xs
xsm
sm
md
lg

บีทีเอส กรุ๊ปฯ ปลื้ม ออก Green Bond ครั้งที่ 2 ยอดจองเกินเป้า 3.3 เท่า

เผยแพร่:



บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ” หรือ “BTSG”) ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นการลงทุนใน 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการ ประกาศความสำเร็จในการออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งครั้งนี้เป็นการออก Green Bond ครั้งที่ 2 ของบริษัทฯ โดยผลการสำรวจความต้องการลงทุนในหุ้นกู้ (Bookbuilding) มีผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่แสดงความจำนงลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทฯ มากกว่าจำนวนหุ้นกู้ที่บริษัทฯ มีแผนจะเสนอขายกว่า 3.3 เท่า แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่มีต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ

นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการสำรวจความต้องการลงทุนในหุ้นกู้ (Bookbuilding) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 และการเสนอขายเมื่อวันที่ 3-5 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ ได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุนเป็นอย่างดี โดยมีผู้ลงทุนแสดงความจำนงในการลงทุนในหุ้นกู้กว่า 3.3 เท่า ส่งผลให้บริษัทฯ ตัดสินใจนำหุ้นกู้ส่วนสำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติมมาใช้ และเพิ่มจำนวนการออกหุ้นกู้จากแผนการเสนอขายเดิมจำนวน 5,000 ล้านบาท เป็นจำนวนเสนอขายหุ้นกู้รวมทั้งสิ้น 8,600 ล้านบาท ประกอบด้วย หุ้นกู้อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.10% ต่อปี จำนวน 500 ล้านบาท หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.44% ต่อปี จำนวน 4,000 ล้านบาท หุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.86% ต่อปี จำนวน 1,500 ล้านบาท หุ้นกู้อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.11% ต่อปี จำนวน 2,000 ล้านบาท และหุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.41% ต่อปี จำนวน 600 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งได้จัดอันดับเครดิตองค์กรและเรตติ้งหุ้นกู้ของบริษัทฯ ที่ระดับ “A” เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 โดยบริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการออก Green Bond ในครั้งนี้ ไปเพื่อลงทุน และใช้ชำระคืนหนี้คงค้างในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่จะส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนด้วยพลังงานไฟฟ้า ลดการใช้รถยนต์ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในเขตกรุงเทพมหานคร

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยมีความคืบหน้าในการก่อสร้างทั้งในส่วนของงานโยธาและงานระบบไฟฟ้าแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 60 ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทางพร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2565 ด้วยรถไฟฟ้าโมโนเรลรวม 72 ขบวน 288 ตู้ แบ่งเป็น สายสีชมพู 42 ขบวน และสายสีเหลือง 30 ขบวน ในระยะแรกจะให้บริการด้วยรถไฟฟ้า 4 ตู้ต่อ 1 ขบวน รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 17,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง และในระยะต่อไปยังสามารถเพิ่มจำนวนตู้โดยสารได้สูงสุด 7 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 28,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง

“บริษัทฯ ขอขอบคุณผู้ลงทุนที่ไว้วางใจและให้ความสนใจจองซื้อ Green Bond ของ BTSG รวมทั้งขอบคุณ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในครั้งนี้ โดยการออก Green Bond ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการออก Green Bond ครั้งแรกในปี 2562 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการลงทุนอย่างต่อเนื่องในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน” นายสุรยุทธ กล่าว

อนึ่ง บริษัทฯ ได้ดำเนินการให้ Green Bond ของบริษัทฯเป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ Green Bond Principles 2018 (GBP) ซึ่งออกโดย International Capital Market Association (ICMA) และ ASEAN Green Bond Standards 2018 (ASEAN GBS) ซึ่งออกโดย the ASEAN Capital Markets Forum (ACMF) โดยมี Sustainalytics ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยอิสระชั้นนำด้าน ESG และ Corporate Governance เป็นผู้ประเมินและออก Second Party Opinion (SPO) ว่า Green Bond ของบริษัทฯ เป็นไปตามมาตรฐานสากลดังกล่าว นอกจากนี้ Climate Bonds Initiative หรือ CBI ยังได้รับรองว่า Green Bond ของบริษัทฯ เป็นไปตาม Climate Bonds Standard version 3.0 ในเกณฑ์ Low Carbon Transport อีกด้วย

ข้อมูลโครงการ

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เริ่มจากถนนติวานนท์ ผ่านถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา ไปสิ้นสุดบนถนนสีหบุรานุกิจ ระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการรวม 30 สถานี มีจุดเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่สถานีมีนบุรี โดยมีอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง และศูนย์ซ่อมบำรุงฯ ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีมีนบุรี

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เริ่มจากถนนลาดพร้าว ผ่านถนนศรีนครินทร์ ไปสิ้นสุดบนถนนเทพารักษ์ ระยะทางรวม 30.4 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการรวม 23 สถานี มีจุดเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ที่สถานีรัชดา เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟสายตะวันออก ที่สถานีพัฒนาการ เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่สถานีแยกลำสาลี และเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีสำโรง โดยมีอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง และศูนย์ซ่อมบำรุงฯ ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีศรีเอี่ยม
กำลังโหลดความคิดเห็น