xs
xsm
sm
md
lg

ราช กรุ๊ปทุ่ม 1-1.5 หมื่นล้านในปี 64 หวังเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 700 MW

เผยแพร่:



ราช กรุ๊ปอัดงบลงทุนปีหน้า 1-1.5 หมื่นล้านบาทเพื่อเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 700 เมกะวัตต์ และพัฒนาโรงไฟฟ้ามือเพื่อให้ปี 68 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าแตะ 1 หมื่นเมกะวัตต์ พร้อมแจงเหตุที่ไม่สามารถยื่นซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มได้

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า ในปี 2564 บริษัทใช้งบลงทุนราว 1-1.5 หมื่นล้านบาท รองรับการหากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่อีก 700 เมกะวัตต์ (MW) และการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าในมือ ทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายมีกำลังผลิตไฟฟ้าครบ 1 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2568 จากปีนี้มีกำลังการผลิตรวม 8.7 พันเมกะวัตต์

ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานในปีหน้ายังมีทิศทางที่ดี จากการที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) รวมประมาณ 376 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากโครงการพลังงานลมคอลเลกเตอร์ในออสเตรเลียที่จะเริ่มจ่ายไฟเข้าระบบในไตรมาส 1/62564, โรงไฟฟ้าพลังงานลม Thanh Phong ในเวียดนาม ที่จะเริ่มจ่ายไฟในราวเดือน ต.ค. 2564 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม Riau ในอินโดนีเซีย โดยยังไม่นับรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่อยู่ระหว่างมองหาในปีหน้าอีกราว 700 เมกะวัตต์ ในส่วนนี้ราวครึ่งหนึ่งจะมาจากการซื้อกิจการ (M&A) ในโครงการที่ผลิตอยู่แล้ว ก็จะทำให้สามารถรับรู้รายได้เข้ามาทันที

ในปีนี้บริษัทจัดสรรงบลงทุนจำนวน 15,000 ล้านบาทสำหรับโครงการเดิม และโครงการใหม่ จนถึงปัจจุบันเงินลงทุนที่ใช้ไปแล้วจำนวนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยังคงเหลือเกือบ 5 พันล้านบาทที่จะใช้สำหรับการลงทุนในโครงการเป้าหมายที่อยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนอีก 5 โครงการต่างประเทศดังกล่าว ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกวางจิ 1 ในเวียดนาม โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง โครงการโรงไฟฟ้าพลังลม 1 แห่ง และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 1 แห่ง ซึ่งอยู่ในภูมิภาคอาเซียน

ด้านความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ใน จ.ราชบุรีนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดหาแหล่งเงินกู้ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปีหน้าหลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้าง มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2567 และปี 2568

สำหรับธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้านพลังงาน บริษัทได้ร่วมลงทุน 10% ในโครงการ Operation and Maintenance โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ซึ่งคาดว่าจะลงนามสัญญาสัมปทานได้ในเดือน ธ.ค.นี้ อีกทั้งยังได้ร่วมทุนจัดตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง กำลังผลิต 60,000 ตัน/ปี ใน สปป.ลาว เพื่อส่งออกจำหน่ายให้ลูกค้าอุตสาหกรรมญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นหลัก

นายกิจจากล่าวอีกว่า เป้าหมายการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือที่ระดับ 1 หมื่นเมกะวัตต์จะเป็นพลังงานทดแทน 2.5 พันเมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 1,175 เมกะวัตต์ และยังให้ความสนใจลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนของภาครัฐด้วย แต่ยังต้องรอความชัดเจนของหลักเกณฑ์การเปิดให้ร่วมประมูลที่น่าจะมีออกมาในต้นปีหน้า และยังให้ความสนใจลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องพลังงานทั้งใน และต่างประเทศด้วย

ส่วนการที่บริษัทไม่ได้เข้าร่วมยื่นซองประมูลในโครงการถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ร่วมกับพันธมิตรชุดเดิมในนามของกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) เนื่องจากติดขัดเรื่องความชัดเจนของการเป็นรัฐวิสาหกิจ หลังจากที่สำนักงานประกันสังคมได้เข้ามาถือหุ้นในบริษัทเพิ่มจากราว 3% เป็นกว่า 5% และเมื่อรวมกับการถือหุ้นของ กฟผ.ที่ระดับ 45% ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นจากหน่วยงานรัฐมากกว่า 50% ทำให้อาจจะต้องแก้ไขปัญหาของความเป็นรัฐวิสาหกิจก่อน ซึ่งหากแก้ไขได้ก็คาดว่าจะเข้าร่วมดำเนินโครงการดังกล่าวหาก BSR เป็นผู้ชนะประมูล
กำลังโหลดความคิดเห็น