xs
xsm
sm
md
lg

3 ส.อสังหาฯ ถกแบงก์แก้ปมรีเจกต์เรตพุ่ง ดึงธนาคารรัฐอุ้ม ผ่อนเกณฑ์เครดิตบูโร

เผยแพร่:



ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 เป็นปีแห่งการ "พักฐาน" และเข้าสู่หมวดของปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อรับมือกับ "วิกฤต" จากผลกระทบของการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบลุกลามขยายเป็นวงกว้างไปถึงภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจต่างๆ ต้องลดเวลาทำงาน หยุดกิจการ ส่งผลให้รายได้ของผู้อยู่ในภาคบริการและแรงงานถูกกระทบอย่างหนัก ขณะที่ก่อนหน้านี้ (ปี 2562) มาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ทำให้กลุ่มผู้ซื้อใหม่ ผู้ลงทุน และลูกค้าต่างชาติถูกมาตรการ LTV ควบคุม ส่งผลให้โอกาสที่จะได้รับวงเงินสินเชื่อลดลงตามไปด้วย

ตามข้อมูลของ บล.เอเซียพลัส จำกัด ระบุว่า ในปี 2561 เป็นปีที่มียอดการเปิดโครงการใหม่ค่อนนข้างมากถึง 244 โครงการ มูลค่า 363,807 ล้านบาท ซึ่งโครงการคอนโดมิเนียมร้อนแรงมากในปีนั้น เปิดโครงการมากที่สุด ด้วยมูลค่าสูงถึง 197,796 ล้านบาท ตลาดแนวราบ ซึ่งเป็นตลาดเรียลดีมานด์ ขยับการเปิดโครงการค่อนข้างแรงเช่นกัน ด้วยมูลค่าการเปิดโครงการ 166,011 ล้านบาท

แต่ภาพความคึกคักของภาคอสังหาฯ ในปี 2562 กลับกลายเป็นหนังคนละม้วน! กล่าวคือ ตัวเลขการเปิดโครงการปรับตัวลดลง จากการชะลอตัวของภาพรวมเศรษฐกิจ เรื่องสงครามการค้า (เทรดวอร์) และกลุ่มลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะกำลังซื้อจากชาวจีนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และยิ่งในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ธนาคารพาณิชย์มีการป้องกันความเสี่ยง เพื่อป้องกันสินเชื่อไม่ให้เกิดเป็นตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)เพิ่มขึ้น จนลุกลามไปกระทบถึงฐานะการเงินของธนาคาร

ตามข้อมูลการวิเคราะห์ของ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประเมินว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ในปี 2563 น่าจะมีความเป็นไปได้อยู่ที่ 542,636 ล้านบาท (Base) หรือลดลง -15.2% แต่ในกรณีแย่ที่สุด (Worst) น่าจะมีตัวเลขปล่อยใหม่ 499,225 ล้านบาท หรือลดลง -22% และในปีถัดไป (2564) สินเชื่อปล่อยใหม่จะเริ่มอยู่ในเส้นขาขึ้น โดยคาดว่าต้องใช้เวลาไปถึง 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2568 จะมีตัวเลขสินเชื่อปล่อยใหม่จะใกล้เคียงกับปี 2561 ที่มีตัวเลขสูงถึง 702,900 ล้านบาท

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม
อสังหาฯ หืดขึ้นคอ! แบงก์ปล่อยสินเชื่อต่ำเกณฑ์ LTV

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดคอนโดมิเนียมว่า แม้ในปี 2563 คอนโดมิเนียมจะไม่ดี โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดโควิด-19 ลูกค้ามีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและไม่สบายใจที่จะอยู่อาศัยในอาคารชุด แต่ข้อดี สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย จะเห็นยอด Take up ที่ดีขึ้น ยิ่งในกลุ่มคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จพร้อมอยู่พร้อมโอนค่อยๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ก็เปรียบเหมือนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ โครงการแนวราบไม่ได้รับความนิยมเท่ากับตลาดคอนโดมิเนียมที่ขายดีมาก

