xs
xsm
sm
md
lg

PTTGC ยันกลางปีหน้าได้ข้อสรุปปิโตรฯ คอมเพล็กซ์ที่สหรัฐฯ

เผยแพร่:



“พีทีที โกลบอล เคมิคอล” ลั่นไม่มีพาร์ตเนอร์ใหม่ ไม่มีการลงทุนโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ที่สหรัฐฯ เผยขณะนี้ยังเจรจาหาพันธมิตรร่วมทุนอยู่หลายราย คาดกลางปีหน้ามีความชัดเจน พร้อมเร่ง M&A โครงการในต่างประเทศโดยจะพยายามให้เกิดขึ้นในปี 64

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ว่าบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาหาพันธมิตรร่วมทุนในโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ที่สหรัฐฯ โดยมีการเจรจาอยู่หลายรายหลังจาก บริษัท Daelim Industrial Co., Ltd. (แดลิม) เกาหลีใต้ที่ได้ถอนตัวไป โดยพันธมิตรร่วมทุนที่สนใจก็ต้องใช้เวลาในการตัดสินใจ แต่คาดว่าจะมีความชัดเจนในกลางปี 2564

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทฯ จะยังไม่สามารถหาพันธมิตรร่วมทุนได้ บริษัทก็ยังไม่มีการลงทุนโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ เพราะไม่ต้องการลงทุนโครงการนี้เพียงผู้เดียว เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงราว 2 แสนกว่าล้านบาท

ส่วนกรณีที่นายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้นไม่ส่งผลต่อโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ดังกล่าว เนื่องจากสิทธิประโยชน์ที่โครงการได้รับมาจากรัฐโอไฮโอ โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่จะทำให้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนผ่อนคลายลงส่งผลให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น ย่อมมีผลดีต่ออุตสาหกรรมปิโตเคมีทำให้ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้น

สำหรับความคืบหน้าโครงการลงทุนโรงงานไบโอพลาสติกชนิด PLA แห่งที่ 2 ของบริษัท เนอเจอร์เวิร์ค ของสหรัฐฯ ที่บริษัทฯ ร่วมถือหุ้นนั้น ขณะนี้ยังรอความชัดเจนจากทางเนเจอร์เวิร์คฯ ในการตัดสินใจตั้งโรงงานผลิต PLA ในประเทศไทย ตั้งในพื้นที่โครงการนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์ เฟสที่ 2 คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2564 เนื่องจากไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่มีความน่าสนใจในการลงทุน

ขณะที่แผนลงทุนซื้อกิจการ (M&A) ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเจรจาหลายโครงการในต่างประเทศ ซึ่งจะเน้นเข้าซื้อกิจการในโครงการที่บริษัทฯ ยังไม่มีสายการผลิต คือ ธุรกิจไฮฟอร์แมนต์ โพลิเมอร์ หรือกลุ่มธุรกิจโพลิเมอร์ที่สามารถต่อยอดไปทำผลิตภัณฑ์สำหรับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องบิน อากาศยานที่มีน้ำหนักเบา เครื่องใช้ไฟฟ้า การก่อสร้างตึก ซึ่งโพลิเมอร์กลุ่มนี้มีความทนทาน ยืดหยุ่น น้ำหนักเบา สมรรถนะดีกว่าเดิม และกลุ่มอุตสาหกรรมการเคลือบ (Coating) ที่ใช้ในกลุ่มยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่มความคงทนแข็งแรง หรือต่อไปหากผลิตเครื่องบินแล้ว ซึ่งบริษัทพยายามที่ได้มีการ M&A ภายในปีหน้า

วันเดียวกันนี้ (12 พ.ย.) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จัดประชุมระดับโลก GC Circular Living Symposium 2020 : Tomorrow Together เพื่อสร้างความตระหนักรู้และนำแนวคิดไปสู่ภาคปฏิบัติจริง โดยนำแนวทาง Circular Living มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันจนถึงการดำเนินธุรกิจ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากหลากหลายวงการทั่วโลก

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงฯได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยกระทรวงฯได้ขับเคลื่อนการรับรู้ ตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมต่างๆ ผ่านทุกช่องทาง โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้แปรรูปขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่มาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซื่งเป็นการลดการใช้ทรัพยากร และการบริโภคลง

โดยเศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นแนวทางการรักษาความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยเริ่มต้นจากตัวเราเองก่อน ไม่ว่านโยบายจะดีแค่ไหน หากประชาชนไม่นำมาปฏิบัติก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ส่วนแนวทางการลด/เลิกการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง 4ประเภททั้งถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกและหลอดพลาสติกที่จะเลิกใช้ในปี 2565 ทางกรมฯยังยืนยันทำให้ได้ตามกรอบเวลาเดิม แม้ว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 จะทำให้เกิดการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งจำนวนมากก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น