xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดแข่งขันทางการค้ามาเลเซีย ไฟเขียวให้ซีพีควบรวมกิจการของเทสโก้ โลตัสในมาเลเซีย สอดคล้องมติ กขค.ประเทศไทย

เผยแพร่:



วันนี้ (11 พ.ย.) คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของมาเลเซีย ประกาศผลอนุมัติควบรวมเทสโก้ โลตัส ในมาเลเซีย และมีเงื่อนไขสอดคล้องกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ในประเทศไทย พร้อมยกมาตรฐานสากลในการพิจารณา ซึ่งในวันเดียวกันนี้ กรรมการ กขค.เสียงข้างน้อยของประเทศไทยมีการเชิญสื่อเพื่อส่งสัญญาณความกังวล แต่ผลการพิจารณาของบอร์ดแข่งขันทางการค้าของมาเลเซียก็ออกมามีผลเช่นเดียวกับมติกรรมการ กขค.ของประเทศไทยที่เป็นกรรมการเสียงข้างมาก ทำให้ทุกฝ่ายเรียกร้องให้เคารพกติกาเดินหน้าต่อตามมติเสียงส่วนใหญ่เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ เพราะจะไม่มีผู้ใดได้ประโยชน์หากดีลนี้สะดุด เพราะทุกบริษัทที่เคยยื่นซื้อก็ติดเงื่อนไขเดียวกันทั้งหมด นอกจากเอื้อให้บริษัทต่างชาติมาซื้อเทสโก้ โลตัส

การพิจารณาไฟเขียวในครั้งนี้จะเห็นได้ว่า บอร์ดแข่งขันทางการค้าของประเทศมาเลเซียมองเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโดยรวมของมาเลเซีย ซึ่งเป็นการเพิ่มการลงทุนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย โดยเงื่อนไขที่ทางบอร์ดแข่งขันทางการค้าของมาเลเซียให้ความสำคัญสอดคล้องกับคณะกรรมการ กขค.ประเทศไทย คือ การสนับสนุน SMEs โดยต้องมีการเพิ่มสัดส่วน SMEs อย่างน้อย 10% เป็นเวลา 5 ปี และเป็นการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่นให้มีโอกาสขยายตลาดในต่างประเทศ

นอกจากนี้ เงื่อนไขที่สำคัญที่บอร์ดแข่งขันทางการค้ามาเลเซียให้ความสำคัญ คือ การคงไว้ซึ่งเงื่อนไขที่ให้กับคู่ค้าจะต้องคงไว้เหมือนเดิม ยกเว้นจะให้ข้อเสนอที่ดีกว่า แต่สิ่งที่มาเลเซียเพิ่มขั้นมาคือ พนักงานในเทสโก้ โลตัสที่มาเลเซียนั้น ขอจำกัดพนักงานต่างชาติที่มีทักษะในระดับต่ำ (Low-Skill Working) อยู่ที่ไม่เกิน 15% โดยเน้นใช้คนท้องถิ่น หากจำเป็นต้องเพิ่มพนักงานจากต่างชาติขอเป็นผู้เชี่ยวชาญสูง หรือมีทักษะสูง เพื่อดึงคนเก่งเข้าประเทศมาเลเซีย เป็นต้น ทั้งนี้ บอร์ดแข่งขันทางการค้าในประเทศมาเลเซีย และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กขค.ของประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นองค์กรอันทรงเกียรติที่เป็นผู้กำหนดมาตรฐาน และเงื่อนไข เพื่อให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพ เพราะมติที่ประชุมทุกบริษัทที่เกี่ยวข้องจะต้องนำไปเข้าคณะกรรมการของแต่ละบริษัท และย้ำเตือนถึงความเป็นมืออาชีพในกระบวนการ เพราะดีลการซื้อขายครั้งนี้เป็นระดับนานาชาติ และเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ

