xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าแผนคมนาคมอัดฉีด 3.06 แสนล้านพัฒนาบิ๊กโปรเจกต์ ผุด “ทางด่วน-รถไฟฟ้า” ขยายถนน-สนามบินกระตุ้น ศก.ฟื้นท่องเที่ยวอันดามัน

เผยแพร่:



ระบบคมนาคมขนส่งที่มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจากการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2563 จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอแผนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง สตูล ครบทุกมิติ เพื่อแก้ปัญหาจราจร เพื่อความสะดวก รวดเร็วประหยัดเวลาในการเดินทาง ขนส่ง และท่องเที่ยว โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 306,242 ล้านบาท


@เปิดเอกชนร่วมลงทุนทางด่วน-รถไฟฟ้า แก้จราจร “ภูเก็ต”


โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต อยู่ในความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าฯ กทพ. กล่าวว่า เริ่มแรกปี 2552 ทางด่วนสายนี้ ริเริ่มโดยเทศบาลเมืองป่าตอง การศึกษาพบว่ามีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ แต่มูลค่าการลงทุนสูง ทางเทศบาลเมืองป่าตองไม่สามารถดำเนินการเองได้ ต่อมาในปี 2555 ในการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดภูเก็ต ครม.ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมโดย กทพ.ดำเนินการ โดยได้มีการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการและจัดทำรายงานการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน Public Private Partnership (PPP) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เห็นชอบรายงาน EIA แล้วเมื่อปี 2561

ขณะนี้ได้ทำหนังสือขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ ซึ่งล่าสุดกรมป่าไม้จะเร่งรัดการประสานงานกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) คาดว่าจะอนุญาตการใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการอย่างช้าไม่เกินเดือน ม.ค. 2564

ตามแผนงาน กทพ.คาดว่าจะเสนอโครงการฯ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เห็นชอบในเดือน ม.ค. 2564 และ ครม.อนุมัติหลักการของโครงการในเดือน พ.ค. 2564 และดำเนินการคัดเลือกผู้รับสัมปทานให้ได้ภายในเดือน มิ.ย. 2564 หากเป็นไปตามแผนคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570

ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตองมีระยะทาง 3.98 กม. มูลค่า 14,177 ล้านบาท เป็นโครงการแรกของ กทพ.ที่ดำเนินโครงการในต่างจังหวัด มีลักษณะพิเศษที่จะมีการเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาความยาว 1.85 กม. และจะเป็นทางด่วนที่อนุญาตให้รถจักรยานยนต์ขึ้นใช้ได้สายแรก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งต่อประชาชนในพื้นที่รวมถึงนักท่องเที่ยว เพราะปัจจุบันการเดินทางจากอำเภอกะทู้ไปยังชายหาดป่าตองต้องใช้เส้นทางข้ามภูเขานาคเกิด เส้นทางมีความคดเคี้ยว ลาดชัน ทำให้ที่ผ่านมามีอุบัติเหตุและเกิดความสูญเสียบ่อยครั้ง

ส่วนโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ศึกษาเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (แทรมป์) ระยะทาง 60 กม. แบ่งดำเนินการ 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น-เมืองใหม่ ซึ่งขณะนี้ รฟม.ได้ศึกษาจัดทำ PPP ช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. วงเงินลงทุน 35,201 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลนำเสนอกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ในเดือน ต.ค. 2564 เปิดประมูลในช่วงต้นปี 2565 ก่อสร้างปี 2566 เปิดให้บริการปี 2569

แทรมป์ภูเก็ตจะใช้รูปแบบ PPP Net Cost โดยรัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา งานระบบ และขบวนรถไฟฟ้า และให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาเป็นระยะเวลา 30 ปี รวมทั้งเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร และรับความเสี่ยงด้านรายได้ค่าโดยสาร โดยรัฐจะสนับสนุนเอกชนในส่วนของค่าก่อสร้างงานโยธา

@เทงบ 4.8 หมื่นล้านบาท พัฒนาถนน 6 จังหวัด เชื่อมเส้นทางขนส่ง-ท่องเที่ยว


สำหรับการพัฒนาถนนใน 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันนั้น กรมทางหลวงมีการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยอยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 9 โครงการ ระยะทางรวม 122.532 กม. งบประมาณ 5,435.29 ล้านบาท

เช่น การพัฒนาโครงข่าย ทล.4027 สนามบินภูเก็ต-ท่าเรืออ่าวปอ ตอนบ้านป่าคลอก-บ.พารา (กม.5+900-กม.14+000) ระยะทาง 8.10 กม. ค่าก่อสร้าง 384.16 ล้านบาท โครงการขยายช่องจราจร ทล.404 ช่วงตรัง-บ้านนา ระยะทาง 21.131 กม. ค่าก่อสร้าง 1,060 ล้านบาท

