ในการเข้าซื้อหุ้น GRP เพื่อรองรับการขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการลงทุนประเภทธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar energy) และธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม (Wind energy)

ทั้งนี้ การเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของกลุ่ม ปตท.ในการเป็นผู้นำในด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด ทำให้กลุ่ม ปตท.สามารถขยายธุรกิจ การลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งเพื่อให้กลุ่ม ปตท.บรรลุเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573

การพิจารณาการดำเนินธุรกิจของ GRP จะอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ GRP ซึ่งแต่งตั้งขึ้นจากตัวแทนร่วมกันของ ปตท.และ GPSC โดยจะปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของ GRP เป็นสำคัญ ทั้งนี้ การเข้าร่วมลงทุนระหว่าง ปตท. กับ GPSC ใน GRP นั้นไม่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของ GPSC ในฐานะบริษัทแกนนำธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภค (Power Flagship) ของกลุ่ม ปตท.แต่อย่างใด

ปัจจุบัน GRP มีการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 9 โครงการใน 4 จังหวัด (ลพบุรี สุพรรณบุรี พิจิตร และขอนแก่น) มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 39.5 เมกะวัตต์ ทุกโครงการดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2557-2558

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้ ปตท.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ GRP ในรูปแบบเงินกู้ยืมผ่านบริษัท ปตท. ศูนย์บริหารเงิน จำกัด (PTT TCC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.ตามสัดส่วนการถือหุ้น ภายหลังจากที่ ปตท.เข้าถือหุ้นใน GRP ในสัดส่วน 50% ผ่าน PTTGM แล้ว โดยมีวงเงินกู้ยืมตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 834 ล้านบาท

ด้าน บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) แจ้งว่า ภายใต้ข้อกำหนดในสัญญาซื้อขายหุ้น การซื้อขายหุ้น GRP จะเสร็จสิ้นได้จะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของเงื่อนไขบังคับก่อนบางประการ เช่น การที่หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องได้ยืนยันการรับแจ้งเพื่อทราบ เป็นต้น ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าเงื่อนไขบังคับก่อนดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ซึ่งภายหลังจากการเข้าทำธุรกรรมจำหน่ายหุ้นเสร็จสิ้น GRP จะไม่ได้มีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ

ทั้งนี้ การที่ ปตท.เข้าร่วมลงทุนใน GRP จะช่วยสนับสนุนความสามารถของบริษัทฯ ในการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และเพิ่มความแข็งแกร่งของบริษัทฯ ในฐานะแกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของกลุ่ม ปตท. (PTT Group’s Power Flagship) ในการพัฒนาลงทุนและดำเนินการด้านธุรกิจไฟฟ้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

นายอรรถพลกล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมฯ ได้มีมติอนุมัติจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 100 โดยบริษัท ปตท. โกลบอล แมนเนจเมนท์ จำกัด (PTTGM) (บริษัทย่อยของ ปตท.) ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรกไม่เกิน 300 ล้านบาท และอนุมัติเพิ่มทุนเป็นประมาณ 2,000 ล้านบาท ตามลำดับ เพื่อรองรับการลงทุนของ ปตท.และบริษัทในกลุ่ม ปตท.ในธุรกิจใหม่ตามกลยุทธ์ New S-Curve : Life Science เช่น ธุรกิจยา ธุรกิจ Nutrition ธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพความสามารถของ ปตท.ในด้าน Life science และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น