ทั้งนี้ เมื่อเราเอาเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาดู จะเห็นว่าทุกปี หรือปีครึ่ง ทุกอย่างจะกลับมาดีขึ้น ตลาดคอนโดมิเนียมก็น่าจะดี และเป็นโอกาสดีที่ตลาดคอนโดฯได้มีการพับฐาน เพราะไม่มีปีไหนเลยที่ยอดซื้อขายจะมากกว่ายอดเปิดตัวโครงการใหม่ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ผู้ประกอบการเปิดตัวโครงการน้อยลง ในขณะที่ดีมานด์ไม่ได้ลดลงในสัดส่วนเดียวกับยอดเปิดโครงการลดลง แม้ว่าครึ่งปีหลังจะมียอดคอนโดฯ เปิดใหม่มากขึ้น แต่คงไม่สามารถเทียบกับรายไตรมาสของปีที่แล้ว ส่งผลให้ตัวเลขสินค้าคอนโดฯ ล้นตลาดที่มีมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 10 ปี จะมีอัตราการดูดซับออกไป

"ส่วนแบ่งตลาดคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ ขยับขึ้นไปแตะ 65-70 เปอร์เซ็นต์ และจากโควิด-19 ทำให้ตลาดแนวราบกลับมามีสัดส่วนที่มากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายคอนโดฯ น้อยลงมากเมื่อไปเทียบกับช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่ายอดขายปีนี้จะลดต่ำกว่า 30-50 เปอร์เซ็นต์ ยอดเปิดตัวโครงการใหม่คงไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา ส่วนยอดโอนน่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งระบายสินค้า เพื่อเพิ่มกระแสเงินสด"

ทั้งนี้ ในมุมที่เกี่ยวกับภาคสถาบันการเงินนั้น นายไตรเตชะ อธิบายว่า เงื่อนไขของทุกธนาคารกลับมาเหมือนก่อนโควิด-19 ทั้งในเรื่องของสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อนุมัติยากขึ้น เช่น การให้ LTV น้อยลงในแง่ของการก่อสร้าง ซึ่งในส่วนของศุภาลัย วิธีการบริหารงาน คือ ใช้รายได้และกระแสเงินสดที่ได้จากการโอนโครงการเข้าไปดำเนินการก่อสร้าง เพื่อให้งานรวดเร็วขึ้น ซึ่งศุภาลัยฯบริหารแบบนี้มารวม 10 ปี ทำให้ปัจจุบัน ตัวเลขต้นทุนทางการเงินของบริษัทประมาณ 2%

"คอนโดฯ บางแห่งแบงก์ไม่ปล่อยกู้ การที่แบงก์ลดวงเงิน LTV ในสัดส่วนที่สูง จะกระทบต่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายราย จะเห็นบางรายมีของติดมือค่อนข้างมาก การที่ได้โปรเจกต์ไฟแนนซ์มาแล้ว ไม่รันต่อ ก็จะมีแต่ Cost เพิ่มขึ้น เท่าที่ติดตาม ส่วนใหญ่แบงก์อยากเห็นตัวเลขพรีเซลส์ของโครงการคอนโดฯ ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อสังหาริมทรัพย์ขายยาก ยอดปฏิเสธสินเชื่อ (รีเจกต์เรต) ปรับตัวสูงขึ้น โดยช่วงต้นปี ศุภาลัยประมาณ 17-18 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลสืบเนื่องแบงก์กังวลเรื่องสภาพเศรษฐกิจ พอเข้าสู่ช่วงโควิด-19 ที่คาดว่ารีเจกต์เรตจะเพิ่ม กลับไม่เพิ่ม แต่ไม่หมายความว่าจะไปดีเท่าเดิม แต่แย่ลง เพราะลูกค้ากลับไม่เหมือนเดิม เนื่องจากกลุ่มอาชีพที่จัดอยู่ชั้นความเสี่ยง เช่น เกี่ยวเนื่องภาคการท่องเที่ยว ร้านอาหาร นักบิน ไม่มีการเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัย"

นายกรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการบริหารโครงการในภาวะที่ธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อว่า โดยหลักแล้ว ธนาคารจะอนุมัติเป็นเฟสๆ และหากมียอดขาย การเบิกวงเงินในการก่อสร้างอาจจะได้รับความต่อเนื่องมาดำเนินโครงการในเฟสถัดไป ซึ่งในตลาดคอนโดฯ ยอดพรีเซลส์อาจะต้องถึง 40% ซึ่งธนาคารไม่ได้ขยับขึ้นของตัวเลขยอดพรีเซลส์ เนื่องจากเกณฑ์ของ LTV ก็มีความเข้มข้นอยู่แล้ว

"สถานการณ์โควิด-19 อาจจะไม่กระทบต่่อแผนธุรกิจเรามากนัก เพราะเป้าเราไม่เยอะ และน่าจะได้ใกล้เคียงกับแผนที่วางไว้ แอสเซทไวส์ค่อนข้างระมัดระวัง ไม่หวือหวา"

3 ส.อสังหาฯ-เอกชนถกแบงก์รัฐ
ผ่อนเกณฑ์ลูกค้าติดเครดิตบูโร-อุ้ม SME

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่ธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ก็เพื่อป้องกันความเสี่ยง เนื่องจากโครงการคอนโดมิเนียมในตลาดมีซัปพลายค่อนข้างมาก โครงการที่เปิดใหม่และได้รับวงเงินสินเชื่อพัฒนาโครงการจนแล้วเสร็จอาจจะมีปัญหาในเรื่องการสร้างรายได้ที่ช้า ทำให้ธนาคารต้องมีการกำหนดอัตราส่วนในการปล่อยสินเชื่อโครงการ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจะต้องบริหารสภาพคล่องให้ดี เพื่อนำมาพัฒนาให้เสร็จพร้อมโอน

ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ ทาง 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมบ้านจัดสรร และสมาคมอาคารชุดไทย พร้อมด้วยบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นร่วมกับธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อหาทางออกในการส่งเสริมให้คธุรกิจอสังหาฯและสนับสนุนให้ผู้กำลังตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้มากขึ้น

สำหรับข้อเสนอที่ทาง 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ และผู้ประกอบการได้นำเสนอและหวังให้เกิดผลในทางปฏิบัตินั้น ได้แก่ 1.การเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรายย่อยปรับลดเกณฑ์ลง เช่น ลูกค้าที่เคยเป็น NPL มาก่อนและยังมีชื่อติดในเครดิตบูโร ก็อาจจะมีการผ่อนปรนในส่วนนี้ เพื่อเปิดโอกาสในการได้รับสินเชื่อ หรือในกรณีความเข้มงวดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในกรณีผู้ขอสินเชื่อสามารถปิดหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิตได้ก่อนขอสินเชื่อ ทางธปท.ให้ระบุถึงแหล่งที่มาของเงิน เช่น มาจากเงินเก็บ จากพ่อหรือแม่ หรือไปกู้เงินจากที่อื่น เพื่อมาปิดบัญชีส่วนนี้ก่อน

2.ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีฐานะและประวัติค่อนข้างดี ได้มีการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินไปค่อนข้างมาก ทำให้ เอสเอ็มอีที่เพิ่งเริ่มมีประวัติหรือเข้ามาทำธุรกิจ เช่น ขายของบนแพลตฟอร์มออนไลน์ กลุ่มอาชีพอิสระ (ฟรีแลนซ์) อาจจะต้องขอให้ธนาคารเข้ามาเสริมเรื่องการทำระบบบัญชีให้ดีขึ้น วางแผนการเงินเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเตรียมพร้อมการขอสินเชื่อกับธนาคาร

3.ประเด็นที่ผู้ประกอบที่สามารถขายโครงการที่อยู่อาศัยได้ และสามารถก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ จะทำการโอนได้หรือเปล่า เนื่องจากในปัจจุบัน ภาพรวมของยอดการปฏิเสธสินเชื่อ(รีเจกต์เรต) หนักกว่าปี 2540 ตัวเลข ณ ขณะนี้รีเจกต์เรตพุ่งไปถึง 40-45%

