xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : "เวียนเน็ตตา" ไอศกรีมขายความทรงจำ

เผยแพร่:



เวียนเน็ตตา (Viennetta) ไอศกรีมดัดแปลงผสมรสนมกลิ่นวานิลลา สลับชั้นด้วยช็อกโกแลตคอมพาวน์ ถือเป็นหนึ่งในไอศกรีมวอลล์ที่อยู่ในความทรงจำของผู้บริโภคชาวไทย โดยเฉพาะวัยรุ่นในยุค 90 มีน้อยคนนักที่จะได้กิน เพราะราคาสูงถึงชิ้นละ 89 บาท เทียบกับรุ่นอื่นๆ เช่น ยักษ์คู่ คาลิปโป แพนเดิลป๊อบ คูลชาร์ค อพอลโล แฟนตาซี เอเชี่ยนดีไลท์ คอนเนตโต และแม็กนั่ม

แม้ว่าเวียนเน็ตตาจะเลิกจำหน่ายในประเทศไทยไปนานแล้ว แต่ล่าสุด ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ตัดสินใจนำเข้าจากประเทศโปรตุเกส มาจำหน่ายในไทย ผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดต่างๆ ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อชั้นนำ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา สนนราคาขนาด 320 กรัม 159 บาท ถือว่าเป็นการเรียกความทรงจำในวัยเด็กของใครหลายคนให้กลับคืนมา

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) บริษัทไอศกรีมวอลล์ของอังกฤษ เปิดตัวผลิตภัณฑ์เวียนเน็ตตา ที่คิดค้นโดย เควิน ฮิลล์แมน (Kevin Hillman) ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ แห่งโรงงานวอลล์ กลอสเตอร์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ ร่วมด้วย เอียน บุทเชอร์ (Ian Butcher) โดยใช้เทคนิคให้ไอศกรีมวานิลลาวางซ้อนบนช็อกโกแลตคอมพาวน์เป็นชั้นๆ

ด้วยรูปร่างหน้าตาคล้ายขนมหวาน วอลล์เปิดตัวเวียนเน็ตตาด้วยสโกแกน "one slice is never enough" หรือ "ชิ้นเดียวไม่เคยพอ" กระทั่งประสบความสำเร็จด้านยอดขายในสหราชอาณาจักร และมีวางจำหน่ายในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทย วอลล์นำมาจำหน่ายเมื่อปี 2538 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อเทียบกับไอศกรีมยักษ์คู่ ในยุคนั้นจำหน่ายแท่งละ 5 บาทเท่านั้น




มาถึงยุคนี้ เมื่อคนไทยแห่ไปเมืองนอก ได้เห็นไอศกรีมเวียนเน็ตตาในบางประเทศ ก็เริ่มมีคนพูดถึงและถามหาในโซเชียลมีเดีย ชาวเน็ตบางคนตั้งเฟซบุ๊กเพจ "ทวงคืนไอติมวออล์เวียนเน็ตต้า" เพื่อสื่อสารกันเป็นเรื่องเป็นราว ทำให้ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ผู้จัดจำหน่ายไอศกรีมวอลล์ในประเทศไทย นำเวียนเน็ตต้ากลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง หลังหายไปจากท้องตลาดนานกว่า 20 ปี

ลักษณะของวอลล์ เวียนเน็ตตา จะเป็นไอศกรีมแบบกล่องขนาดปานกลาง ซึ่งเป็นสินค้านำเข้า ติดฉลากกำกับด้วยสติกเกอร์เป็นภาษาไทย พร้อมกับวันหมดอายุ โดยมีอายุการเก็บรักษาประมาณ 2 ปี ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียส และเพื่อไม่ให้ไอศกรีมละลายเมื่อถึงที่พัก ควรขอถุงเก็บความเย็นจากแคชเชียร์ทุกครั้งที่ซื้อ และควรแช่ที่ช่องฟรีซก่อนแกะออกมาบริโภค