ผลการพิจารณา คณะบอร์ดแข่งขันทางการค้ามาเลเซีย และมติผลคณะกรรมการ กขค.ประเทศไทย คลายข้อกังวลของคณะกรรมการ ไม่ว่าเสียงข้างมากหรือข้างน้อย เพราะทุกคนมีสิทธิออกความเห็นในที่ประชุมครบถ้วนแล้ว และนำความเห็นของกรรมการทุกท่านมาสรุปเป็นมติ นอกจากนี้ ผลการพิจารณาเป็นการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเศรษฐกิจขาลง ในขณะที่ประเทศไทยได้ยินข่าวเรื่องย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ แต่ดีลเทสโก้ โลตัส ครั้งนี้ ก็ถือเป็นข่าวดีว่าเราได้บริษัทที่ถูกอังกฤษซื้อไปกลับคืนมา และตอนที่เทสโก้ โลตัส เป็นของอังกฤษ และมีส่วนแบ่งตลาดเท่าเดิม ก็ไม่มีใครแย้งว่าเป็นการมีอำนาจเหนือตลาด แต่พอกลับมาเป็นของคนไทยในส่วนแบ่งตลาดเท่าเดิมนั้นกลับมีบางกลุ่มออกมาไม่เห็นด้วยกับมติ นอกจากนี้ สินค้าของซีพีส่วนใหญ่เป็นของสด ในขณะที่สินค้าในเทสโก้ โลตัส กว่าร้อยละ 80 ไม่ใช่ของสด ดังนั้น ยากที่จะครอบงำตลาด นอกจากนี้ ธุรกิจ SMEs ก็ได้ประโยชน์เป็นอย่างมากจากเงื่อนไขของบอร์ดแข่งขันทางการค้าของทั้งสองประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศมาเลเซีย นายวาน สุไฮมี ไซดี นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเคนางา อินเวสเมนต์ กล่าวว่า “เศรษฐกิจมาเลเซียพึ่งพาการค้า กำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ของอุปสงค์และกิจกรรมธุรกิจ นายวาน ทำนายว่า อัตราการหดตัวตลอดปี ปี 2563 ของประเทศมาเลเซียจะอยู่ที่ 4-6 %” จะเห็นได้ว่า การที่มีการลงทุนขนาดใหญ่เกิดขึ้นในปีนี้ ในประเทศมาเลเซียจะเป็นตัวกระตุ้นนเศรษฐกิจเป็นอย่างดี โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกที่จะรักษาคู่ค้าให้สามารถทำธุรกิจได้ต่อเนื่องอย่างเป็นปกติ และเพิ่มการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอีกด้วย

ผลสรุปการอนุมัติโดยมีเงื่อนไขของทั้งสองประเทศครั้งนี้ ทางบริษัทจะต้องกลับไปพิจารณาว่าเห็นชอบกับเงื่อนไขดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งเครือซีพีได้สิทธิ์ในบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ที่ประกอบธุรกิจค้าปลีก ภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในประเทศไทย รวมทั้งซื้อหุ้นบริษัท Tesco Stores (Malaysia) Sdn.Bhd. ที่ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco ในประเทศมาเลเซีย จะตัดสินใจเดินหน้าต่อในทิศทางใด ล้วนเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและผู้ประกอบการ คู่ค้า รวมถึงการรักษาการจ้างงาน และการซื้อขายครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นฟรี และเกิดขึ้นก่อนวิกฤตโควิด แค่ซื้อมาก็ราคาแพงอยู่แล้ว แถมเป็นการลงทุนในช่วงที่มีความเสี่ยง โดยเอกชนเป็นผู้รับความเสี่ยงโดยตรง แล้วยังยากที่จะทำให้เกิดกำไรอีก ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายว่า ในการดำเนินการแบบมืออาชีพกับดีลขนาดใหญ่เช่นนี้จะสำเร็จได้หรือไม่ ซึ่งดีลนี้เป็นดีลระหว่างประเทศที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นในทุกภาคส่วน และทุกประเทศก็กำลังจับตามอง
กำลังโหลดความคิดเห็น