โครงการขยาย 4 ช่องจราจร ทล.4 อ.ตะกั่วป่า-อ.ท้ายเหมือง ตอนบางสัก-บ.เขาหลัก (กม.780+906- กม.797+062) ระยะทาง 20.32 กม. ค่าก่อสร้าง 744.42 ล้านบาท โครงการขยาย 4 ช่องจราจร ทล.4 ชุมพร-ระนอง ตอน 4 ระยะทาง 32.45 กม. ค่าก่อสร้าง 1,310 ล้านบาท

ส่วนแผนพัฒนาโครงข่ายในปี 64 และอนาคตมีจำนวน 34 โครงการ ระยะทาง 652.358 กม. งบประมาณ 48,200 ล้านบาท เช่น จะมีการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว จ.ภูเก็ต ระยะทาง 22.40 กม. ค่าก่อสร้าง 11,570 ล้านบาท, ทล.4027 สนามบินภูเก็ต-ท่าเรืออ่าวปอ ตอนบ้านพารา-บ้านเมืองใหม่ ระยะทาง 8 กม. ค่าก่อสร้าง 1,000 ล้านบาท

ขยาย 6 ช่องจราจร ทล.4 สามแยกปลาลัง-เหนือคลอง 14.44 กม. ค่าก่อสร้าง 1,300 ล้านบาท, ขยาย 4 ช่องจราจร ทล.4156 เขาพนม-ทุ่งใหญ่ ระยะทาง 40.48 กม. ค่าก่อสร้าง 1,200 ล้านบาท, ก่อสร้างถนนสายใหม่ บ.วังจา-บ.นาเหนือ (อ.ปลายพระยา-อ.ทับปุด) ระยะทาง 26.04 กม. ค่าก่อสร้าง 1,900 ล้านบาท, ทางเลี่ยงเมืองกระบี่ ระยะทาง 29 กม. ค่าก่อสร้าง 7,100 ล้านบาท เป็นต้น

@รถไฟทางคู่สายใหม่ 3 เส้นทางเชื่อมแลนด์บริดจ์ ลดต้นทุนโลจิสติกส์

สำหรับโครงการรถไฟนั้นอยู่ในแผนระยะกลาง (2565-2569) 3 โครงการ คือ เส้นทางชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม. ค่าลงทุน 23,285 ล้านบาท เส้นทางสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 339 กม. ค่าลงทุน 51,823 ล้านบาท และเส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 48 กม. ค่าลงทุน 7,942 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณา EIA และเตรียมเสนอ ครม.

อยู่ในแผนระยะยาว (2570-2579) 4 โครงการ คือ เส้นทางชุมพร-ระนอง ระยะทาง 109 กม. ค่าลงทุน 29,222.66 ล้านบาท ขณะนี้ออกแบบเสร็จแล้ว, รถไฟสายใหม่ เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น (พังงา) ระยะทาง 163 กม. ค่าลงทุน 44,218.80 ล้านบาท, รถไฟสายใหม่ เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ดอนสัก ระยะทาง 79 กม. ค่าลงทุน 18,102 ล้านบาท เป็นเส้นทางเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ปัจจุบัน สนข.ศึกษาออกแบบเสร็จแล้วอยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน EIA, รถไฟสายใหม่ เส้นทางทับปุด-กระบี่ ระยะทาง 68 กม. ค่าลงทุน 15,223 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน EIA

@เร่งขยายสนามบินกระบี่, ตรัง เพิ่มศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยว


กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เร่งพัฒนาสนามบินกระบี่ วงเงิน 5,136.80 ล้านบาท เพื่อขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 3,000 คนต่อชั่วโมง หรือ 8 ล้านคนต่อปี ประกอบด้วย 4 งาน คือ ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3, ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลัง 1, 2 พร้อมอาคารจอดรถยนต์ 2,000 คัน วงเงิน 2,923.40 ล้านบาท, ก่อสร้างลานจอดเครื่องบิน ขนาด 135x1,080 เมตร สามารถจอดเครื่องบินขนาด B737 ได้ 40 ลำ วงเงิน 863.40 ล้านบาท ผลงานประมาณ 93%, ก่อสร้างทางขับขนาน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน รองรับเครื่องบิน 25 ลำต่อชั่วโมง วงเงิน 1,350.40 ล้านบาท

โครงการมีปัญหาและอุปสรรค เช่น ความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ ขั้นตอนการอนุมัติกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) การก่อสร้างในพื้นที่ที่ยังให้บริการ การเบิกจ่ายล่าช้า จากปัญหามีการอุทธรณ์ของผู้เสนอราคา ทำให้งานยังมีความล่าช้า ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การขนย้ายแรงงานและวัสดุก่อสร้างเป็นไปได้ยาก

ส่วนการพัฒนาสนามบินตรัง มีวงเงิน 1,800 ล้านบาท จะมีการก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง (รันเวย์) พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน ดำเนินการปี 2564-2567 ขณะที่ปัจจุบันมีการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ งบประมาณ 1,070 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้โดยสารเป็น 1,200 คน/ชั่วโมง (3.40 ล้านคน/ปี)

@เดินหน้าศึกษาสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 (พังงา)