เมื่อแกะกล่องออกมาแล้ว จะเห็นไอศกรีมในห่อพลาสติกสีขาว เมื่อแกะออกมาจะพบว่าหน้าตาคล้ายกับขนมเค้กสีขาว โรยหน้าด้วยช็อกโกแลตด้านบน และผงช็อกโกแลต เมื่อผ่าไปข้างในออกเป็นชิ้นจะพบกับช็อกโกแลตคอมพาวน์เป็นชั้นๆ เมื่อรับประทานจะสัมผัสได้ถึงความกรุบกรอบของช็อกโกแลตคอมพาวน์ ผสานกับความนุ่มของไอศกรีมวานิลลาที่ไม่หวานนัก

ไอศกรีมวานิลลาของเวียนเน็ตตา อาจจะแตกต่างจากไอศกรีมรสวานิลลาในไทย เพราะไม่รู้สึกถึงความหวานแหลม แต่ได้ความหวานของช็อกโกแลตคอมพาวน์เข้ามาแทน เมื่อเทียบกับไอศกรีมรสวานิลลาในไทย ที่คนไทยเคยชินมานาน ส่วนใหญ่กลิ่นวานิลลาจะโดด และมีสีเหลืองชัดเจน รับประทานแล้วรู้สึกได้ถึงความหวานแหลม

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เห็นสติกเกอร์คุณค่าทางโภชนาการต่อกล่อง น่าตกใจเล็กน้อย เมื่อพบว่าให้พลังงานมากถึง 680 กิโลแคลอรี น้ำตาล 64 กรัม ไขมัน 40 กรัม และโซเดียม 60 มิลลิกรัม โดยมีข้อความระบุว่า "ควรแบ่งกินประมาณ 4 ครั้ง" จึงเหมาะสำหรับรับประทานกันเป็นกลุ่ม ส่วนข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร มีนมและผลิตภัณฑ์นม อาจมีกลูเตนจากแป้งสาลี


ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดไอศกรีมมากกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ผู้คนนิยมรับประทานไอศกรีมเพื่อความสดชื่นคลายร้อน ถึงกระนั้นยังมีปัจจัยที่ส่งผลเชิงลบต่อไอศกรีม จากกระแสคนรักสุขภาพที่หลีกเลี่ยงของหวานและไขมัน รวมทั้งความนิยมน้ำแข็งใสเกล็ดหิมะแบบเกาหลี ที่เรียกว่า บิงซู เข้ามาแทนที่ไอศกรีมแบบดั้งเดิม

การนำเข้าไอศกรีมวอลล์ เวียนเน็ตตา จากทวีปยุโรปมาจำหน่ายในไทย ด้านหนึ่งเป็นการทำตลาดตามเทศกาล หรือตามอารมณ์ความรู้สึกของผู้บริโภค อีกด้านหนึ่งก็อาศัยอินไซท์จากผู้บริโภคบนโซเชียลฯ ที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์ในอดีต จากที่เคยเห็นแต่ไม่เคยได้ชิม ได้ซื้อมาลิ้มลองสักครั้ง เป็นไปได้ว่าหากกระแสตอบรับดีคงมีวางจำหน่ายต่อไปอีกเรื่อยๆ

ถือเป็นการนำกลยุทธ์ความทรงจำในอดีตผ่านไวรัลในโซเชียลฯ มาใช้ทำตลาดอย่างลงตัว นอกเหนือจากไอศกรีมในอดีตที่หายไปได้กลับมาเห็นอีกครั้งในยุคนี้ เช่น เครื่องดื่มซาสี่ หรือไลฟบอยย์ จากสบู่ก้อนมาเป็นเจลล้างมือ และคงพอเป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ได้นำผลิตภัณฑ์ในอดีตที่หายไปจากท้องตลาดกลับมาอีกครั้ง

(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)
กำลังโหลดความคิดเห็น