"สิ่งที่เราพบ ธนาคารพาณิชย์จะปล่อยลูกค้าเกรด A เนื่องจากยังมีสภาพคล่องสูง ผู้ซื้อจะเลือกและให้ความสำคัญกับเรื่องแบรนด์ของผู้พัฒนาการโครงการ ได้รับวงเงินที่มาก ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ จะให้น้ำหนักสินเชื่อพัฒนาโครงการกับแบรนด์รายกลางและรายเล็กลดลง ทางผู้ประกอบการอยากเสนอให้ธนาคารลดความสำคัญของเรื่องแบรนด์ลง" ผู้สื่อข่าวรายงานในเวทีการประชุมระหว่างผู้ประกอบการและธนาคารของรัฐ

นายปรีชา กุลไพศาลธรรม
แบงก์จัดเรตติ้งแบรนด์ปล่อยกู้อสังหาฯ
กำหนด D/E ลดขนาดโครงการ-แคชโฟลว์ต้องดี


นายปรีชา กุลไพศาลธรรม กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทเปี่ยมสุข ผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญในตลาดอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนนทบุรี เปิดเผยถึงภาพรวมอสังหาฯในจังหวัดนนทบุรี ว่า ช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในพื้นที่เจอสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรง บริษัทอสังหาฯ รายใหญ่เข้ามาทำและขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยพื้นฐานยังมีความแข็งแรงอยู่แล้ว และเมื่อเจอเหตุการณ์โควิด-19 จากการรับรู้ข้อมูล ผู้ประกอบการในท้องถิ่นยังไหวอยู่ สอบถามไปยังสถาบันการเงิน ในเรื่องการปล่อยสินเชื่อโครงการ ฐานะของลูกค้าที่มาขอสินเชื่อ รวมถึงผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก สถาบันการเงินยังมองว่า แข็งแรงกว่าเดิม ไม่เหมือนยุคปี 2540 บริษัทอสังหาฯ เตรียมตัวมาดี

"ในมุมของแบงก์ เวลาปล่อยกู้ก็ดูเรื่องกระแสเงินสดของผู้ประกอบการมาตั้งแต่ต้น การเกิดโควิด-19 ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่นนทบุรี ล้มหายตายจากไปอย่างชัดเจน อีกทั้งตลาดหลักของผู้ประกอบการในนนทบุรี จะพัฒนาโครงการแนวราบเป็นหลัก ตลาดไม่ได้แย่ อาจจะชะลอตัวลงบ้างแค่ 10-20 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่ายังไปต่อได้ แต่อาจจะมีบริษัทอสังหาฯ ในนนทบุรีบางแห่งที่เริ่มมีปัญหาการขาย การโอนกรรมสิทธิ์ ตั้งแต่ปี 2561-2562 และมาเจอเรื่องโควิด-19 ทำให้ล้มหายไปบ้างก็มี" นายปรีชา กล่าว

สำหรับแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินนั้น นายปรีชา แจงให้เห็นภาพว่า ด้วยปัจจัยเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจ รวมกับเรื่องโควิด-19 ทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ จะพิจารณาจากตัวเลข D/E Ratio ที่ต่ำ (Debt to Equity Ratio เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่เป็นการเปรียบเทียบระหว่าง "หนี้สินรวม (Debt)" เทียบกับ "ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม หรือ Equity) ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กอาจจะต้องมีกระแสเงินสดรองรับในการเพิ่มเงินลงทุนที่มากขึ้น

ทั้งนี้ หากเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก ธนาคารจะปล่อยในสัดส่วน D/E 1:1 รายกลาง D/E 1;1.5 และรายใหญ่จะปล่อยที่ D/E 1:1.5 เท่า ตัวอย่างที่จะเห็นภาพชัดเจน ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการควักลงทุน 1 บาท ธนาคารให้ 1 บาท สำหรับรายเล็ก รายกลาง ธนาคารให้ได้ 1 บาท 50 สตางค์ แต่ถ้าเป็นรายใหญ่ ธนาคารจะให้วงเงิน 2 บาท เป็นต้น