ในการพัฒนาระบบคมนาคมทางอากาศ กพท.ได้มีแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ พบว่าสนามบินภูเก็ตมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ทำให้ไม่สามารถขยายขีดความสามารถได้ทันความต้องการ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าบริเวณ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา มีความเหมาะสมในการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ ซึ่งกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.รับผิดชอบดำเนินศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการก่อสร้างสนามบินพังงา

โดยแผนงานเบื้องต้นในการพัฒนาสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 (พังงา) มีพื้นที่รวม 6.7 ตร.กม. รันเวย์กว้าง 45 เมตร ยาว 3,800 เมตร รองรับ 56 เที่ยวบิน/ชั่วโมง ลานจอดอากาศยาน มีพื้นที่ 860,000 ตร.ม. พื้นที่สำหรับผู้โดยสาร 47,729 ตร.ม. รองรับได้ 9,526 คน/ชั่วโมง พื้นที่จอดรถ 3,500 ตร.ม.

@พัฒนาท่าเรือระนองเสร็จปี 69 เปิดประตูการค้ารองรับเขต ศก.พิเศษภาคใต้


โครงการพัฒนาท่าเรือนำลึกระนอง ซึ่งเป็นท่าเรือหลักฝั่งทะเลอันดามัน มีเป้าหมานเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตกเชื่อมโยงการขนส่งสินค้ากับกลุ่มประเทศ BIMSTEC ได้แก่ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย พม่า เนปาล ภูฏาน ไทย และจีน เพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) งบประมาณ 5,037.70 ล้านบาท ปรับปรุงท่าเทียบเรือที่ 1-2 ให้มีประสิทธิภาพสามารถรองรับเรือสินค้าขนาด 12,000 DWT นอกจากนี้ จะมีการก่อสร้างลานวางตู้สินค้า จัดหาเครื่องมือทุ่นแรง และก่อสร้างท่าเทียบเรือที่ 3 ซึ่งปัจจุบันการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) อยู่ระหว่างปรับปรุง TOR จ้างที่ปรึกษาสำรวจออกแบบและศึกษา EIA

นอกจากนี้ กรมเจ้าท่ายังมีโครงการก่อสร้าง/ปรับปรุงท่าเรือท่องเที่ยวและสินค้า เช่น ท่าเรือปากเมง จ.ตรัง, ท่าเรือท้องศาลาและหาดริ้น จ.สุราษฎร์ธานี, ท่าเรือสินค้าปัตตานี, ท่าเรือเฟอร์รีเกาะสมุย, ก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบ้านทุ่งใหญ่ จ.สงขลา, ชายฝั่ง ต.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ แต่มีปัญหาการจราจรอย่างมาก ซึ่งโครงการทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง และระบบขนส่งมวลชนหรือรถไฟฟ้ารางเบา จะส่งผลดีต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างมาก

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ปัจจุบันการเดินทางจากกะทู้-ป่าตอง เส้นทางถนนจะคดเคี้ยวไปตามเขา และต้องใช้ระยะเวลาเดินทาง 45 นาที-1 ชั่วโมง มีปริมาณรถ 70,000 คัน/วัน แต่หากโครงการทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง แล้วเสร็จการเดินทางระหว่าง 2 แหล่งท่องเที่ยวจะใช้ระยะเวลาเพียงแค่ประมาณ 10 นาทีเท่านั้น เชื่อว่าจะได้เริ่มก่อสร้างในปี 2564 และโครงการจะเสร็จปี 2570

ส่วนรถไฟฟ้ารางเบา หรือรถแทรมป์นั้น จะช่วยให้การเดินทางในจังหวัดภูเก็ตมีความสะดวกรวดเร็ว โดยเฉพาะการเดินทางไปยังสนามบินจะสะดวกมากขึ้น ซึ่งได้มอบนโยบายให้คำนึงถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการก่อสร้างรถไฟฟ้า และการกำหนดรูปแบบ เช่น แทรมป์ล้อยาง ซึ่งจะทำให้ค่าก่อสร้างถูกลงและก่อสร้างได้เร็ว และเมื่อโครงการมีต้นทุนลดลง จะทำให้สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารถูกลง เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าจังหวัดแถบทะเลอันดามันนั้นมีแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม สร้างรายได้ ทำให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตอย่างมาก แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวลดลง วันนี้รัฐบาลมุ่งเยียวยาและฟื้นฟูการท่องเที่ยว

โดยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติชุดแรกด้วยการออกวีซ่าพิเศษที่เรียกว่า Special Tourist VISA (STV) สำหรับผู้ที่มาพำนักระยะยาว (long stay) และ “ภูเก็ต” คือเป้าหมาย แม้ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่โควิดจะยุติ การเดินทาง ท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักเหมือนเดิมเมื่อใด

รัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งต่อไป เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และเพิ่มขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ของไทย ด้วยหวังว่าการก่อสร้างโครงการต่างๆ คือสูตรสำเร็จที่ทำให้เกิดการสร้างงาน กระจายรายได้ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้
กำลังโหลดความคิดเห็น