ขยับยอดพรีเซลส์คอนโดฯ สูงถึง 50%

"โดยภาพรวมแล้ว แบรนด์ของผู้ประกอบการจะเป็นสิ่งที่ธนาคารมอง แล้วมาปรับทำโครงสร้างทางการเงิน ปรับใช้ให้เข้ากับ D/E Ratio ควรจะเป็นอย่างไร ผู้ประกอบการที่มีความน่าเชื่อถือมาก จะได้ D/E สูง ส่วนน่าเชื่อถือน้อย D/E ก็ต่ำ ก็ต้องใช้เงินสดมากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอย่างระมัดระวัง ไปพร้อมกับการป้องกันความเสี่ยงของสถาบันการเงิน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้การสร้างบ้านล่วงหน้า บ้านพรีเซลส์ได้ บ้านที่ปล่อยให้เช่า บ้านที่ปล่อยให้สร้างก่อนจะมีสัดส่วนที่ลดลง เช่น จากเดิมทำการก่อสร้างบ้านพรีเซลส์ได้ 10 หลัง แต่ต้องปรับลงมาเหลือ 8 หลัง เปิดโครงการน้อยลง เพื่อให้ตัวเลข D/E ลดต่ำลง โดยเฉลี่ยแบงก์ปล่อยกู้ลดลง 30 เปอร์เซ็นต์" นายปรีชา กล่าว พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า

เช่น จากเดิมธนาคารจะปล่อยสินเชื่อพัฒนาโครงการ 100 ล้านบาท ตอนนี้ให้เพียง 70 ล้านบาท และยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ไตรมาส 3 ต่อเนื่องมา ผู้ประกอบการอาจต้องควักเงินถึง 130 ล้านบาท โดยที่ธนาคารปล่อยเพียง 70 ล้านบาท แต่คาดว่าในปีหน้าอาจจะเห็นธนาคารกลับมาพิจารณาตาม D/E ที่วางไว้ ถ้าภาพรวมอสังหาริมทรัพย์กลับมาฟื้นตัวได้ ขณะที่ในกลุ่มคอนโดมิเนียม ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับความเสี่ยง เดิมธนาคารกำหนดต้องพรีเซลส์ให้ได้ 30-40% ปัจจุบันขยับขึ้นไปไม่น้อยกว่า 50%

ขณะที่ตามข้อมูลของ บล.เอเซียพลัส จำกัด ระบุถึงโครงสร้างทางการเงิน ณ สิ้น 2Q63 ที่เป็นส่วนของหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Interest Bearing Debt) รวม 3.87 แสนล้านบาท แยกเป็นเงินกู้ระยะยาว (LT Loan) 227,513 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 59% เงินกู้ระยะสั้น (ST Loan) 160,430 ล้านบาท คิดเป็น 41% เป็นส่วนของหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงิน (Bank Loan and Others) 163,913 ล้านบาท คิดเป็น 42% และหุ้นกู้จากการออกตราสารหนี้ทั่วไปที่ออกโดยภาคเอกชน มีตัวเลขมากถึง 224,029 ล้านบาท คิดเป็น 58% เนื่องจากความเข้มข้นในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ทำให้บริษัทอสังหาฯ หลายรายระดมทุนผ่านหุ้นกู้หลังจากความผันผวนในตลาดลดลง

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์
"เสนาฯ" มองปี 64 ห่วงแผลหนี้ครัวเรือน

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (SENA) กล่าวถึงปัจจัยที่น่าเป็นกังวลในปี 2564 คือ เรื่องภาระหนี้ของประชาชนมีมหาศาลมาก โดยเฉพาะในกลุ่ม เจน Y จะมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย แต่กลับพบว่า 1 ใน 6 มีความเสี่ยงการเป็น NPL ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจที่ไม่ดีจะมีผลต่อบาดแผลของหนี้ครัวเรือนได้ ซึ่งข้อมูลที่พบ ยอดรีเจกต์เรตในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มีประมาณ 30% ตลาดที่อยู่อาศัยระดับล่างมีตัวเลขถูกปฏิเสธสินเชื่อค่อนข้างเยอะ

"สิ่งที่จะโฟกัสในปีหน้า ต้องบริหาร Cost ให้อยู่ได้ ไม่โอเวอร์ อินเวสเมนต์ และสภาพคล่องดี ปัจจุบัน เสนาฯ มีเงินสดเพียงพอ 1,000 ล้านบาท ซึ่งสิ่งสำคัญในขณะนี้ ชีวิตมันอีกนาน เราขอให้ชีวิตอยู่ให้ได้" ผศ.ดร.เกษรา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น